• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝีดาษสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว

ฝีดาษสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว


องค์การอนามัยโลกได้ประกาศที่เมืองไนโรบี นครหลวงของประเทศเคนย่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปีที่แล้วว่า โรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว

ในระยะ 2 ปีมานี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกประมาณ 30 นาย ได้ทำการสำรวจประเทศในแถบภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ได้แก่ เคนย่า เอธิโอเปีย โซมาเลีย และจีบูตี ซึ่งเป็น 4 ประเทศสุดท้ายที่ยังมีการระบาดของโรคฝีดาษ พบว่าโรคนี้ได้ถูกกำจัดลงอย่างสิ้นเชิงในประเทศเหล่านี้แล้ว จึงได้ทำการประกาศข่าวอันมีความหมายในทางประวัติศาสตร์นี้
ผู้ป่วยโรคฝีดาษคนสุดท้ายของโลก คือคนครัว ชาวโซมาเลียที่มีชื่อว่า นายอาลี เขาป่วยเป็นโรคนี้เมื่อปี พ.ศ.2520 หลังจากนั้นประเทศในแถบแอฟริกาจะวันออกได้ป่าวประกาศให้รางวัลจำนวน 1,000 ดอลล่าร์ (2 หมื่นบาท) แก่ผู้ที่ค้นพบผู้ป่วยโรคฝีดาษ แต่ก็ไม่มีใครมาขอรางวัล องค์การอนามัยโลกมีความเห็นว่า หากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้นานกว่า 2 ปีไปแล้ว คนเราก็ไม่มีโอกาสจะติดโรคนี้อีกต่อไป

โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ถือเป็นโรคติดต่อที่มีอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง หลายพันปีมานี้ได้ทำให้ชีวิตนับล้าน ๆ ชีวิตตายลงไปหรือไม่ก็กลายเป็นคนหน้าปุเสียโฉมไป โรคนี้เมื่อเริ่มเป็นจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมา 3 วัน จะมีตุ่มใสขึ้นตามแขนขาและลำตัว ตุ่มจะสุกพร้อมกันแล้วกลายเป็นตุ่มหนอง หากอาการไม่รุนแรงจะหายได้โดยมีรอยแผลเป็นเต็มหน้าและทั่วตัว ถ้ารุนแรงก็ถึงตาย

เมื่อ 180 ปีก่อน แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเน่อร์ ได้ค้นพบวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ต่อมาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายก็สามารถควบคุมโรคนี้ได้ แต่ในประเทศล้าหลัง ( ด้อยพัฒนา ) โดยเฉพาะตามเขตชนบทในทวีปอาฟริกา ก็ยังคงมีการระบาดของโรคนี้ พ.ศ. 2510 ทั่วโลกมีรายงานว่า มีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 131,000 ราย แต่ความจริงผู้ป่วยที่เป็นแล้วไม่ได้รายงานนั้นคงมีมากว่านั้นหลายเท่า ในปีนั้น องค์การอนามัยโลกได้วางโครงการ 10 ปี ในการควบคุมปราบปรามโรคนี้ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 3 ปี หลังจากนั้นประเทศทางแถบภาคตะวันตกของทวีปอาฟริกา ก็สามารถกำจัดโรคฝีดาษออกไปได้ ในปีถัดมาประเทศ ภาคกลางของอาฟริกาก็กำจัดโรคนี้ได้

การกำจัดโรคฝีดาษได้สำเร็จ นอกจากเกิดจากความพยายามของรัฐบาลและประชาชนของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังขึ้นกับสาเหตุดังต่อไปนี้
1. การประดิษฐ์เข็มที่ใช้ปลูกฝีแบบใหม่ ทำให้เจ้าหน้าที่อนามัยสามารถทำการปลูกฝีให้ชาวบ้านได้ วันละนับพัน ๆ คน
2. การผลิตหนองฝีแห้งซึ่งสามารถเก็บในอากาศธรรมดาได้นานถึง 30 วัน ( หนองฝีชนิดเก่าเป็นของเหลวต้องเก็บไว้ในตู้เย็น)

ปัจจุบัน มีประเทศประมาณ 50 ประเทศที่ยกเลิกการปลูกฝีแก่ประชาชนทั่วไป ประมาณ 40 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ในอาฟริกา ยังต้องขอดูหลักฐานการปลูกฝีจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประทศที่เดินทางไปยังประเทศเหล่านี้
กระทรวงสาธารณะสุขไทย ก็ได้ประกาศยกเลิกการปลูกฝีแก่ชาวบ้านทั่วไป ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 ท่านผู้อ่านครับ ของแสดงความยินดีต่อลูกหลานของท่านที่ไม้ต้องเจ็บตัวจากการปลูกฝีกันอีกต่อไปแล้ว

แต่อย่าลืมพากันไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ และวัณโรคเสียละครับ!


 

ข้อมูลสื่อ

18-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
ฝีดาษ, อื่น ๆ