• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดาวเรืองและเทียน

ดาวเรืองและเทียน

 

 “สมุนไพรที่น่านำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้จึงต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

                    

ดาวเรือง

⇒ ชื่ออื่น ดาวเรืองใหญ่(ไทย), คำปู้จู้, คำปู้จู้หลวง(พายัพ) ; บ่วงลิ่วเก็ก, เฉาหู่ย้ง, กิมเก็ก(จีน)

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. วงศ์ Compositae

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชปีเดียวตาย ลำต้นตั้งแข็งแรง สูง 0.4-1 เมตร เป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก ทั้งต้นขยี้ดูจะมีกลิ่นฉุนแรง ใบออกตรงข้ามกัน ใบลักษณะคล้ายขนนก ตัวใบยาว 4-11 เซนติเมตร มีรอยเว้าลึก ๆ ถึงก้านใบหลายรอย คล้ายแบ่งตัวออกเป็นใบย่อยหลายใบ ส่วนย่อยนี้ยาว 1-2.5 เซนติเมตร ขอบมีรอยหยัก ช่อดอกออกเป็นกลุ่มเดียวที่ปลายก้าน ช่อดอกสีเหลืองหรือเหลืองส้ม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร ดอกยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาวแข็งแรง ส่วนปลายที่ติดกับดอกจะใหญ่ขึ้น กลีบรองช่อดอกสีเขียวมีหลายกลีบ ดอกย่อยสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองเข้ม มีดอกลักษณะ คล้ายลิ้นจำนวนมาก และบานแผ่ยาวออกมามากดูคล้ายกลีบดอกซ้อน ๆ กันหลายชั้น แผ่ยื่นออกมา ปลายม้วนลง ดอกคล้ายลิ้นมีกลีบดอก 1-2 กลีบยาว ๆ กับดอกที่เป็นหลอด มีกลีบดอกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ 2-3 กลีบ ผลลักษณะเป็นเส้นตรงบาง ๆ ยาว 6-7 มิลลิเมตร มักออกดอกในฤดูหนาว โดยทั่วไป ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นพืชที่ชอบแสงแดด



⇒ การเก็บมาใช้
ใช้ใบและดอก เก็บตอนฤดูร้อนและฤดูหนาว ตากแห้ง เก็บไว้ใช้หรืออาจใช้สด
สรรพคุณ
ดอก รสขม ฉุนเล็กน้อย ใช้ละลายเสมหะ, แก้เวียนหัว, ตาแดง, ไอหวัด, ไอกรน, เต้านมอักเสบ, เป็นแผลมีหนอง
ใบ รสชุ่มเย็นมีกลิ่นฉุน ใช้แก้ฝีหนอง อาการบวมโดยไม่รู้สาเหตุ



⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ดอก แห้ง 3-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้าง
ใบ แห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำพอกหรือต้มเอาน้ำชะล้าง



⇒ คำรับยา
1. แก้ไอกรน ใช้ดอกสด 15 ดอก ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน

2. แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอี้ยง (Inula helianthus- aquatilis C.Y.Wu
ex Ling) 10 กรัม และจี๋อ้วง (Aster tataricus L.f.) 7 กรัม ต้มน้ำกิน

3. แก้เต้านมอักเสบ ใช้ดอกแห้ง, เต่งเล้า (Paris pelolata Bak.ex Forb.) และดอกสายน้ำผึ้ง (Lonice ra japonica Thunb) อย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น

4. แก้ปวดฟัน, ตาเจ็บ ใช้ดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน



⇒ผลทางเภสัชวิทยา
1. ในใบมี คาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempteritrin) มีฤทธิ์แก้อักเสบ ให้หนูตะเภากิน ขนาด 50 มิลลิกรัม
ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตัน ทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น มีฤทธิ์แรงกว่ารูติน (Rutin) และมีปริมาณวิตามิน พี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สารนี้ยังสามารถลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กของกระต่ายที่แยกจากตัว ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง

2. ดอกมีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่นได้ แต่ก่อน ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคและสงบประสาท มีฤทธิ์สงบประ
สาท, ลดความดันโลหิต, ขยายหลอดลม และแก้อักเสบ



⇒ หมายเหตุ

เภสัชตำรับของเม็กซิโก เคยใช้ดอกและใบต้มน้ำกินใช้ขับลมและขับปัสสาวะ
ในอินเดีย น้ำคั้นจากดอก ใช้ฟอกเลือดและแก้ริดสีดวงทวาร
ในบราซิล ใช้ดอกชงน้ำหรือต้มน้ำกิน แก้อาการปวดตามข้อ, หลอดลมอักเสบ ใบและดอกชงน้ำกิน
ใช้ขับพยาธิ ดอกใช้ภายนอก ในโรคตาและแผลเรื้อรังต่างๆ ใบใช้พอกฝี, ฝีฝักบัว น้ำคั้นจากใบ ใช้แก้ปวดหู รากใช้เป็นยาระบาย
ในไทย ใช้น้ำคั้นจากใบ ผสมน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมด ใช้ทาแผลเปื่อยเน่า ฝีต่าง ๆ


                      

เทียน

⇒ ชื่ออื่น เทียนบ้าน, เทียนขาว, เทียนสวน, เทียนไทย, เทียนดอก (ไทย); ห่งเซียง, จึงกะฮวย, เซียวถ่ออั๊ง, โจ๋ยกะเช่า (จีน); Garden Balsam

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balamina L. วงศ์ Balsaminaceae

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชปีเดียวตาย สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ลำต้นแข็งแรง มีเนื้อดูโปร่งแสง ใบออกสลับหมุนเวียนไปเป็นวง ลักษณะใบยาวเรียวแหลม ขอบใบมีรอยหยัก เป็นฟันคล้ายฟันเลื่อย ใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร มีก้านใบสั้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรืออยู่รวมกันเป็นช่อ 2-3 ดอก มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกลีบล่างกลีบหนึ่งงอเป็นกระเปาะ กันกระเปาะมีส่วนยื่นออกมาเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาว ๆ ปลายโค้งงอขึ้นเล็กน้อย มีน้ำหวานขังอยู่ เรียกว่า สะเปอร์ เป็นลักษณะพิเศษของไม้วงศ์นี้อย่างหนึ่ง กลีบดอกมีสีหลายสี ตั้งแต่สีขาว, ชมพูอ่อน, แดง, ม่วง หรือมีสีผสมกันก็ได้ กลีบดอกอาจซ้อนหรือไม่ซ้อนก็ได้ เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ รังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ มีก้านผลยาวเห็นได้ชัดเจน เมื่อผลแก่จะแตกเป็น 5 แฉกตามรอยแยกดีดเมล็ดออกมา ในฤดูฝน อาจพบเมล็ดงอกติดอยู่ในผลที่แตกออกมาแล้วเลยก็ได้ เมล็ดลักษะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลดำ มีรอยกระ ต้นไม้นี้หนอนมักไม่ค่อยกินใบ มักพบปลูกเป็นไม้ประดับกันตามบ้านหรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ทั่วไป เพราะออกดอกได้ทั้งปีและมีสีสดสวย ต้นไม่สูงเกินไปนัก



⇒ การเก็บมาใช้
ทั้งต้น, ใบ เก็บในฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง เอามาตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือใช้สด ๆ เลย
ดอก เก็บตอนที่บานเต็มที่แล้ว เอามาตากให้แห้งเก็บไว้ใช้
เมล็ด เก็บตอนแก่เต็มที่ก่อนแตก เอามาตากแห้ง เอาสิ่งปนมาออก เก็บเอาไว้ใช้



⇒ลักษณะยาแห้ง
เมล็ดแห้ง จะมีลักษณะกลมรี ยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 2-3 มิลลิเมตรผิวเปลือกสีเทาออกน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้มบนเปลือกมีจุดและสายเส้นสั้น ๆ มีติ่งอยู่ที่ปลายด้านแคบเปลือกเมล็ดแข็ง เมล็ดอ้วนแน่นจะดีที่สุด
ลำต้น เก็บในฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง เมื่อเมล็ดสุกหมดแล้ว เอาก้านเล็ก ๆ ออกหมด ล้างให้สะอาด หั่นเป็นท่อนตากแดด เอาไว้ใช้ ลักษณะเป็นท่อนกลมยาว 30-60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีรอยย่น หน้าตัดสีน้ำตาลแก่กึ่งน้ำตาลอ่อน ตรงข้อจะโป่งมีรอยใบ และบริเวณยอดจะมีใบมาก ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขามากนัก มีเนื้อเหนียวแข็งเปราะง่าย ภายในกลวง หรืออาจะมีเยื่อสีขาว มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย



⇒ สรรพคุณ
ใบ รสขม ฉุน สุขุม ใช้ขับลม ทำให้โลหิตหมุนเวียนคล่อง แก้บวม, โรคปวดตามข้อ, เจ็บปวดเกิดจากการถูกกระทบกระแทก, แก้ฝีประคำร้อยและแผลมีหนอง แก้บิดมูกเลือด และงูกัด
ดอก รสสุขุม ชุ่ม ใช้แก้ปวดข้อ, ปวดเอว, แก้ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน
เมล็ด รสขม ฉุน สุขุม มีพิษ ใช้ขับเสมหะข้น ๆ, ขับลูกที่ตายออก, ขับประจำเดือน, ละลายกระดูก แก้กระดูกหรือก้างปลาติดคอ, แก้พิษงู, แผลติดเชื้ออักเสบทั้งหลาย, แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และแก้บวม
ลำต้น รสชุ่ม ไม่มีพิษ ใช้ขับลม ทำให้เอ็นคลายตัว โลหิตหมุนเวียนคล่อง, แก้ปวด, เหน็บชา และแผลเน่าเปื่อยบวมเป็นพิษ
ราก รสขม ชุ่ม ฉุน สุขุม มีพิษเล็กน้อย ทำให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้บวม และปวดกระดูก แผลหกล้มบวมเจ็บ และก้างปลาหรือกระดูกไก่ติดคอ, ตกขาว, ตกเลือด



⇒วิธีและปริมาณที่ใช้
ใบแห้ง ใช้ 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำพอกหรือต้มเอาน้ำชะล้าง
ดอกแห้ง ใช้ 2.5-8 กรัม ทำเป็นเม็ดหรือผง ใช้ภายนอกหรือบดเป็นผงเป่าคอ, อุดฟัน
ลำต้นแห้ง ใช้ 10-15 กรัม ทำเป็นเม็ดหรือผง ใช้ภายนอก ใช้ต้มเอาน้ำชะล้าง
รากแห้ง บดเป็นผงหรือแช่เหล้ากิน ใช้ภายนอก ใช้ตำพอก



⇒ข้อห้ามใช้
1. หญิงมีครรภ์ห้ามใช้
2. รากต้นนี้ห้ามกินมากหรือติดต่อกันนาน ๆ หรือบ่อย ๆ จะอันตรายต่อม้ามและกระเพาะ



⇒ตำรับยา
1. แก้ปวดข้อ ใช้ใบสด 30 กรัม ต้มน้ำ (ใบแห้ง 15 กรัม) ผสมเหล้ากิน

2. แก้ฝีอักเสบเกิดที่หลัง ใช้ใบสดตำพอกหรือใช้ยาสดล้างสะอาดตำ และต้ม 2 หม้อ รินน้ำมารวม
กันเคี่ยวให้ข้นเป็นครีม ใช้ทากระดาษแก้ว ปิดที่แผลเปลี่ยนวันละ 1 ครั้ง

3. แก้ฟกช้ำที่เกิดจากการหกล้ม ใช้น้ำคั้นจากทั้งต้น 1 แก้ว ผสมเหล้าเหลืองกิน หรือใช้รากตากให้
แห้งบดเป็นผง กินวันละ 10-15 กรัม ผสมกับเหล้าและน้ำกิน แก้หกล้ม, บวมแดง ฟกช้ำเป็นก้อน, แก้แผลเปื่อยเน่า ใช้รากและต้นตำพอก

4. แก้แผลอักเสบมีหนอง, แผลเน่าเปื่อยต่าง ๆ ใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน

5. จมูกเล็บ (ซอกข้างเล็บ) อักเสบบวม, หรือถอดเล็บ ใช้ยอดสดหนึ่งกำมือล้างให้สะอาดผสมน้ำ-ตาลแดงตำพอก เปลี่ยนวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

6. แก้แผลเรื้อรัง ใช้ใบแห้งบดเป็นผงผสมพิมเสนใส่แผล

7. แก้หน้าและขาบวม ใช้รากและใบสดผสมน้ำตาลทราย ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่บวม

8. แก้แผลงูกัด ใช้ต้นสด 160 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกินและเอากากพอกแผลหรือใช้ต้นสดเก็บเอาไว้ครึ่งปี ใช้ทั้งรากและใบตำพอกที่บวม หรือใช้เหล้าหวานผสมกับกากพอกแผล

9. แก้กระดูกไก่หรือก้างปลาติดคอ ใช้เมล็ดสดตำกลืนลงไป ถ้าไม่มีเมล็ด ก็ใช้รากสดก็ได้ เคี้ยวให้
ละเอียดกลืนลงไปช้าๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปาก เพื่อไม่ให้ฟันเสีย (ยานี้ละลายฟันได้)

10. แก้บวมน้ำ ใช้รากสด 4-5 ราก ต้มกับเนื้อหมูกิน 3-4 ครั้ง จะเห็นผล

11. แก้ประจำเดือนไม่มา ใช้เมล็ดแห้งหนัก 60 กรัม บดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นเม็ด กินวันละ 3
ครั้ง ๆ ละ 3.2 กรัม ผสมตังกุย 10 กรัมด้วย

12. คนที่คลอดลูกยาก ใช้เมล็ด 6 กรัม บดเป็นผงกินกับน้ำ ระวังอย่าให้ถูกฟัน

13. แก้รกค้าง (รกไม่ออก) ใช้เมล็ดคั่วให้เหลือง บดเป็นผงหนัก 3.2 กรัม กินร่วมกับเหล้าเหลืองอุ่น ๆ

14. แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ ใช้เมล็ดบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป อมไว้วันละ 2-3
ครั้ง

⇒หมายเหตุ
1. ผลต่อมดลูก เมล็ดสกัดด้วยน้ำ มีผลกระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่ท้องและไม่ท้อง และต่อมดลูก
หนูขาวที่ท้อง ทำให้มดลูกหดตัวเร็วและแรงขึ้น น้ำสกัดหรือส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ด มีผลทำให้ลำไส้เล็กที่แยกออกมาของกระต่ายคลายตัว

2. การใช้เป็นยาคลุมกำเนิด ให้หนูขาวตัวเมียกินน้ำต้มจากเมล็ดนี้ 10 วัน จะเป็นยาคุมกำเนิดได้
อย่างดี ยานี้จะกดความรู้สึกทางเพศ ลดน้ำนม และลดการทำงานของมดลูก

3. การเป็นพิษ ให้หนูกินเมล็ดร่วมกับน้ำขนาด 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ชั่วโมงละครั้ง
รวม 3 ครั้ง หลายวัน หนูที่ท้องก็ยังไม่แท้ง ให้กระต่ายกินก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไร

4. มีการกล่าวว่า เมล็ดเทียน สามารถละลายกระดูกได้ และละลายฟันทำให้ฟันเสียได้ จึงต้องระวัง
ไม่ให้ถูกฟันเวลาใช้
 

 

ข้อมูลสื่อ

13-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 13
พฤษภาคม 2523
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ