สะพานข้อมูลไทย-ลาว
สำหรับคอลัมน์กันไว้ดีกว่าแก้ฉบับนี้ของหมอชาวบ้าน ผมขออนุญาตพาท่านผู้อ่านออกนอกเรื่องอีกสักฉบับนะครับ คือ ต้นฉบับนี้เขียนขึ้นในขณะที่ผมรับมาทำหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญระยะสั้นให้แก่องค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2531 ณ นครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ล.) ซึ่งมีคำขวัญของประเทศว่า (เป็นตัวอักษรลาวค่ะ) แปลเป็นไทยว่า “สันติภาพ เอกราช เอกภาพ สังคมนิยม” นั่นเองครับ เพราะผมสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะออกแบบฟอร์มอะไรก็ตาม จะมีคำขวัญดังกล่าวติดไว้เสมอ
เมื่อมาถึง สิ่งแรกที่ผมรู้สึกผิดปกติไปจากเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2531 ก็คือ รถราเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเทียบกันไม่ได้ รถจักรยานลดน้อยลง แต่รถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น ร้านอาหารกินดื่มของเขาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้คนไทยที่มานครเวียงจันทน์หายคิดถึงอาหารไทยได้พอสมควร เพราะพอจะหาอาหารไทยกินได้หลายร้านทีเดียว
งานที่ผมรับมาจากองค์การอนามัยโลกเที่ยวนี้ ก็คือ ให้มาหาหนทางในการสร้างระบบเฝ้าระวังโรค (Disease surveillance) ขึ้นในประเทศนี้นั่นเอง หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ระบบเฝ้าระวังโรคนี้มันอะไรกัน ผมก็เลยจะขออนุญาตขยายความซะเลย (เพราะที่จริงหาโอกาสมานานแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะเล่าเรื่องระบาดวิทยาให้ผู้อ่านอ่านโดยไม่ให้รู้ตัวว่าเป็นวิชาการมากเกินไป ก็มาได้โอกาสนี้ล่ะครับ)
ระบบการเฝ้าระวังโรค ก็คือ การศึกษาถึงความเป็นไป และปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลที่เราเฝ้าดูอยู่นี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนควบคุมและป้องกันโรคนั่นเอง ส.ป.ป.ล.มีความพยายามมาหลายปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2524 ก็ได้รับความสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกให้เริ่มจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังโรคขึ้น แต่เนื่องจากสาเหตุอะไรก็ตามแต่โดยมากที่ผู้เชี่ยวชาญมักจะอ้างถึงกันบ่อยๆ ก็คือ ขาดคนรู้จริง และขาดคนที่จะมาทำงานด้านนี้ด้วย
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เขาก็พยายามส่งคนของเขาไปดูงานจากประเทศสังคมนิยมหลายประเทศ (ในขณะที่ยังไม่มีความสัมพันธ์กับซีกโลกตะวันตก) แต่เมื่อกลับมาก็ยังตั้งต้นไม่ได้อีก ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย จนกระทั่งปลายปี 2529 มีผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามมาเป็นที่ปรึกษา ก็ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องภาษามาก เพราะผู้เชี่ยวชาญต้องพูดภาษาฝรั่งเศส แล้วก็มีหมอลาวเป็นล่ามแปล จากประโยคต่อประโยค เมื่อผู้เชี่ยวชาญกลับไป ไม่ทราบว่าเป็นเพราะปัญหาเรื่องภาษาหรือเปล่า ระบบการเฝ้าระวังโรคก็ยังจัดตั้งไม่ได้อยู่นั่นเอง
เมื่อปีกลายที่ผมมาเป็นที่ปรึกษาที่นี่ 1 เดือน ได้มาสอนเรื่องสุขภาพอนามัย เขาเกิดติดใจเพราะไม่ต้องใช้ล่าม เราสอนด้วยภาษาไทยได้ คำไหนที่เรากลัวเขาไม่เข้าใจก็ขอให้แปลเฉพาะคำเป็นภาษาลาว ยกตัวอย่างเช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติภาษาลาวก็บอกว่า เก็บกำข้อมูล หรือการวินิจฉัยโรค ก็เรียกว่า การบ่งมติ เป็นต้น ก็ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนม่วนซื่นไปตามๆ กัน
กลับมาเรื่องระบบการเฝ้าระวังโรคอีกครั้ง ในครั้งนี้นอกจากการมาให้ความรู้ทางระบาดวิทยา และชีวสถิติขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะแล้ว ผมยังมาริเริ่มการเฝ้าระวังโรคเฉพาะพื้นที่ (ที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Sentinel Surveillance) ขึ้นด้วย คือ ศัพท์ตัวนี้แปลว่า เราต้องการเฝ้าระวังโรค (ตามความหมายเดิม) แต่เนื่องจากการสร้างระบบทั้งประเทศนั้น ส.ป.ป.ล.ยังริเริ่มมิได้ เนื่องจากขาดองค์ประกอบพื้นฐานหลายอย่าง คือ ขาดความเป็นเอกภาพของการเก็บข้อมูล (ทั้งที่คำขวัญของเขาคือ เอกภาพ) ข้อมูลที่เก็บอยู่เดิมค่อนข้างยากในการเก็บข้อมูล อีกทั้งยังขาดซึ่งระบบที่เป็นหัวใจสำคัญของการเก็บข้อมูลนั่นเอง
จากประสบการณ์ของระบบเฝ้าระวังโรคในเมืองไทย ที่เราได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2513 โดยนายแพทย์สุชาติ เจตนเสน นายแพทย์ประยูร กุนาศล และนายแพทย์ธวัช จายนียโยธิน ถือเป็น 3 ท่านแรกที่มองการณ์ไกล พยายามเข็นครกขึ้นภูเขาก็โดยเริ่มจากเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ขึ้นมาก่อน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ระบบการเฝ้าระวังของโรคของประเทศไทยเป็นที่สนใจของนานาประเทศ ที่มาขอศึกษางาน และระบบของเราเป็นที่เชิดหน้าชูตาสิ่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขไทย
เล่าเรื่อง ส.ป.ป.ล.อยู่ดีๆ ทำไมข้ามมาฝั่งไทยได้ก็ไม่ทราบ ทั้งที่สะพานยังสร้างไม่เสร็จเลย ผมขออนุญาตยกยอดไปต่อตอน 2 ดีกว่าครับ
- อ่าน 2,900 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้