ไขมันอุดตันหลอดเลือดหัวใจ
ในปี พ.ศ.2530 คนอเมริกันเกิดอาการของโรคหัวใจขาดเลือด 1 ล้าน 5 แสนคน และมีคนอเมริกันตายเพราะโรคนี้จำนวน 550,000 คน ด้วยเหตุนี้เองโรคหัวใจขาดเลือดจึงถือเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สำคัญประการหนึ่งของสังคมอเมริกัน
อย่างไรก็ดี มีคนอเมริกันบางกลุ่ม เช่น ชาวคริสต์นิกายมอร์มอน ชาวคริสต์นิการเซเว่นเดย์แอดเวนติส เป็นต้น เป็นคนอเมริกันที่ไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเหมือนคนอเมริกันทั่วไป วิถีชีวิตของคนเหล่านี้มีลักษณะจำเพาะซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไป คือ พวกเขายึดมั่นในศาสนาโดยเคร่งครัด ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มสุรา และไม่สูบบุหรี่ (คล้ายชาวสันติอโศกในเมืองไทย)
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาหาคำอธิบายทางชีวเคมีสำหรับคนเหล่านี้ และพบว่า ในเลือดของพวกเขามีโคเลสเตอรอลน้อยเป็นพิเศษ แต่มีสารไขมันโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (high-density lipoprotein) ในสัดส่วนที่มากเป็นพิเศษ ในทางตรงกันข้ามคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมีโคเลสเตอรอลมาก และมีสารไขมันโปรตีนดังกล่าวน้อย ประกอบกับข้อมูลอีกมากมายทั่วโลก แพทย์จึงสรุปว่า โคเลสเตอรอลมากเกินและสารไขมันโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูงน้อยเกิน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด (คำว่าปัจจัยเสี่ยง หมายถึง เหตุปัจจัยหนึ่งในหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค)
โคเลสเตอรอลเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และสารโปรตีนไขมันชนิดความหนาแน่นสูงป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร
ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องทราบว่า โรคหัวใจขาดเลือดนั้นเกิดขึ้นเพราะมีการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ การตีบตันของหลอดเลือดแดงของหัวใจ เป็นผลสืบเนื่องจากการพอกพูนของโคเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือด จึงอาจกล่าวได้ว่า โคเลสเตอรอล คือ สนิมของหลอดเลือด โคเลสเตอรอลในร่างกายของคน มีที่มา 2 แหล่งด้วยกัน คือ จากอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ และจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว กะทิ และน้ำมันปาล์ม อีกส่วนหนึ่งตับช่วยสังเคราะห์ขึ้นจากโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด
การไหลถ่ายเทของโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดเกี่ยวข้องกับสารไขมันโปรตีน 3 ชนิด คือ
1. ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL = high-density lipoprotein)
2. ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL = low- density lipoprotein)
3. ชนิดความหนาแน่นต่ำยิ่งยวด (VLDL = very- low- density lipoprotein)
(ขอให้ผู้อ่านจำความหมายของตัวย่อภาษาอังกฤษ HDL LDL และ VLDL ไว้ด้วย เพราะเนื้อหาต่อไปจะอธิบายการถ่ายเทของโคเลสเตอรอล ซึ่งผู้เรียบเรียงขอใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทน) เพื่อให้เข้าใจบทบาทของสารไขมันชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) ในการป้องกันไม่ให้โคเลสเตอรอลไปอุดตันหลอดเลือด เราคงต้องพยายามเข้าใจการยักย้ายถ่ายเทของโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดดังนี้
ขณะที่เลือดไหลผ่านตับ โคเลสเตอรอลและไขมันอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์จะถูกถ่ายเทให้กับ VLDL เมื่อเลือดไหลผ่านไปสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ VLDL จะถ่ายเทไตรกลีเซอไรด์ไปให้เนื้อเยื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งทำให้มันกลายสภาพเป็น LDL แล้ว LDL ก็จะถ่ายเทโคเลสเตอรอลให้กับเนื้อเยื่อ โคเลสเตอรอลส่วนเกินอยู่ใน LDL จะกระตุ้นให้เกิดคราบตะกอน (plaque) ซึ่งรอวันที่จะพอกตัวหนาขึ้นจนอุดตันหลอดเลือด
ก่อนที่วันแห่งโศกนาฏกรรมเช่นนี้จะมาถึง ธรรมชาติได้ช่วยเหลือตนเองโดยสร้าง HDL ขึ้นมาคอยขจัดกวาดล้างคราบดังกล่าวจากผนังหลอดเลือดจากกระแสเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้น HDL จึงเป็นพระเอกของการป้องกันการอุดตันหลอดเลือด อย่างไรก็ตามทุกสิ่งย่อมมีขีดจำกัด HDL ก็เช่นกัน มันสามารถดูดซับเอาโคเลสเตอรอลไว้ได้จำนวนหนึ่ง เมื่อสุดขีดจำกัดของมันแล้ว โคเลสเตอรอลส่วนเกินจะถูกถ่ายเทให้ให้กับ VLDL แล้ว VLDL ก็จะแปรสภาพเป็น LDL ต่อไป ที่ตับ LDL จะถูกดึงออกจากกระแสเลือด แล้วโคเลสเตอรอลที่มันพามาด้วยจะถูกแปรสภาพเป็นกรดน้ำดีซึ่งจะถูกขับทิ้งทางลำไส้ออกมากับอุจจาระ
การศึกษาที่เมืองฟลามิ่งแฮม มลรัฐแมสซาชูเสท สหรัฐอเมริกา แพทย์พบว่า ตัวชี้วัดความเสี่ยงที่ดีที่สุดต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดคืออัตราส่วนของปริมาณโคเลสเตอรอลต่อปริมาณของ HDL ตัวอย่างเช่น ถ้าปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดเท่ากับ 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และปริมาณ HDL เท่ากับ 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อัตราส่วนของโคเลสเตอรอลต่อ HDL เท่ากับ 3 บทเรียนจากฟลามิ่งแฮมสอนเราว่า คนที่มีอัตราส่วนนี้เท่ากับ 4.5 หรือมากกว่า เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคโรคหัวใจขาดเลือดอย่างมาก เพราะคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ พบว่า ผู้หญิงมีอัตราส่วนอยู่ระหว่าง 4.6 ถึง 6.4 และสำหรับผู้ชาย 5.4 ถึง 6.1
คนที่นิยมกินมังสวิรัติซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงน้อยมีอัตราส่วนประมาณ 2.5 และในนักวิ่งระยะไกลอัตราส่วนนี้ประมาณ 3.4 ที่นครเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีผลการวิจัยในชายวัยกลางคนจำนวน 4,081 คน โดยแบ่งคนเหล่านี้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจำนวน 2,051 คน ให้ยาลดโคเลสเตอรอลในเลือดนาน 5 ปี อีกกลุ่มที่เหลือไม่ได้ให้ยา ปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับยามีปริมาณ HDL เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ปริมาณ LDL ลดลงร้อยละ 11 และอุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาร้อยละ 34 ความรู้จากฟลามิ่งแฮมและเฮลซิงกิ ช่วยให้เราเข้าใจว่า การที่ร่างกายมีปริมาณ HDL มาก น่าจะดีสำหรับการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่หนักแน่นพอ เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่า HDL เพิ่มขึ้นอย่างเดียวจะช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ ที่แน่นอนกว่า คือ ถ้า LDL ต่ำไว้ล่ะก็ป้องกันโรคนี้ได้จริง
ทีนี้ก็ถึงจังหวะที่จะถามแล้วซิครับว่า จะเพิ่มระดับ HDL และลดระดับ LDL ได้อย่างไร
นายแพทย์เบอร์นาดีน ฮิลลี่ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า คำตอบอยู่ที่ตัวคุณ คุณนั่นแหละที่สามารถป้องกันตนเองจากโรคหัวใจขาดเลือดได้ด้วยตนเอง สิ่งที่คุณต้องทำ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดหรือลดอาหารที่มีไขมัน ลดของหวาน เลิกสูบบุหรี่ และอย่าดื่มเหล้ามากเกินไป
- อ่าน 13,998 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้