• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟาสต์ฟู้ดกับผลกระทบต่อโลก

ฟาสต์ฟู้ดกับผลกระทบต่อโลก

“ใดๆ ในโลกล้วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน“ คุณเชื่อมั้ยคะว่าทุกอย่างโยงใยไปถึงกันหมดแม้กระทั่งการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่เร่งรีบ รุนแรง และปัญหาที่รุมเร้า ดูเหมือนจะทำให้คนเรามีข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวให้ตัวเองเสมอ เช่น เมื่อกล่าวถึงฟาสต์ฟู้ดหรือแฮมเบอร์เกอร์ ทุกคนจะสำนึกว่านั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ราคาแพง คุณค่าสารอาหารน้อยแต่แล้วก็ยังเสพอย่างโหยหา เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าเป็นความเหมาะสมกับยุคสมัยที่เร่งรีบ และเป็นความเท่อย่างหนึ่งที่พอจะหาซื้อได้

หากทว่าเดี๋ยวนี้ ดิฉันคิดว่าในมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นที่จะต้องช่วยกันโพทะนาว่า ในขณะที่คุณกินแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น นั้นแปลว่า คุณกำลังทำลายป่าและธรรมชาติ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ “ ฟังดูเวอร์ “ แต่นั้นก็เป็นความจริง

จอห์น เชมัวร์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชาวออสเตรเลีย บอกว่าแฮมเบอร์เกอร์เป็นอาหารที่มีมาตรฐานเฉพาะตัว คือ เมื่อคุณเข้าร้านแมคโดนัลด์หรือเคนตั้กกี้ร้านใดในโลก คุณจะได้มาตรฐานที่เหมือนกัน เช่น ขนมปังต้องนิ่มแบบนี้ เนื้อต้องนุ่มแบบนี้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อคุณกินแฮมเบอร์เกอร์ในประเทศอังกฤษ เนื้อสัตว์ที่ใช้อาจจะมาจากโคกระบือที่ถูกเลี้ยงในอเมริกา ขนมปังอาจจะถูกทำขึ้นในประเทศอังกฤษนั้นเอง แต่ข้าวสาลีที่ใช้จะต้องมาจากอเมริกาเหนือ เนยแข็งอาจจะถูกนำเข้ามาจากฮอลแลนด์ หัวหอมจากสเปน มะเขือเทศจากอิตาลี แตงกวาจากแคลิฟอร์เนีย และแน่นอนตำรับการปรุงก็จะเป็นแบบฉบับของอเมริกา

ธุรกิจเกี่ยวกับแฮมเบอร์เกอร์เติบโตเร็วมากและคิดเป็นผลประโยชน์มหาศาล ในปี 1984 แมคโดนัลด์ขายแฮมเบอร์เกอร์ คิดเป็นมูลค่าได้มากกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 10 ปีถัดมากลายเป็น 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คิดดูเองก็แล้วกันนะคะว่าเงินจำนวนมากขนาดนี้จะเท่ากับแฮมเบอร์เกอร์มากขนาดไหน คอสตาริกา ( Costa Rica) เป็นเมืองที่มีการส่งออกเนื้อเป็นสินค้าหลัก ในแต่ละปี จำนวนเนื้อโคประมาณ 42,000 ตัน จะถูกส่งออกเพื่อเข้าสู่ตลาดแฮมเบอร์เกอร์ แล้วเรื่องที่น่าเศร้า ก็คือ เมืองคอสตาริกาโดยภูมิประเทศแล้วไม่เหมาะที่จะทำฟาร์มโคกระบือเลย แต่เมื่อทำฟาร์มดังกล่าวจึงต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อให้กลายมาเป็นทุ่งหญ้า และในแต่ละปีพื้นที่ป่าจะถูกทำลายไปประมาณ 50,000 - 70,000 เฮกเตอร์ ถึงเดี๋ยวนี้พื้นที่ของประเทศจำนวนหนึ่งในสามได้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ไปเรียบร้อยแล้วและบางส่วนก็ได้กลายเป็นพื้นดินที่แห้งแล้งขาดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์

ในระหว่างปี 1966 - 1983 พื้นที่ป่าอะเมซอนจำนวนถึง 10 ล้านเฮกเตอร์ ได้กลายมาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ขณะนี้ความต้องการเนื้อโคของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น สูงขึ้นเรื่อยๆ และนั้นก็ไปสร้างความกดดันให้ประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ต้องผลิตเนื้อโคมากขึ้น คือ เลี้ยงโคให้มากขึ้น ตัดป่ามาทำเป็นทุ่งหญ้าให้มากขึ้น ซึ่งทุ่งหญ้าที่ได้มานี้จะให้ผลประโยชน์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพียงระยะเวลาไม่ถึง 8 ปี จากนั้นก็จะหมดสภาพ

ผลประโยชน์เพียงชั่วครู่ชั่วยามเช่นนี้ เทียบไม่ได้เลยกับการคงไว้ซึ่งป่าไม้ที่เป็นสมดุลธรรมชาติ เต็มไปด้วยพืชและสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด คุณล่ะคะ เมื่อทราบอย่างนี้แล้วยังอยากกินแฮมเบอร์เกอร์อยู่อีกหรือเปล่า ดิฉันอยากเรียกแฮมเบอร์เกอร์ว่าเป็น “อาหารขยะที่มีจริต“ ซะจริงๆ คือ นอกจากจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยมากแล้ว ยังมีจริตอีกด้วย คือ ต้องพิถีพิถันในการนำเข้าส่วนประกอบต่างๆ อย่างมากเรื่องมากความ

เอาอย่างนี้ดีไหมคะ ก่อนกินอาหารมื้อต่อไป อย่างแรกที่เราต้องคำนึง คือ การซื้ออาหารที่ผลิตขึ้นจากท้องถิ่น ที่ไม่ต้องสรรหาผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือต้องขนส่งมาหลายต่อหลายทอด เพราะนั้นไม่เป็นการประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิงเลย และถ้าเป็นอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ ก็ต้องสังเกต และอ่านฉลากให้ดีว่าผลิตภัณฑ์นั้นนำเข้าจากต่างประเทศหรือเปล่า ตั้งใจไว้เสมอว่าจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ถ้าประเทศของเราผลิตเองได้

นอกจากนี้อาจจะต้องศึกษาต่อไปอีกว่า ผลิตภัณฑ์อะไร ประเภทไหนที่มีกระบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และธรรมชาติ เพราะไม่ใช่มีแต่อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดเท่านั้นที่ทำลายธรรมชาติ แต่ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น อาหารหรือผลไม้กระป๋อง และแม้แต่อาหารสัตว์ในประเทศไทย พื้นที่ป่าจำนวนมากยังถูกหักร้างถางพงเพื่อนำมาปลูกพืชส่งออกเป็นอาหารสัตว์ไปยังต่างประเทศ เหตุการณ์ทำนองนี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก

การทำลายป่าไม้ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่การบริโภคของมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงเวลาหรือยังล่ะคะที่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ โดยการหันกลับมาหาอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ้านเรา อาหารธรรมชาติที่ใกล้ตัวเราเพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเราเอง อาหารธรรมชาติที่มีเส้นใยมากๆ จะทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ลดลง

ลองดูนะคะ ตั้งแต่วันนี้
 

ข้อมูลสื่อ

177-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
เกศินี จุฑาวิจิตร