• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารกับโรคเกาต์

อาหารกับโรคเกาต์

โรคภัยไข้เจ็บหลายโรคมักมีสาเหตุมาจากการกินเสียเป็นส่วนใหญ่ โรคเกาต์ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ลักษณะอากรของโรคนี้มิใช่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หากเป็นแบบสะสมเรื้อรัง เจ้าตัวจึงไม่อาจรู้ได้ว่าในร่างกายของตนนั้นได้มีภัยแฝงกายเข้ารอโอกาสโจมตีอยู่เงียบๆ

สาเหตุการเกิดโรคเกาต์

โรคเกาต์เกิดจากการที่มีสารจำพวกกรดยูริกไปสะสมตามส่วนที่เป็นข้อต่อของกระดูกในปริมาณสูงทำให้เกิดอาการบวมปูด เมื่อเกิดอาการจะเห็นการบวมของข้อต่อได้อย่างชัดเจน ตามปกติร่างกายของคนและสัตว์จะมีการสร้างกรดยูริกอยู่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากการเผาผลาญสารจำพวกพิวรีน แต่ในสัตว์ส่วนใหญ่จะมีเอมไซม์หรือน้ำย่อยชนิดหนึ่งมาเปลี่ยนกรดยูริกให้เป็นสารอย่างอื่นเมื่อกรดยูริกละลายแล้วจึงถูกขับออกจากร่างกาย

สำหรับในคนและลิงบางชนิดไม่มีน้ำย่อยชนิดนี้ กรดยูริกจึงละลายอยู่ในเลือด และเมื่อร่างกายสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้นหรือมีการขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อย จึงทำให้มีการรวมตัวและสร้างผลึกของกรดยูริกในบริเวณข้อต่อต่างๆ จนเกิดเป็นโรคเกาต์และมีอาการเจ็บปวดตามข้ออยู่เป็นระยะๆ สาเหตุอื่นของการเกิดโรคเกาต์นอกจากการสร้างกรดยูริกในร่างกายแล้วยังมีแอลกอฮอล์ และอาหารประเภทไขมันอีกด้วย

คนที่มีอาการของโรคเกาต์อยู่แล้ว เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้าไป แอลกอฮอล์จะทำให้มีการเพิ่มสารแล็กเทตในเลือดซึ่งจะเป็นตัวไปยับยั้งการขับกรดยูริกออกจากไต ส่วนไขมันจากอาหารที่มีมากเกินไปก็จะไปลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกายเช่นกัน คล้ายๆ กับการทำงานของแอลกอฮอล์

อาหารกับการเกิดโรคเกาต์

สารพิวรีนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกรดนิวคลิอิก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างกรดยูริก สารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิดและในแต่ละชนิดก็จะมีสารพิวรีนมากน้อยต่างกันด้วย อาหารที่มีพิวรีนปริมาณสูง คือ อาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ ได้แก่ ตับ ไต สมอง หรือพวกปลาซาร์ดีนน้ำที่สกัดได้จากเนื้อ น้ำต้มกระดูก อาหารพวกนี้จะมีพิวรีนสูง ถ้าคิดเป็นมิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม ก็จะมีพิวรีนอยู่ระหว่าง 150-1,800 มิลลิกรัม ดังนั้นคนที่เป็นโรคเกาต์อยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรจะงดอาหารจำพวกนี้เสียนะคะ เพื่อป้องกันมิให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาอีก

ส่วนอาหารประเภทที่มีพิวรีนอยู่ปานกลาง ได้แก่ เนื้อไก่ อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม ถั่วเมล็ดแห้ง
กะหล่ำดอก ข้าวโอ๊ต ไข่แดง อาหารเหล่านี้เป็นอีกจำพวกหนึ่งที่คนเป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงเสียเพราะจะไปกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้

กินดีหนีห่างโรคเกาต์

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นแล้วนะคะว่า อาหารประเภทใดบ้างที่คนเป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยง ส่วนอาหารที่คนเป็นโรคเกาต์ควรได้รับอย่างเพียงพอ คือ สารอาหารโปรตีนเพราะโปรตีนมีส่วนช่วยในการขับกรดยูริกให้ออกจากร่างกาย การที่จะเพิ่มสารอาหารโปรตีนให้กับร่างกายในขณะที่ต้องงดอาหารจำพวกไขมัน อาจจะก่อความยุ่งยากให้กับบางคนได้ เพราะเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญก็เป็นสาเหตุของการเกิดไขมันและสารพิวรีนได้ ดังนั้นจึงควรหาโปรตีนแหล่งใหม่ เช่น นมและไข่ขาว

สำหรับคนที่ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเสียก็ต้องค่อยๆ พยายามหัดดื่มทีละนิดและควรดื่มหลังอาหารจะดีกว่าตอนท้องว่าง หรือถ้าเป็นโยเกิร์ตก็พอจะทดแทนกันได้ จากการที่ต้องงดอาหารจำพวกไขมัน จึงต้องมีการเพิ่มสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้สูงขึ้นอีกเพื่อเป็นการชดเชยพลังงานที่ร่างกายจะได้รับจากไขมันเป็นการป้องกันการขาดพลังงานของร่างกาย

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผู้ที่อ้วนมากและผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์มากๆ เป็นระยะเวลานานๆ จะมีอาการปวดตามข้อ และกลุ่มที่มีโอกาสเกิดอาการเช่นนี้ได้ง่ายอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุ ถ้าหากยังห่วงใยสุขภาพอยู่และรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวก็ต้องระวังควบคุมในเรื่องอาหารให้ดีและหมั่นออกกำลังกายเบาๆ บ้าง ขณะนี้อากาศเริ่มเย็นลงแล้วคนที่เป็นโรคเกาต์อยู่ควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดีๆ นะคะ เพราะอากาศเย็นจะทำให้อาการปวดที่เป็นอยู่กำเริบได้

ข้อมูลสื่อ

177-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
รู้ก่อนกิน
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล