• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แตงกวา สมุนไพรใช้เสริมสวย

อากาศร้อนอบอ้าวถ้าได้กินน้ำแกงแตงกวากับกุ้ง หรือหมูสับ เป็นน้ำแกงก็คงจะทำให้ชื่นคอชุ่มใจได้ ดังนั้นหน้าร้อนนี้อย่าลืมนำเอาแตงกวามาปรุงเป็นอาหารกินในครอบครัวท่านเสียนะครับ

ถิ่นกำเนิดของแตงกวาคืออินเดีย แตงกวาได้แพร่เข้าไปในประเทศจีนเป็นเวลานานกว่า 2 พันปีมาแล้ว
จากสถิติแตงกวาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ปลูกได้ เมื่อหลายปีมาแล้วมีชาวสวนของบราซิลท่านหนึ่งได้ปลูกแตงกวา และมีลูกหนึ่งมีน้ำหนัก 32 กก. ยาว 1.32 เมตร ซึ่งเป็นแตงกวาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่พบมา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis sativus Linn. วงศ์ Cucurbitaceae
แตงกวามีน้ำ 96-98% เป็นผักที่มีน้ำมากที่สุด เส้นใยของแตงกวาอ่อนมาก จะช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น และยังลดโคเลสเตอรอลได้อีกด้วย แตงกวาสดจะช่วยลดความอ้วนได้ มีประชาชนในบางประเทศใช้เนื้อแตงกวาที่คว้านเอาไส้และเมล็ดออก แล้วตำให้แหลกคั้นเอาน้ำมาใช้ทาผิวเพื่อรักษาผิวหรือทาลบรอยตีนกาบนใบหน้า

สรรพคุณ

ผลแตงกวา มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ใบแตงกวา มีคุณสมบัติเย็นเล็กน้อย รสขม สรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้อาการท้องเสีย เป็นบิด ลดโคเลสเตอรอล
รากแตงกวา มีคุณสมบัติเย็น รสขมหวาน สรรพคุณแก้อาการท้องเสีย เป็นบิด
เถาแตงกวา มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสขม สรรพคุณขับปัสสาวะ เป็นบิด

สารเคมีที่พบ

ลูกแตงกวามีกลูโคส Rhamnose, Galactose, Mannose, Xylose, ฟรักโทส, Rutin, Isoqucrcitrin, Arginine และพวก Gylcoside เช่น Glucosid เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Caffeic acid, Chlorogenic acid, Free amino acid, วิตามินบีสอง วิตามินซี 10.3 ม.ก.% น้ำมันหอมระเหย 1 ม.ก.% ซึ่งประกอบด้วย 2,6-Nona dicnal เป็นสำคัญ

เนื้อบริเวณหัวใจ (ใกล้ขั้ว) ของแตงกวามีรสขม รสขมนี้ประกอบด้วย Cucurbitacin A,B,C,D
เมล็ดแตงกวามีไขมัน ซึ่งประกอบด้วย Oleic acid 58.49% Linoleic acid 22.29% Palmitic acid 6.79% Steari acid 3.72%

ผลทางเภสัชวิทยา
Cucurbitacin ในการทดลองกับสัตว์มีฤทธิ์ต่อต้านเนื้องอก และมีพิษต่อร่างกายน้อยมาก
ผลการทดลองโดยใช้เถาแตงกวาแห้ง(แห้งเองตามธรรมชาติ) เอาส่วนใบและรากออกใส่น้ำลงไปหนัก 20 เท่าของเถาแตงกวา ต้มให้ได้น้ำที่มีความเข้มข้น 100 % (ใน 100 ม.ล. จะมีตัวยาสมุนไพร 100 กรัม) ในการทดลองกับสัตว์พบว่า สามารถลดความดันโลหิตในสัตว์ได้ แสดงให้เห็นว่าน้ำต้มจากเถาแตงกวามีฤทธิ์มีฤทธิ์โดยตรงในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างชัดเจน ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตเป็นไปได้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดแรงกดรอบๆหลอดเลือด และลดปริมาณของเลือดที่หัวใจฉีดออกไป

รายงานทางคลินิกของจีน
รักษาโรคความดันโลหิตสูง จากการใช้น้ำยาที่ต้มจากเถาแตงกวากับผู้ป่วย 64 ราย (ระยะแรก 17 ราย ระยะที่สอง 45 ราย ระยะที่สาม 2 ราย) ได้ผลชัดเจน 34 ราย ได้ผล 19 ราย ไม่ได้ผล 11 ราย คิดเป็นอัตราได้ทั้งหมด 82.8%

โดยทั่วไปได้ผลดีไม่มีผลข้างเคียง มีอยู่เพียง 5 รายหลังจากกินยา (ก่อนอาหาร) จะรู้สึกร้อนบริเวณท้อง แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นกินหลังอาหาร อาการดังกล่าวก็ลดลงหรือหายไป มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่กินเข้าไปแล้วมีอาการวิงเวียน

หมายเหตุ หรือจะใช้ยาเม็ดที่ทำจากเถาแตงกวาหนักเม็ดละ 3 กรัม กินครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ระยะการรักษา 30-60 วันก็ได้

ข้อควรระวัง
เนื่องจากในกระบวนการปลูก เก็บ ขนส่ง หรือขายจากผลการสำรวจพบว่าโอกาสที่แตงกวาได้รับเชื้อ Colibacilus สูง 70-80 % และยังได้พบเชื้อ Bacillus dysenteriae, Typhoid bacillus และไข่พยาธิ ดังนั้น การกินแตงกวาดิบๆจะต้องล้างให้สะอาดก่อนกินเสมอ
 

ข้อมูลสื่อ

98-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล