• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทรรศนะใหม่เกี่ยวกับผู้หญิงวัยหมดระดู

ภายในปีนี้สตรีอเมริกันประมาณ 1.5 ล้านคนจะเข้าสู่วัยหมดระดู และไม่ช้าก็เร็วผู้หญิงที่มีอายุเลยวัยกลางคนทุกคนจะต้องประสบกับเหตุการณ์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นปกติ แต่การหมดระดูของผู้หญิงก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับการเข้าใจผิด และถูกมองในทางไม่ดีมาโดยตลอด เป็นเรื่องน่าเสียใจที่แนวความคิดอย่างผิดๆเช่นนี้เองที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันก่อให้เกิดความไม่สบายและสูญเสียเงินทองเป็นอันมาก

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้หญิงควรจะตระหนักในข้อเท็จจริงของการหมดระดูก่อนที่ตนจะประสบกับมัน ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็มีความสำคัญสำหรับหญิงที่ผ่านวัยหมดระดูไปแล้วด้วยเช่นกัน ในทั้งสองกรณีควรจะต้องมีขั้นตอนสนับสนุนการรู้จักรักษาสุขภาพและป้องกันโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอันอาจเกิดขึ้นได้
โดยแท้จริง การหมดระดูนั้นไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลย

เมื่อถึงวัยหมดระดู

การหมดระดูหมายถึง ช่วงสุดท้ายของการมีระดูตามปกติซึ่งบอกให้รู้ว่าวัยเจริญพันธุ์ของหญิงได้สิ้นสุดลงแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับหญิงบางคนในทันทีทันใดโดยไม่มีเค้ามูลมาก่อนเลย แต่สำหรับคนอื่นๆนั้นอาจมีอาการต่างๆ เช่น อาการทางจิตใจ ร่างกาย และฮอร์โมน นับเป็นเวลาหลายเดือนหรือนับปีที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากำลังจะเข้าสู่วัยหมดระดูแล้ว ระยะของการเข้าสู่วัยดังกล่าวที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆนั้น เรียกว่าวัยเพศถอย (Climacteric) หรือวัยเตรียมการหมดระดู (Perimenopause)
ในอเมริกาวัยเฉลี่ยของการหมดระดูอยู่ระหว่าง 48 กับ 52 ปี ช่วงวัยของการหมดระดูตามธรรมชาติอยู่ระหว่าง 38 ถึง 6o ปี ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าหญิงคนใดคนหนึ่งจะประสบกับเหตุการณ์นี้เข้าเมื่ออายุเท่าใด

กรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ แต่อาจสามารถปรับเปลี่ยนอิทธิพลของมันได้ และการสูบบุหรี่หรือการมีสุขภาพไม่ดีก็อาจมีส่วนทำให้เกิดการหมดระดูได้เร็วขึ้น
การตัดมดลูกซึ่งอาจหมายถึงการตัดรังไข่ออกไปด้วยนั้นจะทำให้เกิดการหมดระดูทันที

การเปลี่ยนแปลงปกติตามวัย

เมื่อเข้าสู่วัยเกือบ 30 ปี รังไข่ของผู้หญิงก็จะเริ่มเสื่อมสภาพลง รังไข่จะเกิดความรู้สึกน้อยลงต่อฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิก ซึ่งมาจากต่อมพิทูอิตารี (Pituitary) ที่สมอง ผลของการนี้ก็คือ การผลิตไข่จะล้มเหลวบ่อยครั้งขึ้นและการผลิตฮอร์โมนหญิงหรือเอสโตรเจนโดยรังไข่ก็จะน้อยลงตามลำดับ
สตรีส่วนมากไม่ได้สังเกตพบการเปลี่ยนแปลงนี้จนกว่าจะอายุได้ 40 ปีหรือมากกว่า หลังจากนั้นต่อมพิทูอิตารี (Pituitary) ก็จะพยายามปรับตัวให้เข้ากับการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการขับฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิก (Gonadothrophic) ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นฮอร์โมนประเภทที่กระตุ้นต่อมน้อย (FSH) ฮอร์โมนนี้ทำให้ไข่สุกเร็วขึ้นกว่าปกติจึงทำให้วงจรของการมีระดูสั้นลง เพราะฉะนั้น สิ่งบอกเหตุสิ่งแรกที่ผู้หญิงสังเกตเห็นได้ว่าจะเข้าสู่วัยหมดระดูก็คือ รอบการมีระดูที่สั้นลงกว่าเดิม
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเพศถอยซึ่งโดยทั่วไปมักอยู่ในช่วงอายุกลางหรือปลาย 40 ปี การไม่ตกไข่หรือการที่ระดูไม่มาก็กลายเป็นสิ่งธรรมดา ระหว่างรอบของการมีระดูแต่ไม่มีการตกไข่เช่นนี้รังไข่จะไม่ผลิตฮอร์โมนหญิงที่เรียกว่าโปรเจสเตอโรนออกมาต้านกับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งทำหน้าที่เคลือบผนังของเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้น และเมื่อมีเอสโตรเจนน้อยลงตอนช่วงปลายรอบก็อาจมีการตกเลือดมากผิดปกติเกิดขึ้นได้ ตอนนี้รังไข่จะขาดแคลนต่อมน้อยที่เป็นตัวผลิตไข่ รอบเดือนจึงเริ่มผิดปกติ
ในที่สุดรังไข่ก็จะไม่มีปฏิกิริยาอะไรอีกเลย ไม่มีการผลิตไข่ เอสโตรเจน หรือโปรเจสเตอโรน เยื่อบุมดลูกไม่ก่อตัวขึ้นมา และลอกออกไปตามช่วงเวลาตามช่วงเวลาของมันเช่นเคย การหมดระดูก็เกิดขึ้น

ทัศนคติต่อการหมดระดูและการเข้าสู่วัยชรา
ผู้หญิงให้ความหมายของการหมดระดูว่าอย่างไร?
ในสังคมของเราซึ่งสตรีวัยก่อนหมดระดูส่วนใหญ่มีมาตรการป้องกันการปฏิสนธิ ทำให้เราอาจคิดไปได้ว่าการกระทบกระเทือนทางอารมณ์จากการสิ้นสุดวัยเจริญพันธุ์เป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นเรื่องในด้านดี แต่ความจริงนั้นตรงกันข้ามเลยทีเดียว

เนื่องจากสังคมของเรามักเน้นหนักและให้ความสำคัญแก่บุคคลในวัยเจริญพันธุ์ ฉะนั้นในความคิดของผู้หญิงการหมดระดูย่อมหมายถึงการสูญเสียความเป็นหญิง ความรู้สึกทางเพศ ความเสื่อมโทรมของร่างกาย และความตาย การคาดการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่การเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นจริงๆได้เช่นกัน
แทนที่จะคิดอย่างนั้น หญิงวัยหมดระดูควรเอาใจใส่และสนใจกับชีวิตข้างหน้าที่ยังมีอยู่จะดีกว่า
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้เหตุผลของอาการขาดระดูว่าไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแต่เพียงอย่างเดียว แต่มาจากความตึงเครียดทางสังคม วัฒนธรรม และทางจิตใจหลายประการที่มีต่อหญิงในสังคมเรา เช่น การเผชิญหน้ากับความแก่ชรา การตายของบิดามารดา ลูกๆแยกครอบครัวออกไป หรือการไม่ชอบงานที่ทำอยู่ ในสังคมที่ยกย่องนับถือผู้อาวุโส สตรีจะไม่มีความเดือดร้อนลำบากใจกับการหมดระดูมากเท่าใดนัก
การมีความรู้และทัศนคติที่ดีจะช่วยลดความตึงเครียดและทำให้เกิดอาการของวัยของวัยหมดระดูได้น้อยลง

ปัญหาของการหมดระดูและวัยหลังหมดระดูมีขอบข่ายเพียงใด

เกือบร้อยละ 90 ของหญิงอเมริกันที่เผชิญกับการหมดระดู มีชีวิตประจำวันตามปกติโดยไม่มีอะไร จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความไม่สบาย ประมาณร้อยละ 10 หรือ 15 เท่านั้นที่เกิดอาการไม่สบายถึงขนาดที่ต้องไปพบแพทย์และรับการรักษา ความเดือดร้อนส่วนใหญ่ได้แก่อาการผิวแดงและร้อนผ่าว ซึ่งประมาณร้อยละ 65 ถึง 85 ของหญิงวัยหมดระดูจะต้องประสบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
อาการต่างๆที่จะบรรยายต่อไปนี้นั้น บางอาการอาจไม่ค่อยเกิดขึ้นแพร่หลายนัก และบางอาการอาจเกิดขึ้นหลังจากหมดระดูแล้วได้สัก 5 หรือ 10 ปี
ผิวแดงและร้อน เกิดจากเส้นเลือดฝอยเล็กๆภายใต้ผิวหนัง ก่อให้เกิดความรู้สึกร้อนผ่าวและทำให้ผิวหนังตามร่างกายแดง บางครั้งอาจตามมาด้วยการมีเหงื่อออกอย่างมากมาย แพทย์ลงความเห็นว่านี่เป็นการผิดปกติที่หาสาเหตุไม่พบ แต่อาจมีส่วนเกี่ยวโยงกับศูนย์การควบคุมอุณหภูมิร่างกายสมอง
อาการเช่นนี้เกิดอยู่ได้พักหนึ่งประมาณ 5 นาที สำหรับคนส่วนใหญ่การเกิดขึ้นจะทิ้งช่วงห่างออกไปและหายไปในที่สุดภายใน 1 ปี โดยปกติอาการเช่นนี้จะไม่มีผลอะไรมากนักกับผู้หญิงส่วนมาก แต่ก็มีบางคนที่เป็นอยู่นาน หรือเป็นอยู่ทุกๆ 2-3 นาที และอาจรบกวนการนอนหลับได้

การซึมเศร้า จิตแพทย์เคยเชื่อกันว่าหญิงวัยขาดระดูส่วนใหญ่อาจเกิดอาการซึมเศร้าอย่างร้ายแรงแบบหนึ่งเรียกว่า “ซึมเศร้าจากสภาวะถดถอย” แต่ว่าในปัจจุบันคำกล่าวนี้ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพราะจากการค้นคว้าพบว่าระหว่างวัยหมดระดูนั้น การซึมเศร้าอย่างร้ายแรงหรือปัญหาทางจิตใจมิได้เพิ่มมากขึ้น หรือเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าปกติแต่อย่างใดเลย
อย่างไรก็ตาม ความผันแปรทางอารมณ์ขึ้นๆลงๆชั่วคราวนั้นย่อมเกิดขึ้นอยู่บ้าง แพทย์หญิงไลลา เอ. วอลลลิส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาการพยาบาลแห่งวิทยาลัยคอร์เนลล์ นิวยอร์ก กล่าวว่า “ความหงุดหงิด ความไม่คงที่ของอารมณ์ (อารมณ์ผันแปรอย่างรวดเร็วและบ่อยครั้ง) และการซึมเศร้าเป็นพักๆ เกิดขึ้นได้เมื่อระดับเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ที่เกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวระหว่างการหมดระดูตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากการหมดระดูด้วยการตัดมดลูก” การอดนอนอันเนื่องมาจากผิวแดงและร้อนก็อาจทำให้อารมณ์หญิงหงุดหงิดได้มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก

การที่ผนังช่องคลอดและผนังทางเดินปัสสาวะบางตัวลง
โดยทั่วไปอาการนี้จะไม่เกิดขึ้นภายใน 5 ปี หลังการหมดระดู ในหญิงทุกคนที่มีอายุเกิน 60 ปี การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ขาดการเสริมสร้างเนื้อเยื่อของผนังบริเวณช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ ผนังบริเวณดังกล่าวเปราะบาง ขาดความยืดหยุ่น และอาจฉีกขาดหรือติดเชื้อได้ง่าย อาจเกิดความเจ็บปวดจากการร่วมเพศหรือเกิดช่องคลอดอักเสบได้ง่าย (เช่น การติดเชื้อของช่องคลอด อาการคัน หรือมีของเหลวไหลออกมา) แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ ข้อดีคือการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติจะช่วยให้เกิดการก่อตัวขยายผนังช่องคลอด และก่อให้เกิดผลในทางป้องกันได้

ถ้ามีการใช้วัสดุหล่อลื่น เช่น K-Y เยลลี่เพื่อป้องกันไม่ให้ช่องคลอดแห้งจนเกินไป การมีเพศสัมพันธ์ก็ย่อมเป็นไปได้ตามปกติ และโดยแท้จริงแล้วความต้องการทางเพศอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งทฤษฎีว่า ก่อนถึงวัยหมดระดูนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับจะมีส่วนยับยั้งความต้องการทางเพศได้

การที่ผนังทางเดินปัสสาวะบางตัวลงอาจนำไปสู่สาเหตุของ “การกลั้นไม่อยู่” ซึ่งเป็นการที่มีปัสสาวะไหลออกมาขณะที่ไอหรือจาม ผู้หญิงบางคนใช้วิธีฝึกขยับกล้ามเนื้อรอบๆกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอดให้หดตัว เช่นเดียวกับขณะกลั้นปัสสาวะ ถ้าทำเป็นประจำก็อาจช่วยในเรื่องนี้ได้มาก ถ้าทำอย่างนี้แล้วไม่ได้ผลก็ต้องรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

โรคกระดูกพรุน การสูญเสียแคลเซียมในกระดูกทำให้กระดูกบางลงได้นั้นก็คือกระดูกจะค่อยๆสลายตัวลงไป โพรงไขกระดูกขยายตัวขึ้น กระดูกร่วนและเปราะบาง อาจเกิดการแตกหรือหักระหว่างการก้มตัว การยกของหนัก หรือแม้แต่ระหว่างก้าวเดิน การหกล้มมักจะทำให้กระดูกแตกหักได้ง่าย จุดที่ควรต้องระมัดระวังมากที่สุดคือกระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง

โรคกระดูกพรุนคือ ผลร้ายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางที่สุดของการหมดระดูหญิงที่ผ่านวัยหมดระดูกว่า 1 ใน 4 ประสบกับการสูญเสียความสมบูรณ์ทางกระดูกอย่างมากจนถึงระดับเจ็บป่วย กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหักรวมทั้งสิ้นประมาณ 200,000 ราย ในอเมริกาแต่ละปี ซึ่งต้องรักษาด้วยเงินกว่าพันล้านเหรียญนั้นเป็นหญิงวัยหมดระดู และทุกๆปีผู้หญิงประมาณ 15,000 ราย ที่นอนป่วยอยู่กับที่เพราะกระดูกสะโพกหักต้องเสียชีวิตลงไปจากการติดเชื้อ มีการประมาณเอาไว้ว่า 1 ใน 4 ของหญิงอายุ 65 และครึ่งหนึ่งของหญิงอายุ 75 ปีประสบกับเหตุกระดูกสันหลังหรือกระดูกสะโพกหัก

กระดูกอาจเสื่อมสภาพได้ถึงร้อยละ 3 ต่อปี ภายใน 2-3 ปีแรกของการหมดระดู แล้วอัตรานี้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนอย่างร้ายแรงอาจสูญเสียกระดูกไปได้ถึงร้อยละ 30เมื่ออายุถึง 70 ปี
การสูญเสียกระดูกนั้นสามารถหลีกเลี่ยงป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นแล้วจะแก้ไขไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรตรวจหาความผิดปกติด้านนี้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่าในการตรวจร่างกายโดยทั่วไปจะไม่มีการตรวจเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ตาม นายแพทย์ เจ. วิลเลียม เฮนดริกซ์ นักวิจัยในแผนกพันธุ์เวชกรรมของบริษัทอัพจอห์น กล่าวว่า “ผู้หญิงจะสูญเสียกระดูกไปมากต่อมากก่อนที่จะเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา โรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มต้นไม่เคยเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงคนไหนไปพบแพทย์เลย เนื่องจากโรคนี้มันไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นนั่นเอง” การตรวจและวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โทโมกราฟฟี (CAT) หรือการดูดซึมโฟตอนนั้นมีราคาแพง และสามารถทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าอาการเจ็บหลังบริเวณส่วนล่างและโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มฟัน (เนื้อฟันใต้เหงือกเสื่อมสภาพ) คือสัญญาณระยะเริ่มต้น การสูญเสียความสูงของร่างกายและอาการหลังโค้งงอจะเกิดขึ้นได้ในรายที่เป็นโรคกระดูกพรุนอย่างร้ายแรงเท่านั้น

แพทย์แนะนำว่าหญิงที่มีความเสี่ยงสูงควรเอาใจใส่สนใจที่จะเข้าทำการตรวจรักษาเสียแต่เนิ่นๆ คนกลุ่มนี้ได้แก่หญิงที่มีโครงกระดูกบาง ร่างผอม เฉื่อยชา สูบบุหรี่จัดและดื่มสุรามาก กินอาหารมีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินดี

เตรียมตัวเผชิญกับการหมดระดู
นอกเหนือไปจากข้อแนะนำเพื่อการส่งเสริมสุขภาพตามปกติแล้ว ยังมีคำแนะนำโดยเฉพาะที่สตรีพึงถือปฏิบัติทั้งก่อนการหมดระดู ระหว่างหมดระดู และหลังจากนั้น หลายประการ เพื่อหลีกเลี่ยงและลดปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
1. เรียนรู้เรื่องของการหมดระดู ควรรู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ การรู้จักแยกข่าวลืออันเป็นเท็จออกจากข้อความจริงในความคิดของคุณจะทำให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น
2. คุยกับคุณแม่ของคุณ ลองสอบถามดูว่าการหมดระดูของคนในครอบครัวนั้นเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มว่าโรคกระดูกพรุน มะเร็ง หรือโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดจะมีโอกาสถ่ายทอดกันทางกรรมพันธุ์ได้หรือไม่ ไม่ควรคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าละอาย
3. ออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตรอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง
4. การกำหนดอาหารควรเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมต้องการ แคลอรี ไขมัน และน้ำตาลน้อยลง สิ่งที่ร่างกายต้องการมากขึ้นได้แก่ แคลเซียม เกลือแร่ต่างๆ วิตามินเสริม (ปริมาณปานกลาง) และโปรตีนให้พอเพียง ควรดื่มน้ำให้มากๆ เพราะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับปัสสาวะได้
5. เลิกสูบบุหรี่ และอย่าดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
6. การทำงานที่ถูกใจไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอาสาสมัคร จะช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเองและรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม
7. ถ้าจำเป็นควรใช้สารหล่อลื่นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ช่องคลอดแห้งจนเกินไป
8. ดูแลรักษาร่างกายให้ดีๆ ควรควบคุมน้ำหนัก พักผ่อนให้มากๆ และเอาใจใส่กับปัญหาสุขภาพเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
9. ถ้าคุณต้องการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ก็ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับอายุของคุณ เรื่องนี้ควรปรึกษาแพทย์
10. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกำหนดการตรวจร่างกาย และคุยกับแพทย์เรื่องปัญหาของคุณบ้างเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

 


 

ข้อมูลสื่อ

97-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
อื่น ๆ