• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปตรวจโรคผิวหนัง...ต้องทำอย่างไร?

ไปตรวจโรคผิวหนัง...ต้องทำอย่างไร?


(ตอนที่ 1) การซักประวัติโรคผิวหนัง
 
ปัญหาโรคผิวหนัง เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก อีกทั้งผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญทางสังคม จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาผิวหนังเพียงเล็กน้อยอาจเกิดความกังวลใจมากกว่าเป็นโรคของระบบอื่นที่ร้ายแรงกว่า
โรคผิวหนังเกือบทั้งหมดไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่โรคผิวหนังหลายอย่างก็อาจก่อให้เกิดความไม่สบาย อับอาย หรือทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทางสังคมตามมาได้

เมื่อปี พ.ศ.2545 ที่สหราชอาณาจักร พบว่าผู้ป่วย ที่มาพบแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 10 ราย ต่อ 1,000 ราย จะมีปัญหาผิวหนังเรื้อรัง สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคผิวหนัง และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังประมาณปีละ 5 ล้านรายเมื่อไปพบแพทย์ผิวหนังนั้น แพทย์จะทำอะไรให้

การซักประวัติ

แพทย์ผิวหนังจะซักประวัติตามลำดับดังนี้
1.รอยโรคเกิดมานานแค่ไหน?
ผู้ป่วยมักบอกแพทย์ได้ว่าพบรอยโรคที่เห็นตอนตรวจมานานแค่ไหน แต่อาจบอกไม่ได้ว่ารอยโรคแรกเกิด เมื่อใด ผื่นผิวหนังบางอย่างจะเกิดทันที (เช่น ผื่นแพ้ยา) ผื่นบางอย่างค่อยๆ เกิด (เช่น เกลื้อน)

2.รอยโรคแรกเกิดที่ใด?
ตำแหน่งของรอยโรคอาจช่วยในการวินิจฉัย

3. รอยโรคมีอาการหรือไม่?คันไหม?
รอยโรคบางอย่าง เช่น โรคหิด โรคผิวหนังอักเสบ เอ็กซีมา อาจมีอาการคันมากเจ็บปวดไหม?รอยโรคผิวหนังเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ ตัวอย่างเช่น โรคไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ และงูสวัด (ภาพที่ 1)
 

4. ประวัติการใช้ยาทาและยากิน
ยาทาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้ แพทย์จะสอบถามรายละเอียดการใช้ยา ถามว่ามีการใช้ยาตัวใดระยะที่ผื่นกำเริบ แพทย์ผิวหนังมักได้รับคำปรึกษาว่าผื่นที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือไม่ กรณีนี้แพทย์จะถามข้อมูลยาต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนผื่นขึ้น และยังได้รับยาอะไร
ปัจจุบันผู้ป่วยบางรายได้รับการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกและอาจเข้าใจว่ายาหรือสมุนไพรที่ได้รับไม่จัดเป็นยาในความหมายของแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์จึงอาจสอบถามรายละเอียดถึงการรักษารูปแบบอื่น ตลอด จนถึงยาที่ซื้อมาใช้เองด้วย

5. ประวัติการแพทย์ทั่วไป
ความเจ็บป่วยของอวัยวะต่างๆ อาจแสดงอาการออกมาทางผิวหนังได้ ดังแสดงในตารางที่ 1

               
 
6. ประวัติอาชีพและงานอดิเรก
โรคผิวหนังที่เกิดจากการทำงานพบได้บ่อย อาชีพบางอย่างก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสได้บ่อย (ตารางที่ 2) หลักฐานที่สนับสนุนว่าน่าจะเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการทำงาน คือ
o พบโรคผิวหนังชนิดเดียวกันในผู้ที่ทำงานแห่งเดียวกันอีก
o ความสัมพันธ์ระหว่างเวลาการสัมผัสสารและการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบ
o ผื่นผิวหนังดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่ได้ไปทำงาน
แพทย์จะถามถึงงานอดิเรก สันทนาการและกีฬาที่ผู้ป่วยทำและเล่น เพราะกิจกรรมเหล่านั้น อาจทำให้เกิด
การแพ้สัมผัสได้โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและไม่ได้นึกถึง

7. ประวัติครอบครัว
โรคผิวหนังบางชนิดอาจมีประวัติกรรมพันธุ์ร่วมด้วย เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังภูมิแพ้ และโรคผิวเกล็ดปลา (ichthyosis)

8. ประวัติสัมผัสโรค
โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคตุ่มพุพอง (impetigo ภาพที่ 2) โรคหิด สามารถติดจากผู้อื่นได้ แพทย์จึงต้องซักประวัติการสัมผัสโรค และมีการให้สุขศึกษาเพื่อป้องกันการติดโรคซ้ำ

     

9. ปัจจัยกระตุ้นให้โรคมีอาการกำเริบ
ผื่นผิวหนังบางอย่างกำเริบหลังได้รับรังสียูวีจากแสงแดด เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่มักมีผื่นกำเริบตามบริเวณที่ถูกแสงแดดช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีผื่นคล้ายคลึงกับผื่นของโรคผิวหนังภูมิแพ้
แสงแดดยังทำให้ผื่นของโรคลูปัส (LE) กำเริบ
ขณะที่โรคสะเก็ดเงินมักมีอาการดีขึ้นเมื่อถูกแสงแดด แพทย์จึงต้องถามถึงปัจจัยกระตุ้นให้ผื่นกำเริบ เช่น ความร้อน ความเย็น การออกกำลังกาย และการมีประจำเดือน

10. ประวัติการเดินทาง
แพทย์จะถามประวัติการเดินทาง เช่น ถ้าพบรอยโรคที่มีลักษณะแปลกและไม่คุ้น ถ้าแพทย์ทราบว่าเคยไปอยู่แถบตะวันออกกลาง ก็อาจทำให้แพทย์นึกถึงโรค leishmaniasis ได้ หรือที่สหรัฐอเมริกา แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักโรคตัวจี๊ด แต่ถ้าทราบว่าผู้ป่วยมาจากไทย ลาว เวียดนาม ก็อาจทำให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

11. ประวัติการเปลี่ยนแปลงของสีในโรคผิวหนังที่เกิดจากเม็ดสี
พบอุบัติการณ์ของมะเร็งไฝดำ (malignant melanoma ภาพที่ 3) สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยที่รอยโรคเกิดจากเม็ดสีที่มีการเปลี่ยนแปลง แพทย์จะถามถึงประวัติ การถูกแสงแดดชั่วชีวิต เวลาถูกแดดผิวไหม้แดดง่ายไหม ประวัติครอบครัวว่ามีไฝมากน้อยแค่ไหน หรือมะเร็งผิวหนัง เมื่อตรวจรอยโรคที่เกิดจากเม็ดสีแพทย์จะถามถึง
o การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของรอยโรค
o ขนาดโตขึ้นหรือไม่
o สีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ (สีดำขึ้นไหม มีสีหลายสีเพิ่มขึ้นไหม)
o ขอบเขตเปลี่ยนแปลงหรือไม่
o รอยโรคนูนขึ้นหรือไม่ (จากขอบเรียบเป็นไม่ เรียบ)?
o มีอาการใหม่ๆ หรือไม่ (เช่น อาการคัน เลือดออก)
 

ข้อมูลสื่อ

335-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร