ครึ่งชีวิตยามตื่นของเด็กไทยหมดไปกับสื่อร้าย
เด็กต้องเผชิญกับสื่อประเภทหนัง ละครไทยที่มีฉากยั่วยุทางเพศ หรือมีฉากรุนแรง 3 ฉากทุก 1 ชั่วโมง และเด็กร้อยละ 30 ยังเสพสื่อลามกเป็นประจำ
พบแนวโน้มเด็กไทยใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และมือถือ เป็นเทคโนโลยีที่เด็กไทยนิยมใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมเวลาการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ดูจะมีสื่อร้ายมากกว่าสื่อดี ทั้งสื่อลามก (วัยรุ่นไทยร้อยละ 30 เสพสื่อลามก) สื่อรุนแรงต่างๆ (ละครไทยมีฉากตบตีเตะตื้บ 3 ครั้งต่อชั่วโมง) พร้อมระบุกลไกที่คุมทิศทางสื่ออยู่ในขณะนี้คือ กลไกตลาดที่มีกิเลสมนุษย์เป็นเข็มทิศมากกว่าสติปัญญาหรือความดีงาม
โลกยุคข้อมูลข่าวสาร " สื่อ " เป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลยิ่งต่อสังคมที่ไม่เพียงแต่เพื่อการสื่อสารหรือการให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว แต่ยังมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วย ปัจจุบันพบว่าเด็กทั่วโลกต่างเกิด เติบโต และตกอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมสื่อที่ถือเป็นสิ่งแวดล้อมและปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโทรทัศน์ที่เปรียบเสมือนเพี่อนประจำบ้านของเด็กซึ่งพบว่า เด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับการดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยประมาณ 3-5 ชั่วโมง ไม่รวมสื่ออินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่สื่ออื่นๆ ในเร็ววันนี้
ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน เรื่อง "ชีวิตไซเบอร์" ในโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับสถาบันรามจิตติ ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนทั้งสิ้น 3,360 คนครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ใน 7 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล รวม 14 จังหวัด พบว่า เด็กใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตกับสื่อเทคโนโลยีต่างๆ
o เด็กคุยโทรศัพท์เฉลี่ยวันละประมาณ 1 ชั่วโมง ส่ง sms วันละ 2 ครั้ง โหลดภาพ
เพลงริงโทนวันละ 2 รอบ
เด็กผู้หญิงมีระยะเวลาการคุยมากกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อย เทียบเป็น 67.38 และ 59.38
นาทีต่อวัน ตามลำดับ
เด็กระดับอุดมศึกษาคุยโทรศัพท์ต่อวันนานที่สุด 82.12 นาทีl
o เช็กอีเมล์ แชต อ่านข่าว ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตประมาณวันละ 1 ชั่วโมง
เด็กผู้หญิงจะใช้เวลาเช็กอีเมล์บ่อยกว่าผู้ชาย และใช้เวลาค้นข้อมูลหรืออ่านข่าวจากอินเทอร์เน็ตนานกว่า แต่ใช้เวลาการแชตใกล้เคียงกัน
เด็กมัธยมปลายนิยมเข้าไปแชตสูงสุด โดยใช้เวลาเฉลี่ย 92.86 นาทีต่อวัน
o ฟังเพลงจาก MP3/CD 2 ชั่วโมง
เพศหญิงฟังเพลงมากกว่าเพศชายเล็กน้อยที่ 128.02 นาทีต่อวัน เทียบกับ 117.10 นาทีต่อวัน
o ดูหนังจาก ซีดี วีซีดี วิดีโอ 2 ชั่วโมง
เพศชาย ดูหนังมากกว่าเพศหญิง เล็กน้อยที่ 139.01 นาทีต่อวัน 113.11 นาทีต่อวัน
o เล่นเกมคอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมง
เพศชายเล่นเกมมากกว่าอย่างชัดเจนโดยเฉลี่ย 133.69 นาทีต่อวัน เทียบกับเพศหญิง 92.09 นาทีต่อวัน
เด็กไทยขณะนี้เหมือนตกอยู่ในวงล้อมสื่อร้าย และอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติ ในโครงการการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) และจากการศึกษาเรื่อง " รู้สาร ทันสื่อ " รวมถึงโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)ตลอดจนข้อมูลจาก
รายงานของศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงเอกสารวิชาการในเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักวิจัย เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ล้วนให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า แม้ปัจจุบันเด็กไทยจะมีโอกาสเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น แต่การเข้าถึงสื่อส่วนใหญ่ของเด็กก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากสื่อที่ด้อยคุณภาพ
เสี่ยงเรื่องเพศ เซ็กซ์ผิด
วัยเด็กต้องเผชิญกับสื่อประเภทหนัง ละครไทยที่มีฉากยั่วยุทางเพศ หรือฉากรุนแรง ๓ ฉากทุก 1 ชั่วโมง และเด็กร้อยละ 30 ยังเสพสื่อลามก (การ์ตูน VCD เว็บโป๊ ภาพโป๊ทางมือถือ) เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย
ส่วนเด็กอาชีวะเป็นกลุ่มที่เข้าไปดูเว็บโป๊มีอัตราส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 37.7 ตามมาด้วยเด็กมหาวิทยาลัย ร้อยละ 31.6 ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กจำนวนมากที่เข้าถึงสื่อประเภทอินเทอร์เน็ตนั้น แม้จะไม่ได้ตั้งใจดูสื่อลามก ก็ยังเสี่ยงต่อสื่อไซเบอร์เซ็กซ์ต่างๆ ที่มีการประมาณว่า
ปัจจุบันมีเว็บไซต์เฉพาะเว็บลามกประเภท" ยั่วยุ กามารมณ " ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านเว็บ ซึ่งการเสพสื่อลามกหรือสื่อรุนแรงมีผลต่อทัศนคติทางเพศและต่อการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
สื่อรุนแรง "โหด มันส์ เหี้ยม "
เด็กร้อยละ 70 ชอบดูหนังยิงกันฆ่ากัน ขณะที่เด็กติดเกมร้อยละ 80 เล่นเกมต่อสู้ ซึ่งการเข้าถึงสื่อเหล่านี้มีผลกระทบต่อเด็กไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมที่ชอบการแข่งขัน เอาชนะกัน การต่อสู้และการใช้ความรุน
แรงของเด็ก เป็นต้น
บรรดาสื่อรุนแรงนั้นนอกจากโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไปแล้ว ยังพบด้วยว่าสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่ส่งผ่านภาพรุนแรงที่น่าเป็นห่วง ปัจจุบันมีเว็บเกมออนไลน์กว่า 10 ล้านเว็บที่สืบค้นได้จาก Google และโดยมากเกมเหล่านี้จะต้องแข่งขันหรือต่อสู้ หรือไม่ก็เป็นเกมลามกที่มีภาพความรุนแรงหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงกับตัวละครในเกม
เสี่ยงสุขภาพ
เด็กใช้เวลากับสื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต มือถือ sms รวมกันวันละกว่า 7 ชั่วโมง
ส่วนที่สัมพันธ์กับสุขภาพคือเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการใช้เวลากับสื่อนานเกินไป หรือบางกรณี เช่น เด็กติดเกมอาจเสี่ยงต่อการอดหลับอดนอนเพราะเล่นเกมมากเกินไป
เสี่ยงต่อสมองฝ่อ
เด็กร้อยละ 41.4 บอกว่าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงมากกว่าความรู้
ขณะที่เด็กเล็กใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 3 ชั่วโมงกับการดูโทรทัศน์ ทั้งที่มีข้อมูลวิชาการเสนอว่าการดูโทรทัศน์เกิน 2 ชั่วโมงของเด็กเล็กจะมีผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ การเสพสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ไม่ว่าวัยใดล้วนมีผลกระทบต่อสมองและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
เสี่ยงต่อการเสพติด
มีรายงานว่าสื่อต่างๆ เป็นช่องทางหนึ่งที่มีส่วนทำให้เด็กดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไปจนถึงการใช้สารเสพติดเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นโดยทั่วไป
เสี่ยงเป็นเหยื่ออาชญากรรม
เสี่ยงเป็นเหยื่อ " ผู้ร้ายไร้สังกัด อาชญากรไร้ตัวตน " โดยเฉพาะปัญหาการตกเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งสื่ออินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่ดูจะเป็นช่องทางของผู้ร้ายยุคใหม่ที่บางครั้งปรากฏตัวผ่านการล่อลวงขายสินค้า จัดหางาน นัดหาคู่ หรือชักชวนให้เล่นการพนันผ่านเว็บ ผ่านมือถือ
ปัญหาของการใช้ชีวิตติดสื่อที่ผนวกกับการเข้าถึงสื่อที่ด้อยคุณภาพกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเสี่ยงต่อการเสพสื่อที่ดูจะมีสื่อร้ายมากกว่าสื่อดี
ดังนั้น ผลกระทบที่ตามมาจึงไม่ใช่เฉพาะผลที่มีต่อตัวเด็กเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมไทย เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องดำเนินการให้การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการรู้เท่าทันสื่อยุคโลกาภิวัตน์ให้มากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้สื่อทุกประเภทเป็นมิตรต่อการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก และช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเด็กทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม ให้เป็นกำลังคนที่เข้มแข็งของประเทศชาติ
ขจัดร้าย ขยายดี มีภูมิคุ้มกัน
สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญด้านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนประกอบด้วย"ขจัดร้าย ขยายดี มีภูมิคุ้มกัน"
1.ขจัดร้าย
ลดปัจจัยเสี่ยงรวมถึงการมีมาตรการควบคุมจัดระเบียบสื่อที่ไม่เหมาะสมให้เป็นรูปธรรม เช่น การกวาดล้างสื่อลามก" สื่อเผาใจเด็ก " ให้เด็ดขาด การแยกประเภทหรือ rating สื่อตามเนื้อหาและกำหนดพื้นที่และกฎหมายควบคุมการจำหน่ายให้ชัดเจน การเพิ่มโทษผู้ผลิตและจำหน่ายสื่อที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
2. ขยายดี
เพิ่มพื้นที่ สื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน โดยโรงเรียน สถาบันศาสนา ชุมชน เอกชน มีรัฐให้การสนับสนุน ภายใต้ความคิด"สื่อดีรายการทีวีดี คนฉลาดพร้อมกันทั้งชาติ "ซึ่งรัฐอาจสนับสนุนในรูปกองทุนส่งเสริมคนทำหนังละครสร้างสรรค์ การมีช่องโทรทัศน์ครอบครัว เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมและพื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้เสริมแก่เยาวชน
3. มีภูมิคุ้มกัน
การส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวและการเลี้ยงดูเด็ก การส่งเสริมบทบาทสื่อและสถานศึกษาในการสร้างค่านิยมที่ดีให้เด็ก รวมถึงการลงทุนระบบวิจัยเพื่อการศึกษาติดตามและเฝ้าระวังทางสังคม และโดยเฉพาะการเน้นบทบาทสื่อ Media Education หรือ Media Literacy การส่งเสริมเด็กให้การบริโภคสื่ออย่าง " รู้เท่าทันสื่อ "
การใช้เทคโนโลยีให้ได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวและสถานศึกษาจะต้องมีส่วนอย่างมากในการแนะนำ ปลูกฝัง และชี้นำการเรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกหลานเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากกว่าเป็นทาสของเทคโนโลยี
- อ่าน 3,770 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้