• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การควบคุมของระบบประสาทในอาสนะ

การควบคุมของระบบประสาทในอาสนะ


ดังได้กล่าวไปแล้ว ทั้งจากหลักการของอาสนะและคำอธิบายของเชอริงตันโดยทั่วไป อิริยาบถที่นิ่ง สงบนั้น คือการที่กลไกระบบประสาทกล้ามเนื้อประสานงานกันได้พอเหมาะและใช้พลังงานน้อยที่สุด

การคงสภาพและจัดปรับของอิริยาบถขึ้นกับการทำงานร่วมกันของระบบประสาทอัตโนมัติที่ละเอียดอ่อน มากมายประสานกับกล้ามเนื้อ ซึ่งกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถูกควบคุมโดยกลไกตอบสนองอันซับซ้อน นี่คือจุดสำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจกลไกของอาสนะ คงต้องขออภัยผู้อ่านที่เราเน้นย้ำเรื่องพฤติกรรมการตอบสนองและพฤติกรรมทางอารมณ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันสำคัญไม่ใช่เฉพาะเพียงอาสนะเท่านั้น แต่กับทุกๆ การฝึกของโยคะ ในความเป็นจริง ตลอดการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการฝึกของโยคะ เราจะใส่ใจกับ "การจัดปรับอย่างสมดุลของกลไกตอบสนอง" (tonic reflexes) ซึ่งไม่เพียงเป็นการใช้พลังงานอย่างประหยัดเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของกลไก กาย-จิต สัมพันธ์ ซึ่งรับผิดชอบต่อพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์

การรักษาสภาวะของกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อ โดยปกติร่างกายจะนิ่งอยู่ในอิริยาบถ การที่เราสามารถเคลื่อนไหวออกจากอิริยาบถได้ทันที กล้ามเนื้อจะต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง คำเปรียบเทียบในอดีตก็คือสายธนู ธนูจะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อขึงสายธนูได้พอเหมาะ หากหย่อนเกินไป ก็ไม่สามารถยิงลูกธนูได้ ถ้าขึงจนตึงเกินไป ลูกธนูก็แล่นเลยเป้าหมาย

เช่นเดียวกัน หากมนุษย์มีสภาวะทางประสาทที่เครียด ที่สูงกว่าปกติ เราก็เรียกว่าเขา "ตึง " เกินไปสภาวะเช่นนี้ทำให้กลไกตอบสนองต้องทำงานมากขึ้น ต้องสำรองพลังงานเพื่อเตรียมไว้มากกว่าปกติ ซึ่งก็ คือการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์นั่นเอง ผล ก็คือ เกิดความเหนื่อยล้าได้ง่าย ไม่ได้พักอย่างแท้จริง แม้คนคนนั้นอยากจะพัก อยากจะนอนหลับก็ตาม หรือเปรียบได้กับเครื่องดนตรี เช่น ไวโอลิน ไวโอลินจะให้เสียงที่ไพเราะเมื่อจัดปรับได้เหมาะสม สุขภาพที่แท้จริงก็มาจากสมดุลระหว่างสภาวะ ที่สุดโต่งทั้ง 2 ด้าน (ที่ปตัญชลีใช้คำว่า ระหว่างความเป็น 2 dvandva) กล่าวคือ ระหว่างด้านตรงกันข้าม 2 ด้าน จะมีความบรรสาน ความกลมกลืน ซ่อนอยู่นั่นเอง เรามักมองไม่เห็นหรือมองข้าม สภาวะแห่งความบรรสานนี้ ดังที่เฮราคลิทัส (Heraclitus) กล่าว" มนุษย์ไม่รู้ถึงความขัดแย้งภายใน ซึ่งคือการปรับเพื่อจะอยู่ร่วมกันของสภาวะที่ตรงกันข้าม เปรียบได้กับธนูหรือพิณ" และอาสนะในโยคะก็คือ ความพยายามที่จะหาความกลมกลืน ในสภาวะที่แตกต่างกัน

ระดับของกล้ามเนื้อที่กำลังพักสามารถวัดค่าได้โดยการจับ โดยการออกแรงเบาๆ กดลงไปที่กล้ามเนื้อนั้น หรือโดยการวัดความต้านทานของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อนั้นถูกเหยียดยืดออก หากความต้านทานของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถูกเหยียดยืดออก เราเรียกว่า ไฮเพอร์โทเนีย แต่ถ้าความต้านทานของกล้ามเนื้อลดลง ในแต่ละครั้งที่เราเหยียดกล้ามเนื้อ เราเรียกว่าไฮโพโทเนีย สภาวะที่ความต้านทานของกล้ามเนื้อลดลงต่ำสุด ผนวกกับสภาวะที่กลไกตอบสนองไม่ทำงาน (ไฮโพรีเฟล็กซ์) เรียกว่า
" กล้ามเนื้อหย่อนยาน "ในทางตรงกันข้าม สภาวะที่ความต้านทานกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นๆ ประกอบกับกลไกตอบสนองที่สูงกว่าปกติ เรียกว่า " กล้ามเนื้อ หดเกร็ง" อัมพาตของกล้ามเนื้อแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะอ่อนปวกเปียก หรือหดเกร็ง

โดยทั่วไปกล้ามเนื้อจะรักษาความสมดุล เพื่อให้ มีความพอเหมาะต่อการอยู่ในอิริยาบถนิ่งๆ ขณะเดียว กันก็มีความพร้อมต่อการเคลื่อนไหวในทันทีทันใด หากสมดุลนี้ถูกรบกวน เช่น จากโรค จากอาการต่างๆ จากความผิดปกติที่เราจะเคลื่อนไหวได้โดยอัตโนมัติ เรา ก็จะขาดความสามารถในการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อจะอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นปกติ เช่น หดเกร็ง แข็งตัว อ่อนปวกเปียก ฯลฯ

นอกจากโรคแล้ว การรบกวนภาวะของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นจากสภาวะของความเครียดในชีวิตประจำวัน ความเครียดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไก กาย-จิต สัมพันธ์ ซึ่งมีผลกับการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อ เหยียดยืดมากหรือน้อยเกิน อารมณ์ บุคลิก มีผลต่อระบบประสาทโดยรวม และสะท้อนออกมายังกิริยาท่าทางของเรา ยกตัวอย่างเช่น ความร่าเริง ความสุข ความเชื่อมั่นจะกระตุ้นและทำให้เราตื่นตัว ทำให้กล้ามเนื้อเรามีแนวโน้มที่จะเหยียดกว่าปกติ เราจะแอ่นอก เชิดศีรษะ ส่วนในทางกลับกัน เมื่อไม่สบายใจ กำลังมีความ ขัดแย้ง รู้สึกต่ำต้อย กล้ามเนื้อจะอ่อนตัวกว่าปกติ เราจะก้มศีรษะ หลังค่อม ส่วนความโกรธทำให้กล้ามเนื้อเหยียดตึงสุด รวมถึงการที่กล้ามเนื้อสั่น ความกลัวจะทำให้การสั่นเพิ่มมากขึ้น ความกลัวถึงขีดสุดอาจทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรงแบบทันทีทันใด ทำให้คนล้มฟุบลง จึงเป็นที่แน่นอนว่า จิตใจมีผลต่อร่างกาย ไม่ว่าจะชั่วครั้งชั่วคราวหรือถาวร ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ความสัมพันธ์ นี้จะเกิดขึ้นในเชิงกลับกัน กล่าวคือการพัฒนากล้ามเนื้อ อย่างมีสติจดจ่อจะส่งผลไปยังอารมณ์จิตใจได้หรือไม่ ดูเหมือนว่าโยคะพิสูจน์ให้เราเห็นว่า "ได้ " โดยเฉพาะหากเราทำอย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยการฝึกท่าโยคะอาสนะ ทำให้ภาวะของกล้ามเนื้อกลับคืนสู่ความเป็นปกติ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะของกล้ามเนื้อคือ
1.พื้นฐาน กาย-จิต ที่มั่นคง
2.สุขอนามัยที่ดี ทั้งกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารและการนอน
3. การเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติโดยอิสระอย่างเต็มที่
4. การพัฒนาและรักษาอิริยาบถที่เหมาะสมจนเป็นนิสัย

" อาสนะในโยคะก็คือ ความพยายามที่จะหาความกลมกลืน ในสภาวะที่แตกต่างกัน"


                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

ข้อมูลสื่อ

333-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์