• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาสำคัญกว่าที่คิด (1)

ยาสำคัญกว่าที่คิด (1)


เมื่อเจ็บป่วย ยาคือปัจจัยสำคัญที่จะใช้ต่อสู้โรคร้าย หน้าที่ของหมอคือจัดยาอย่างถูกต้องทั้งชนิดและความแรง เพื่อให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ

เรื่องของยามีประเด็นสำคัญที่พวกเราอาจไม่สนใจ แต่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทั้งผู้ให้การรักษาพยาบาลและคนไข้พึงรับรู้ เพื่อให้ได้รับยาที่ทรงอิทธิฤทธิ์พิชิตโรคร้าย โดยไม่แว้งกลับมาทำร้ายตัวคนไข้

ให้ยาอย่างไรจึงทำร้ายคนไข้

การให้ยาที่เกิดผลร้ายมีหลายกรณี ยกตัวอย่าง เช่น ได้รับยาผิดชนิด ผิดขนาด ผิดเวลา แพ้ยา หรือได้ยาหลายชนิด และยาแต่ละชนิดทำลายฤทธิ์ซึ่งกันและกันมาตรฐานการให้ยาผู้ป่วยในโรงพยาบาลยึดหลัก 6 R (Right person, Right drug, Right dose, Right time, Right route, Right technic ) กล่าวคือ ให้ยาถูกคน ถูกชนิดยา ถูกขนาดความแรง ถูกเวลา ถูกวิธี เช่น ยาฉีด ยากิน ยาเหน็บ ยาทา และถูกเทคนิค เช่น เคี้ยวยา ก่อนกลืน กลืนทั้งเม็ดห้ามบด ฉีดเข้าเส้นช้าๆ เป็นต้น

ระยะหลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ได้พัฒนากระบวนการให้ยาเพื่อรักษามาตรฐาน และเพิ่มความปลอดภัยแก่คนไข้ ได้แก่
การจัดระบบให้เภสัชกรเห็นคำสั่งยาของแพทย์ โดยตรง ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของ ยาโดย 3 วิชาชีพ กล่าวคือ เมื่อแพทย์สั่งยา เภสัชกรอ่านลายมือแพทย์โดยตรงและจัดยามาให้ พยาบาลซึ่งอ่านชื่อยาจากลายมือแพทย์โดยตรงเช่นกัน ตรวจสอบยาที่ได้รับจากเภสัชกร ถ้าตรงกันก็เป็นดับเบิ้ลเช็ก ถ้าไม่ตรงกันก็มาดูว่าใครอ่านผิดหรือจัดยาผิด

บางโรงพยาบาลเภสัชกรจะจัดยาสำหรับให้คนไข้แต่ละครั้ง เมื่อพยาบาลได้ยาแล้ว สามารถใช้กับคนไข้ได้เลย เรียกว่า Unit dose ส่วนการจัดมาเป็นซองโดยนับเป็นจำนวนวัน พยาบาลต้องมาแบ่งให้คนไข้อีกครั้ง อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้

บางโรงพยาบาลเมื่อได้ยาแล้ว พยาบาลจะนำไปเก็บไว้ในตู้ยาของคนไข้ในห้องคนไข้ โดยไม่ให้ปะปนกับยาของคนไข้อื่น เมื่อจะให้ยาคนไข้ ก็เข้าไปไขกุญแจเอายาต่อหน้าคนไข้และญาติ
โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง สำหรับยาที่อันตราย เช่น มอร์ฟีน จะเก็บใส่ตู้แยกเอาไว้ ซึ่งจะเปิดได้ต้องใช้กุญแจ 2 ดอกเปิดพร้อมกัน โดยแยกกุญแจคล้องคอพยาบาล 2 คน เมื่อต้องใช้ยา พยาบาล 2 คนต้องมาพร้อม กัน และช่วยกันตรวจสอบยาที่จะให้ผู้ป่วย เรียกว่ากระบวนการเพื่อความปลอดภัยกำลัง 2

การให้ยาถูกคน

โดยจัดระบบตามมาตรฐานการกระจายยา เมื่อจะให้ยาคนไข้ จะมีการสอบถามชื่อ นามสกุล และตรวจสอบป้ายข้อมือของคนไข้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัว
สำหรับโรงพยาบาลที่มีคนไข้อยู่ในห้องรวมกันหลายๆ คน ก็จะจัดกล่องเก็บยาคนไข้แยกเป็นคนๆ โดย ระบุชื่อและเตียงคนไข้ไว้ที่กล่องชัดเจน บางโรงพยาบาล จัดทำเป็นรถเข็น ซึ่งประกอบด้วย ลิ้นชักหลายๆ ลิ้นชัก แต่ละลิ้นชักจัดเก็บยาของคนไข้แต่ละคน เมื่อถึงเวลาให้ยา พยาบาลเข็นรถนี้ไปที่เตียงคนไข้

ถ้าเป็นยาฉีดก็ผสมยาและฉีดให้เสร็จเป็นคนๆ ไม่ใช้วิธีเตรียมยาล่วงหน้าใส่กระบอกฉีดยาที่เคาน์เตอร์พร้อมๆกันหลายๆคน เพราะมีโอกาสสลับยากันได้
ถ้าเป็นยากินก็หยิบยาจากลิ้นชักของคนไข้ทีละคนเช่นเดียวกัน บางโรงพยาบาลกวดขันถึงกับต้องให้คนไข้กินยาต่อหน้า เพื่อให้กินยาทุกเวลาและป้องกันการลืมกิน

กินยาให้ถูกขนาด

การกินยาให้ถูกขนาดและถูกเวลาเป็นเรื่องที่หลายครั้งคนไข้ปฏิบัติยาก และไม่เข้าใจเหตุผล ทำให้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง
การให้ยาก่อนหรือหลังอาหารสำหรับยาแต่ละตัวนั้นอาจมีเหตุผลต่างกันบางตัวถ้าให้ขณะมีกรดออกในกระเพาะฤทธิ์กรดจะทำลายฤทธิ์ยาบางตัวที่ต้องให้ก่อนอาหาร เพราะอาหารจะทำให้การดูดซึมยาได้ช้าลง หรือยาบางอย่างเมื่อปนกับอาหารจะทำให้เปอร์เซ็นต์การดูดซึมได้น้อยลง ยาบางอย่างการกินต้องทิ้งช่วงเวลาห่างเท่าๆ กัน เช่นทุก 12 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับความเข้มข้นของยาในเลือดสูงเพียงพอที่จะควบคุมเชื้อโรคได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพราะหากช่วงเวลาการให้ไม่เท่ากัน และระดับความเข้มข้นของยาในบางช่วงเวลาต่ำเกินไปจะทำให้เชื้อโรคนั้นดื้อยาได้

การแนะนำให้กินยาก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือก่อนนอน โดยคนไข้ไม่เข้าใจเป้าหมายอย่างถ่องแท้ บางครั้งจึงเกิดผลเสีย เช่น คนไข้บางคนไม่กินอาหารเช้า กินเพียงวันละ 2 มื้อ ก็ได้ยาเพียง 2 ครั้ง คนไข้บางคนทำงานเป็นกะการกินการนอนแต่ละวันไม่ใช่เวลาเดียวกัน

การกินยาให้ถูกขนาดบางครั้งก็เป็นปัญหาอย่างเรื่องของคุณยายคนนี้
คุณยายเป็นโรคความดันเลือดสูงรักษาอยู่หลายปี หมอสังเกตว่าความดันของยายขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนไม่ได้ วันหนึ่งคุณหมอจึงสอบถามเรื่องการกินยาว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่
"ยาลดความดันยายกินทุกวัน ตอนเช้าครึ่งเม็ด"คุณยายเล่า
คุณหมอเพิ่งสังเกตว่ายาในซองของโรงพยาบาล ไม่ได้ตัดแบ่งเป็นครึ่งเม็ด
"คุณยายแบ่งยาครึ่งเม็ดอย่างไร "
"ก๊ะเอา"เสียงคุณยายหนักแน่น
คุณหมอเข้าใจว่าคุณยายใช้วิธีกะเอา " กะยังไง " คุณหมออยากรู้
คุณยายเลยหยิบเม็ดยาในซอง "กัด" ด้วยฟันหน้าที่มีสีดำจากหมากออกเป็นสองซีกให้คุณหมอดู
นับจากวันนั้นคุณหมอก็เปลี่ยนไป คุณหมอจัดแจงให้ตัดเม็ดยาแบ่งให้คนไข้ให้เรียบร้อยทุกราย หลายโรงพยาบาลใช้วิธีให้เครื่องตัดเม็ดยาแก่คนไข้ที่ต้องแบ่งยา เครื่องตัดเม็ดยามีลักษณะเป็นกล่องมีช่องให้วางเม็ดยาในกล่องเมื่อปิดฝากล่องใบมีดที่ฝาจะผ่าเม็ดยาเป็นสองซีกเท่าๆ กันโดยเม็ดยาไม่แตกเสียหาย เครื่องตัดเม็ดยานี้ องค์การเภสัชกรรมทำแจกโรงพยาบาล สามารถขอเพื่อนำมาแจกจ่ายให้คนไข้
 
กินยาไม่ครบ

เรื่องการกินยาไม่ครบ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง
อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเป็นผู้เยี่ยมสำรวจคุณภาพโรงพยาบาลมีความดันเลือดสูง และบางครั้งหัวใจ เต้นผิดจังหวะ ต้องกินยาหลายชนิดเป็นประจำทุกวัน เช้าวันหนึ่งท่านและคณะมาถึงโรงพยาบาลแต่เช้าเข้าประชุม เตรียมการเยี่ยมสำรวจในห้องทำงานที่โรงพยาบาลจัดให้ หลังจากดื่มเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพแล้วท่านก็หยิบยาออกจากซองยาหลายซองจำนวนหลายเม็ดใส่ฝ่ามือกรอกยาเข้าปากแล้วตามด้วยน้ำเย็นค่อนแก้วแล้วลุกออกไปเดินเยี่ยมสำรวจตามภารกิจ

ช่วงเวลาใกล้เที่ยงท่านรู้สึกใจสั่น เหมือนหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นระยะๆ หลังอาหารเที่ยงอาการเป็นมากขึ้น อายุรแพทย์โรคหัวใจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะจริงๆ แต่โชคดี ไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย ท่านยังคงทำหน้าที่ผู้เยี่ยมสำรวจต่อไป
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในเวลาเย็น ท่านกลับเข้ามาประชุมทีมที่ห้องพักเดิม เก้าอี้ตัวเดิม ถ้วยโอวัลตินเมื่อเช้ายังไม่มีใครมาเก็บออกไป
สิ่งที่ท่านเห็นคือยาเม็ดหนึ่งอยู่ในจานรองถ้วยโอวัลตินเป็นยาที่ต้องกินเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจท่านคงทำเม็ดยาเม็ดนี้หล่นจากฝ่ามือโดยไม่ได้กินเข้าไป จึงทำให้มีอาการในวันนี้

อาจารย์ครับ สำหรับผู้อาวุโส เทคนิคการกินยาที่ถูกต้องควรหยิบยาเข้าปากทีละเม็ด เพื่อให้แน่ใจว่าได้กลืนยาจนครบทุกเม็ด

หน้ากระดาษหมดเสียก่อนยังมีเกร็ดสำคัญเรื่องยาที่จะเขียนต่อฉบับหน้า

ข้อมูลสื่อ

333-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 333
มกราคม 2550
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์