โยคะบำบัด : ท่าโยคะ
นิยามของท่า
เราอาจให้คำจำกัดความ "ท่า" หมายถึง ลักษณะอาการ การวางตัวของร่างกาย 1)โดยมีการค้ำไว้ พยุงไว้ หรือ 2)การประสานกันของกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วนเพื่อ ก)รักษาการวางตัวของร่างกายให้นิ่ง หรือ ข) เพื่อเป็นฐานสำหรับการขยับเคลื่อนในขั้นต่อไป ฐานนี้อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเป็นการเคลื่อนไหวเป็นขั้นๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะเจาะจง
ท่าที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาการ
ท่าที่มีประสิทธิภาพคือ การวางตัวของร่างกายที่ประหยัดกำลังที่สุด คือไม่ใช้กล้ามเนื้อที่ไม่จำเป็น ท่าที่มีประสิทธิภาพจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โดยกลไกภายในเหมาะสม ไม่เกิดอันตราย และโทษ หรือความพอเหมาะพอดีของกล้ามเนื้อ
การแบ่งประเภทของท่า
เราสามารถแบ่งท่าออกเป็นกลุ่มกว้างๆ ได้แก่ ก) ไม่ใช้กำลัง ข) ใช้กำลัง ซึ่งยังแบ่งออกได้เป็น 1) นิ่ง และ 2)
เคลื่อนไหวอาสนะต่างๆ ล้วนมีลักษณะของท่าทั้งหลาย
ก. ท่าที่ไม่ใช้กำลัง
คือท่าที่เป็นไปในการผ่อนคลาย หรือการนอนหลับ ท่าในกลุ่มนี้ กล้ามเนื้อทั่วไปจะพัก ยกเว้นกล้ามเนื้อที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หายใจ กล้ามเนื้อในระบบไหลเวียนของเลือด แม้กล้ามเนื้อส่วนนี้จะทำงาน ก็ทำงานแบบน้อยที่สุดเช่นกัน ในกลุ่มนี้ ท่าอาสนะจะได้แก่ อาสนะเพื่อการผ่อนคลายคือ ท่าศพ ท่าจระเข้ ท่า Adhvasana ฯลฯ พึงสังเกตว่า การผ่อนคลายนั้นเป็นศิลปะอยู่ในตัว
ข. ท่าที่ใช้กำลัง
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิ่งหรือมีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะอยู่ในท่าได้ ต้องมีการประสานกันของกล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน
1. ท่าที่นิ่ง คือพวกที่คงอิริยาบถไว้ไม่เคลื่อนไหว โดยการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งอาจจะมากหรือน้อย เพื่อทำให้ข้อต่อต่างๆ อยู่กับที่ เพื่อรักษาการทรงตัวต่อต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงอื่นๆ อาสนะหลายท่าอยู่ในกลุ่มนี้ อาสนะเพื่อสมาธิก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน อาสนะเพื่อสมาธิ เป็นการคงอิริยาบถแบบกึ่งผ่อนคลาย เพราะมีการจัดตำแหน่งของร่างกายส่วนล่างเป็นฐานอันมั่นคง เพื่อรองรับอิริยาบถของร่างกายส่วนบนไว้นิ่งๆ
2. ท่าเคลื่อนไหว รูปแบบของท่าจะขยับและจัดปรับให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหว ท่าอาสนะเพื่อการเสริมสร้าง อาสนะเพื่อการจัดปรับอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ท่าคันไถ ท่างู ท่าตั๊กแตน ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างการออกกำลังกายที่มีการใช้กำลังมากๆ มีการกระทำ ซ้ำๆ บ่อยๆ คือ แม้อาสนะจะเคลื่อนไหว แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ช้า ค่อยเป็นค่อยไป ใส่ใจกับการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ของระบบประสาทกล้ามเนื้อ มากกว่าจะไปเน้นที่การเคลื่อนไหว แม้จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ฝึกอาสนะกลุ่มนี้ก็ยังสามารถรับรู้ "ความรู้แบบมหาสมุทร" ได้ด้วยเช่นกัน
ด้วยความรู้พื้นฐานในประเภทของท่าอาสนะ คราวนี้เรามาพิจารณาลึกลงถึงกลไกของมัน
กลไกของท่าที่ใช้กำลัง
ก. ทางด้านกล้ามเนื้อ
ในท่าที่ใช้แรงทั้งหลาย ในด้านหนึ่งกล้ามเนื้อต้องทำงาน ทั้งออกแรงและกระจายกำลังไปตามลักษณะของท่า ส่วนในอีกด้านหนึ่งขึ้นกับบุคลิกเฉพาะของคนฝึกแต่ละคนกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ที่ใช้คือกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ประคองอิริยาบถให้ตั้งไว้ได้ กล้ามเนื้อที่คอยต่อต้านแรงดึงดูดของโลก กล้ามเนื้อเหล่านี้จึงเป็นที่รู้จักกันว่าคือกล้ามเนื้อที่ต่อต้านแรงโน้มถ่วง และหน้าที่ของกล้ามเนื้อเหล่านี้ต่อข้อคือยืด อันเป็นการยืดระยางค์ หรือแขนขาออกไป
เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมี 2 แบบ คือ แดงและขาว เนื้อเยื่อแดงมีสีแดงเพราะประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่มีฮีโมโกลบิน ซึ่งเต็มไปด้วยพลังงาน ส่วนกล้ามเนื้อขาวไม่มีฮีโมโกลบิน ไม่สามารถยืดเวลาในการใช้พลังงาน ผลก็คือมันจะล้าได้ง่าย มันเกร็งตัวเร็ว ไปถึงสภาวะสูงสุดของการเกร็งได้เร็ว และคืนตัวสู่สภาวะเดิมของการผ่อนคลายได้เร็ว กล้ามเนื้อที่คอยเหยียดยืด ซึ่งใช้เหยียดแขนขาเพื่อให้อยู่ในอิริยาบถ เพื่อรักษาการทรงตัวต่อต้านแรงโน้มถ่วง ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยเนื้อเยื่อสีแดง ทำให้สามารถทำงานได้เป็นเวลานานโดยไม่เมื่อยล้า
คราวต่อไปเราจะพิจารณากลไกทางด้านประสาทควบคุม
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 6,321 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้