• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 5)

วูบ (ตอนที่ 5)



 

เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อน หรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป   
 

คนไข้รายนี้ไปโรงพยาบาลด้วยอาการ “วูบ” และหมอที่โรงพยาบาลบอกว่าเป็นสมองขาดเลือด และจะให้นอนโรงพยาบาลไม่ได้ แต่คนไข้รายนี้นอนโรงพยาบาลไม่ได้เพราะมีงานติดพันอยู่ จึงได้โทร.มาปรึกษาหมอ หมอจึงแนะนำให้ขอผลการตรวจต่างๆ และมาหาหมอที่โรงพยาบาล
นักธุรกิจหญิงรายนี้ก็มาที่โรงพยาบาลใหม่ พร้อมกับผลการตรวจต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติชัดเจน แม้แต่ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
แต่ผลการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้มีอาการ “วูบ” หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนชัดเจนเมื่อนอนลงโดยเฉพาะถ้านอนตะแคงซ้าย จนคนไข้ไม่กล้านอนตะแคงซ้าย หรือเมื่อหันหน้าไปทางซ้ายเร็ว ๆ
เมื่อหันศีรษะคนไข้ไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง หรือเงยบ้างก้มบ้าง ก็จะทำให้เกิดอาการ แต่ไม่รุนแรงเท่าท่านอนตะแคงซ้าย
การตรวจร่างกายอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

หมอ: “คุณไม่เป็นโรคร้ายแรงอะไรหรอกครับ เป็นเพียงหูชั้นในทำงานผิดปกติ ที่บางคนเรียก น้ำในหูไม่เท่ากัน บางคนเรียกว่า หวัดลงหู หรืออื่น ๆ
“ซึ่งหมายความว่า หูชั้นในซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวเกิดการอักเสบ หรือการบกพร่องในการทำงาน จึงทำให้เกิดการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้น”

หญิง: “แล้วดิฉันต้องอยู่โรงพยาบาลไหมค่ะ”
หมอ: “ถ้าคุณยังช่วยตนเองได้ ก็ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลหรอกครับ แต่ถ้าคลื่นไส้อาเจียนมากจนกินไม่ได้ นอนไม่ได้ เพราะมันหมุนติ้วไปหมด ก็คงต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและยาแรง ๆ เพื่อให้หายจากอาการบ้านหมุนและคลื่นไส้อาเจียนโดยเร็ว”

หญิง: “ถ้าดิฉันกลับบ้านแล้วอาการมันจะหายหรือค่ะ”
หมอ: “ที่จริงโรคนี้มันหายเองครับ คล้ายโรคหวัด ยาที่เราให้เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้ไปรักษาสาเหตุของโรค หรือไปฆ่าเชื้อหวัด”
“โรคที่คุณเป็นนี้จะหายเร็วขึ้น ถ้าคุณปฏิบัติรักษาตนเองให้ดี เช่น อย่าตรากตรำทำงานมากเกินไป นอนหลับพักผ่อนได้ดี กินอาหารร้อนและเครื่องดื่มร้อน ๆรักษาความอบอุ่นของร่างกาย อย่าเข้าออกสถานที่ที่มีความร้อนเย็นต่างกันมาก ๆ เป็นต้น”

หญิง : “แล้วคุณหมอจะให้ยาอะไรดิฉันคะ”
หมอ : “ยาที่ให้คุณนี่เป็นยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ที่มีชื่อว่า ไดเมนไฮตรีเนต (dimenhydrinate) ซึ่งใช้แก้อาการเวียนหัว บ้านหมุนได้ดี
“คุณกินครั้งละ 1 เม็ดเวลามีอาการ หรือถ้ามีอาการตลอดเวลา หรือเกือบตลอดเวลา ก็กิน 1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลา และก่อนนอน ยานี้กินแล้วอาจจะทำให้ง่วง ถ้าง่วง ควรจะพักผ่อนนอนหลับสักครู่ และไม่ควรฝืนความง่วงไปขับรถ หรือทำงานที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอันตรายได้”

หญิง : “กินยาอย่างเดียวก็พอหรือคะ”
หมอ : “โดยทั่วไปกินยาอย่างเดียวก็พอครับ เพราะหมอบอกแล้วไงว่าโรคนี้ยังไม่มียารักษา มีแต่ยาแก้อาการเท่านั้น แต่ถ้าคุณกินยานี้ 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น ก็คงจะต้องเพิ่มยาแก้อาการตัวอื่นเข้าไปร่วมด้วย”

หญิง : “แล้วอีก 2-3 วัน ดิฉันต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ใหม่หรือไม่คะ”
หมอ : “คงไม่ต้องหรอกครับ นอกจากคุณจะเกิดอาการผิดปกติทางสมองที่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เท่านั้น”

หญิง : “แล้วที่การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คราวก่อน บอกว่าสมองดิฉันขาดเลือดเพราะหลอดเลือดอุดตันนั้น แล้วหมู่นี้ ความจำของดิฉันก็ไม่สู้จะดีเสียด้วย”
หมอ : “ที่จริงหมอคนที่ท่าน เอกซเรย์เขาเพียงแค่สงสัยเท่านั้น เขาจึงอยากให้ทำใหม่ใน 2-3 วัน
“แต่คุณต้องจำไว้ว่า หมอเอกซเรย์เขาไม่ได้ตรวจร่างกายคุณและไม่ได้ถามประวัติคุณ เขาเพียงแต่อ่านเอกซเรย์ซึ่งเปรียบเสมือนรูปภาพ (หรือเงาของอวัยวะ)ของคุณเท่านั้น จึงอาจผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าไปพยายามวินิจฉัยถึงการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ เพราะรูปภาพของคุณก็บอกแต่เพียงว่า รูปร่างคุณเป็นอย่างไร หน้าตาสวย หรือไม่สวยก็เท่านั้นเอง ส่วนคุณจะทำงานได้เก่งหรือไม่ ทำงานได้ดีหรือไม่ รูปภาพของคุณย่อมบอกหมอไม่ได้
“เช่นเดียวกับความจำของคุณ ความจำนั้นเป็นการทำงานของสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถบอกได้ว่าสมองของคุณจำได้มาก หรือจำได้น้อยเพียงไร มันบอกได้แต่ความปกติทางกายภาพเท่านั้น

“อนึ่ง ถ้าหมอที่ส่งคุณไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เขียนไม่ไปส่งตรวจว่า เขาสงสัยภาวะสมองขาดเลือด หมอเอกซเรย์ก็อาจจะเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปได้ในขณะที่อ่านเอกซเรย์นั้น
“การแปลผลการตรวจพิเศษ (การตรวจแล็บ) ต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาร่วมไปกับอาการ และผลการตรวจร่างกายเสมอ มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย”

หญิง : “ถ้าอย่างนั้นที่ดิฉันไปตรวจก็เสียเงินไปเปล่า ๆ สิคะ”
หมอ : “ครับ การไปโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ จึงควรจะหมอที่ไว้ใจได้ในโรงพยาบาลนั้น ๆ ก่อน ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าไป บางครั้งเรื่องเล็กกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ต้องเสียเงิน เสียเวลา และอาจจะต้องเจ็บตัวจนเกินความจำเป็นด้วย”

หญิง : “แล้วทำไมแพทยสภา หรือแพทยสมาคมไม่จัดการให้โรงพยาบาลเหล่านี้ตรวจรักษาให้ถูก-ต้องล่ะคะ”
หมอ : “เพราะการตรวจรักษาต่าง ๆ มีเกณฑ์กว้างมาก และการชี้ว่า ผิดหรือถูกนั้นมักไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน เช่นในกรณีของคุณ ถ้าคุณถามผมว่าผมแน่ใจเต็มที่เลยหรือว่า สมองคุณไม่มีภาวะขาดเลือด ผมก็ต้องตอบว่า ผมไม่แน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะแน่ใจเพียง 98-99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หมอคนอื่นเขาอาจจะแน่ใจเพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 40-50 เปอร์เซ็นต์นั้น เขาสงสัยว่าสมองคุณอาจจะขาดเลือด เขาจึงส่งคุณไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

“เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าเขาตรวจรักษาผิด ก็คงจะกล่าวไม่ได้ แต่จะกล่าวว่าเขาตรวจรักษาถูก ก็คงจะกล่าวไม่ได้เช่นเดียวกัน
“แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ เขาทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้คุณเสียเงินมากขึ้น และอาจจะต้องเสียเวลามากขึ้น ถ้าคุณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล”

หญิง : “คุณหมอพูดเข้าข้างพวกเดียวกันใช่มั้ยคะ คุณหมอไม่กล้าพูดว่าเขาหลอกเอาเงินจากคนไข้โดยการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็น ใช่มั้ยคะ”
หมอ : “ที่จริง ผมพยายามพูดอย่างเป็นกลางที่สุด เพราะความจำเป็นหรือไม่ จำเป็นนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแต่ละคน
“คนไข้บางคน ชอบให้ตรวจโน่นตรวจนี่มาก ๆ เพราะเขารู้สึกว่าโก้ได้ตรวจกับเครื่องมือใหม่ ๆ แปลก ๆ เสียเงินมาก ๆ แล้วโก้ เอาไปคุยโอ้อวดกับญาติมิตรได้เป็นปี
“แต่บางคนก็ไม่อยากตรวจอะไรเลย แม้แต่การตรวจเลือดง่าย ๆ ก็ไปอ้างว่าเป็นบาปที่จะเจาะเลือดพระอรหันต์
“คนที่ชอบตรวจมาก ๆ ก็จะกล่าวว่า การตรวจนั้น ๆ จำเป็นและถูกต้อง ส่วนคนที่ไม่ชอบก็จะกล่าวว่า ไม่จำเป็นและไม่ถูกต้อง
“ทางที่ดีที่สุดก็คือ คนไข้จะต้องรักษาสิทธิของตนเอง เช่น โดยการถามแพทย์ถึงเหตุผลและผลดีผลเสียของการตรวจรักษาต่าง ๆ แล้ว วินิจฉัยด้วยตนเองว่า ตนพร้อมหรือไม่พร้อม สำหรับการตรวจรักษานั้น ๆ”

หญิง : “แล้วหมอที่ไหนเขาจะมาคอยอธิบายให้ฟังเหมือนคุณหมอล่ะคะ ถามเขา 2-3 คำ เขาก็โมโหแล้ว”
หมอ : “คุณก็ควรเห็นใจหมอบ้าง ถ้าเขาตรวจคนไข้มาหลายชั่วโมง ไม่ได้พัก แล้วก็ยังมีคนไข้รออีกตั้งแยะ ถ้าคุณไปเซ้าซี้เขาตอนนั้น เขาก็อาจจะมีอารมณ์บ้าง เพราะเขาก็ยังเป็นปุถุชนอยู่”

หญิง : “ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ หลอกเงินคนไข้ต่อไป ใช่มั้ยคะ”
หมอ : “ไม่ใช่อย่างนั้น ทางแพทยสภา แพทย์สมาคม และกระทรวงสาธารณสุขเขาพยายามจะควบคุมดูแลให้โรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ปฏิบัติให้ถูกต้อง
“แต่คนที่รู้ดีที่สุดว่า โรงพยาบาลเอกชนใด หรือแพทย์คนใด ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็คือคนไข้ หรือประชาชนที่ไปใช้บริการในโรงพยาบาลนั้น ๆ
“ถ้าคนไข้หรือประชาชนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลหนึ่ง โรงพยาบาลใดไปพบไปเห็นบริการที่ไม่ถูกต้อง หรือสงสัยว่าไม่ถูกต้อง แล้วไม่ร้องเรียนไปที่แพทยสภาหรือกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาหรือ กระทรวงสาธารณสุขก็คงไม่ทราบ หรือถ้าทราบ แต่ไม่มีผู้เสียหายหรือไม่มีหลักฐาน ที่จะฟ้องร้องหรือเอาผิดกับแพทย์หรือโรงพยาบาลนั้น แพทยสภาก็ไม่สามารถเอาผิดกับแพทย์ที่ประกอบวิชาชีพอย่างไม่ถูกต้อง และกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถสั่งปิดโรงพยาบาลนั้น ๆ ได้

“ดังนั้น คนไข้และประชาชนจึงเป็นคนที่ตรวจสอบและดูแลการกระทำที่ไม่ถูกต้องของแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ดีกว่าแพทยสภาแพทย์สมาคม และกระทรวงสาธารณสุข อย่างน้อยก็โดยการเล่าให้ฟังญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงฟังต่อ ๆ กันไปและงดใช้บริการของแพทย์นั้นหรือโรงพยาบาลนั้น
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไข้และประชาชน อย่าไปยึดติดกับการบริการข้างเคียง เช่น ตึกและห้องที่หรูหรา เครื่องมือเครื่องไม้มาก คนรับใช้(บริกร) มาก มีห้องหรูหรา ห้องทำผม บางแห่งมีห้องนวด (ทั้งแบบกายภาพบำบัด และแบบอาบอบนวด) ด้วยเพราะบริการข้างเคียงเหล่านี้จะทำให้การแพทย์มีลักษณะเป็นการแพทย์พาณิชย์มากขึ้นและเพิ่มขึ้น

“ที่น่าวิตกก็คือ ประชาชนในปัจจุบันยึดติดกับความฟุ่มเฟือยและวัตถุนิยมเหล่านี้ จึงทำให้การแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ กลายเป็นการแพทย์พาณิชย์เพิ่มขึ้นๆ แล้วก็มอมเมาให้ประชาชนชอบบริการแบบนี้มากขึ้นๆ โรงพยาบาลเอกชนจึงเกิดมากขึ้น ๆ เหมือนดอกเห็ดในฤดูฝน”

หญิง : “โอ้โฮ คุณหมอเลยระบายเสียยกใหม่ แล้วดิฉันจะไปเล่าให้พี่ ๆ น้อง ๆ และเพื่อนฝูงฟังค่ะ”
หมอ : “ดีแล้ว เพราะคุณทำให้หมอเสียเวลาไปพอสมควรทีเดียว คุณจึงควรชดใช้ด้วยการให้การศึก-ษาแก่ญาติมิตรต่าง ๆ ต่อไป จะได้ไม่ต้องมาต่อว่าหมอเกี่ยวกับพฤติกรรมของหมอคนอื่นอีก”

หญิง : “คุยกับหมอจนเลือดขึ้นหน้าและขึ้นสมองแล้ว ดิฉันเลยหายเวียนหัวแล้วค่ะ”
หมอ : “ดีมาก กำลังใจและความตั้งใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้สำเร็จ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการหายจากอาการและหายจากโรคได้ด้วย”

คนไข้รายนี้อายุเพียงประมาณ 30 ปี จึงไม่น่าจะเป็นโรคสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน และอาการเวียนหัวบ้านหมุนก็สมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าของศีรษะอย่างชัดเจน จึงน่าจะเป็นความผิดปกติของหูชั้นใน จากการอดนอน การแพ้อากาศ การเป็นไข้หวัด หรืออื่น ๆ จึงอาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้เมื่อเกิดสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น การรักษาต่าง ๆ ได้กล่าวไว้ในการสนทนาข้างต้นแล้ว

 

                                                                                                                           (อ่านต่อฉบับหน้า )

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

199-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 199
พฤศจิกายน 2538