• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หากต้องคลอดลูกในรถ

หากต้องคลอดลูกในรถ

ในปัจจุบันสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่มีวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทันสมัย ใช้คอมพิวเตอร์ตอบปัญหา แต่คงยังมีปัญหาโลกแตกที่คอมพิวเตอร์ ก็คงจะหาคำตอบไม่ได้ นั่นคือ ทำอย่างไรให้ถนนไม่เป็นที่จอดรถประจำวันอีกต่อไป แต่นั่นก็ยังมิใช่ปัญหาถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์ ครบกำหนดคลอด และติดอยู่ในลานจอดรถประจำวันเช่นนั้น คุณคงจะรู้สึกตะหนักตกใจว่า “ฉันจะทำอย่างไรกันนะ” รถก็ติด มองไปทางไหนมีแต่รถจอดอยู่เต็มไปหมด จะเดินไปโรงพยาบาลก็คงจะไม่ไหว
ถ้ามีคนถามคุณว่าคุณรู้ได้ยังว่าคุณจะคลอดแล้วจริง ๆ คุณคงตอบว่ารู้สิ! ก็มันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่จะรู้ได้โดยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ของการให้กำเนิดบุตร ถ้าถามว่าเริ่มต้นตรงไหน มันมีสัญญาณบอก นั่นคือ อาการแรกเริ่มของการคลอดที่จะทราบได้ เช่น น้ำเดิน มีมูกเลือดออกที่สำคัญคืออาการที่ผู้หญิงจะไม่ลืมเลือนเลยตลอดชีวิต นั่นคืออาการเจ็บท้องจะเริ่มตั้งแต่ส่วนบนของมดลูก ปวดบีบลงหัวเหน่าถ่วงไปหน้าขา และปวดหลังมาก อาการปวดจะเป็นลักษณะเดี๋ยวปวดเดี๋ยวหาย แต่จะทวีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น

แรก ๆ อาจรู้สึกชั่วโมงเจ็บ 2-3 ครั้ง ต่อมาเจ็บทุก 15 นาที ทุก 10 นาที ทุก 5 นาทีจนถี่ทุก 1-2 นาที หรือเจ็บจนไม่มีเวลาพักหายใจ การเจ็บท้องทุกครั้งจะเป็นกลไกธรรมชาติที่มดลูกพยายามบีบรัดตัวให้เจ้าตัวเล็กในท้องของคุณออกมา นั่นคือการเคลื่อนต่ำของทารกเข้าสู่อุ้งเชิงกรานของมารดาจนผ่านทางช่องคลอด คุณจะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนต่ำของศีรษะทารกเหมือนมีอะไรมาตุง ๆ หรือถ่วงอยากถ่ายอุจจาระ ใช่แล้ว นั่นล่ะลูกน้อยของคุณกำลังจะเกิด จะทำอย่างไรล่ะ ก็ยังไม่ถึงโรงพยาบาลเลย จะพึ่ง จส.100 ก็คงไม่ทันการเสียแล้ว จะให้เฮลิคอปเตอร์ไปส่งก็คงจะไม่ทัน นั่นล่ะปัญหาที่คุณต้องพยายามช่วยเหลือตนเองเมื่อกำลังจะให้กำเนิดบุตรบนยานพาหนะ 4 ล้อ ไหน ๆ ก็จะคลอดอยู่แล้ว ก็คลอดให้ถูกวิธีเสียเลยจะได้ปลอดภัย
เมื่อคุณรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ ศีรษะเด็กก็คงมาถึงปากทางออกนั้นคือปากช่องคลอด ให้คุณตั้งขาขั้นทั้ง 2 ข้าง ในลักษณะนั่งชันเข่าทั้ง 2 ข้าง ขึ้นบนพื้นราบของเบาะรถที่มีผ้าสะอาดปูไว้ อาจใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่ที่คุณจะนำไปโรงพยาบาลในตะกร้าน้อยใบนั้น เมื่อคุณอยู่ในท่าเตรียมพร้อมคลอด ต่อไปเป็นแรงเบ่งคลอด ให้คุณหายใจเข้าเต็มที่ กลั้นหายใจก้ม หน้าคางชิดอกเบ่งมาที่ก้นแรง ๆ ทำทุกครั้งที่มีอาการเจ็บท้อง
นั่นแน่! คุณเบ่งถูกต้องแล้ว เจ้าตัวน้อย ๆ เห็นผมรำไรแล้ว อีกนิดหนึ่ง อีกนิดหนึ่ง เบ่งอีกหน่อย เฮ้อ! แล้วจะทำอย่างไรล่ะเมื่อศีรษะลูกผลุบ ๆ โผล่ ๆ อย่างนี้ อย่าตกใจ เบ่งต่อไป เมื่อหัวของลูกพ้นปากมดลูก ให้ใช้ลูกยางดูดเสมหะ และเมือกออกจากจมูกและปากเด็ก ไม่ต้องตกใจ การคลอดจะเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ไหล่เด็กและตัวจะคลอดตามออกมาจนพ้นปากช่องคลอด ที่ตัวลูกจะมีเมือกลื่น ๆ ซึ่งช่วยให้คลอดได้สะดวก
เมื่อลูกคลอดพ้นทั้งตัวแล้ว ให้ใช้ผ้าสะอาดที่ปูไว้พยายามเช็ดตัวลูกให้แห้ง จะมีมูกเลือดเสมหะเปื้อนบริเวณใบหน้า จมูก และปาก ให้ใช้นิ้วกดที่ลิ้นของเด็กเบา ๆ และให้ศีรษะทารกต่ำเพื่อเปิดทางให้เสมหะไหลออกมาจากปอด ถ้ามีเสมหะจำนวนมากให้ช่วยลูก โดยใช้ปากดูดเสมหะออกจากปากของลูก เช็ดตัวลูกให้แห้ง หลังจากนั้นกระตุ้นให้ลูกร้อง โดยใช้มือถูที่หลังของลูกไปมาเบา ๆ เมื่อลูกร้องดีแล้วนั่นคือ เด็กสามารถหายใจได้เองแล้ว
ต่อไปให้หาเชือกหรือสิ่งที่สามารถผูกได้ ผูกสายสะดือของลูกให้ห่างจากตัวเด็กพอสมควร เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของเลือดขอทารกกลับสู่รก ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่อาจทำให้ลูกสุดที่รักของคุณเสียชีวิตได้

เมื่อรกลอกตัวออกจากแม่ จะมีเลือดไหลออกจากโพรงมดลูก ให้คุณคลำบริเวณหน้าท้องจะพบก้อนซึ่งคือมดลูก ให้คุณแม่พยายามคลึงนวดให้มดลูกหดรัดตัวดี เพื่อลดการสูญเสียเลือด
ในขณะนี้ต้องหมั่นสังเกตว่าลูกสามารถหายใจได้เองหรือไม่ ตัวเขียวหรือไม่ ให้พยายามเช็ดตัวลูกให้แห้ง ห่อตัวด้วยผ้าแห้ง และให้ความอบอุ่นพร้อมทั้งกระตุ้นเด็กให้ร้องและดูดเสมหะที่ออกจากปากของลูก

การคลอดเป็นเรื่องของธรรมชาติ ลูกอยากจะเกิดจะเลือกที่เกิดได้อย่างไร ก็ยังไปไม่ถึงโรงพยาบาล คุณอาจจะต้องช่วยเหลือตนเองให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติและดูแลลูกพร้อมทั้งตนเองด้วยความปลอดภัยก่อนมาถึงโรงพยาบาล นั่นก็คือประสบการณ์การคลอดบนยานพาหนะยุคโลกาภิวัฒน์
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณแม่รู้ถึงอาการเจ็บท้องเตือนแล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที โดยปกติ คุณแม่ที่ฝากท้องหมอจะบอกกำหนดวันคลอด กำหนดคลอดนี้อาจคลาดเคลื่อนได้ก่อนและหลังประมาณ 2 สัปดาห์

อาการเจ็บท้องเตือนคือ มีอาการเจ็บแปลบห่าง ๆ ผู้หญิงแต่ละคนเจ็บท้องนานไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะกินเวลาประมาณ 14 ชั่วโมง หากคุณแม่เจ็บท้องก่อนกำหนดก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาหมอ

นอกจากนี้คุณแม่ไม่ควรฝากท้องกับโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลบ้าน ให้เลือกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ไม่เช่นนั้นคุณแม่อาจได้คลอดลูกบนเบาะรถยนต์แทนเตียงในโรงพยาบาล
 

                                            เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องคลอดลูกในรถ

1. ก่อนถึงกำหนดคลอด ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์อย่างไร
- สบู่ แปรงสีฟัน ของใช้ประจำวันที่จำเป็น
- เสื้อผ้าที่ใส่ควรเป็น 2 ท่อน ถ้าเป็นผ้าถุงได้จะดี ควรมีสำรองไว้ 2 ผืน
- ผ้ายางปูกันเปื้อนบนรถ
- กะละมังเล็ก ๆ หรือขันน้ำ ไว้ใส่รก
- ผ้าเช็ดหน้าบาง ๆ สะอาด 2 ผืน สำหรับผูกสายสะดือเด็ก
- ผ้ากอซสะอาด
- ยาดม เมื่อจะเป็นลม
- น้ำหวานหรือน้ำสะอาดสำหรับดื่ม (แบบกระป๋องได้)

2. แม่ควรนั่งหน้ารถหรือหลังรถ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
- แม่ควรนั่งหลังรถ และควรมีญาติไปด้วย 1 คน มีข้อดีคือ ที่นั่งข้างหลังกว้างขวางกว่า สามารถ
นอนคลอดได้ เด็กไม่ตกลงพื้น มีความปลอดภัย เมื่อรถเกิดเบรก หรือเกิดอุบัติเหตุ และไม่รบกวนสมาธิของคนขับ

3. อาการเจ็บท้องเตือนว่าจะคลอดคืออะไร
- ท้องแข็ง เจ็บท้องถี่ขึ้น ๆ ทุก 15 นาที และจะลดเป็น 10 นาที 5 นาที 1 นาที เป็นลำดับ
- มีน้ำเดินหรือถุงน้ำแตก (มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอดเหมือนฉี่ราด)
- มีเลือดลดหรือมูกเลือด
- ปวดหน่วงที่ก้นกบ หรือช่องคลอด อยากเบ่งถ่าย
- มีแรงเบ่ง (รู้สึกอยากเบ่ง)

4. ทำอย่างไรเมื่อเด็กกำลังคลอด
- ให้แม่หายใจลึก ๆ ผ่อนหายใจช้า ๆ จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดเบ่งได้
- เมื่อหัวเด็กโผล่ให้ญาติใช้ผ้ารองฝีเย็บ (อยู่ช่วงระหว่างช่องคลอดและรูทวารหนัก) เพื่อกันฝีเย็บ
ฉีกขาดมาก ซึ่งอาจทำให้เสียเลือดมาก
- มืออีกข้างหนึ่งของญาติ กดหัวเด็กด้านบนเบา ๆ (ให้เด็กก้มหน้า) เพื่อไม่ให้เด็กคลอดเร็วเกินไป
และป้องกันการฉีกขาดถึงช่องปัสสาวะ
- เมื่อเด็กคลอดแล้วใช้ผ้าเช็ดตัวห่อเด็กไว้ ใช้ผ้าอ้อมห่อนิ้วและกวาดเลือดที่ปากเด็กออกเพื่อกัน
เด็กสำลัก จับเด็กนอนตะแคง
- ให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อให้เสมหะไหลออกจากปอด จากนั้นดูดเสมหะที่ปากและจมูกของเด็ก
- ใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาด ผูกสายสะดือเด็ก เพื่อป้องกันเลือดทารกกลับเข้าสู่ตัวเด็ก
- ใช้ผ้ากอซสะอาดกดแผลฝีเย็บเพื่อป้องกันเลือดพุ่งมาก
- ให้แม่เด็กนอนราบ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้พอ ไม่เป็นลมหรือช็อก และให้ดื่มน้ำสะอาด
หรือน้ำหวาน
- รีบเข้าโรงพยาบาล หรือคลินิกที่ใกล้ที่สุด

 

ข้อมูลสื่อ

199-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 199
พฤศจิกายน 2538
บทความพิเศษ
นพ.วิวัฒน์ ศุภดิษฐ์