ทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ชีวิตในโลกโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน ก็ส่งเสริมให้โรคระบาดต่างๆ แพร่กระจายไปในลักษณะที่รวดเร็วมาก ภาวะโลกร้อนทำให้เชื้อมาเลเรีย และยุงพาหะแพร่กระจายเข้าไปในบางพื้นที่ การดื้อยาของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ แม้ธุรกิจยาจะมีมูลค่าถึง ๑ ล้านล้าน us dollar ต่อปี แต่ตลาดเรื่องวัคซีนมีแค่ ๓% ของการตลาดเท่านั้น มูลนิธิ ของ Bill Gates, Wellcome Trust Charity และรัฐบาลหลายประเทศร่วมกันตั้งกองทุนกลางสาธารณะประโยชน์สำหรับการพัฒนาวัคซีน โดยมีงบประมาณสนับสนุน ๑ พันล้าน US$ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด คือ การพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการผ่าเหล่าเปลี่ยนแปลงตลอด หากมีการระบาดใหม่ มนุษย์มักรับมือไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เหมือนในปี ๒๐๐๙ เมื่อ H1N1 ที่เป็นไวรัสในหมูแพร่เข้าในคน ทำให้คนตายกว่า ๒ แสนคนทั่วโลก (กว่าจะผลิตวัคซีน Lot แรก ออกมารับมือได้ ต้องใช้เวลา ๒๖ สัปดาห์ ในตอนนั้น)
ตอนไวรัส Ebola แพร่กระจายเข้าใน Lagos เมืองหลวงของไนจีเรีย ซึ่งมีประชากรถึง ๒๑ ล้านคนนั้น มีความตื่นตระหนกกันมากกว่าจะ “เอาไม่อยู่” โชคดีที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และบุคลากรสาธารณสุขหลายพันคนซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการป้องกันโรคโปลิโอได้ช่วยกันหยุดโรคร้ายนี้ไว้ได้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำได้สำเร็จคือความช่วยเหลือจากนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการผนึกกำลังร่วมมือกัน
บิลเกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกกล่าวว่า “สมัยผมเป็นเด็ก คนกลัวสงครามนิวเคลียร์กันมาก แต่ถึงตอนนี้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ โรคระบาดร้ายแรงจากไวรัสซึ่งยากที่จะรับมือ”
จาก Ebola ในประเทศแถบอัฟริกาตะวันตก ไปสู่ไวรัส Zika ในอเมริกาใต้ และ ไวรัส MERS ในตะวันออกกลาง เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่าคำกล่าวของ Gates ไม่ได้เกินเลยแต่อย่างใด ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา โรคร้ายที่เพิ่มจำนวนต่อช่วง ๑๐ ปี ได้เพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่า และตั้งแต่ปี ๑๙๘๐ เป็นต้นมา การระบาดรุนแรงต่อปีเพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่าตัว”
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นี่คือคำอธิบายเบื้องต้น
๑. สภาวะความเป็นเมือง ในสมัยโบราณ กาฬโรค (plagues) เคยระบาดในเมืองท่าต่างๆ ที่อุดมด้วยหนูและหมัด ปัจจุบันนี้ ZiKa Virus พบมีการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดมากเป็นพิเศษ ห้างสรรพสินค้า รถใต้ดินเป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อทางเดินหายใจอย่างดี
๒. ความขัดแย้งและความรุนแรง สงครามไนซีเรีย ทำให้ผู้คนอดอยาก ผู้คนอพยพยถิ่นฐาน โรงพยาบาลถูกทำลาย และทำให้โรคติดต่ออย่างวัณโรคและโปลิโอเพิ่มขึ้น
๓. ภัยธรรมชาติ ในปี ๒๐๑๐ ที่มีแผ่นดินไหวในไฮติ ซึ่งทำให้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดตามมา เพราะสุขอนามัยไม่ดี ผู้คนอพยพและโรงพยาบาลแน่นแออัด ความแห้งแล้งอย่างหนักใน Syria ทำให้ผู้คนอพยพเข้าเมืองเพิ่มความเสี่ยงแก่ชีวิต
๔. การเดินทางโดยเครื่องบิน เครื่องบินเป็นการแพร่เชื้อโรคข้ามแดนที่เร็วที่สุดในขณะนี้ ในปี 2009 เชื้อไวรัส H1N1 แพร่กระจายทั้ง 48 ประเทศ ภายใน 1 เดือนเพราะปัจจัยข้อนี้
๕. การตอบสนองที่เชื่องช้า การระบาดของเชื้อ Ebola ใน ๓ ประเทศ แถบอัฟริกาตะวันตก คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร่าลีออง ในปี ๒๐๑๔ เกิดจากการตอบสนองที่เชื่องช้าไม่ทันการของรัฐบาลและประเทศข้างเคียง การตอบสนองที่เชื่องช้ามากของรัฐบาลพม่า ต่อพายุนากีสที่ถล่มภาคกลางของประเทศ ทำให้เกิดการระบาดของอหวาต์ตามมา
...เลี้ยวกลับมาถึงประเทศไทยเรา ซึ่งเคยประสบปัญหาประเภทโดนพายุเหล่านี้ กระทบมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะจาก H1N1 ไข้หวัดใหญ่ และ MERS ต้องชมเชยกระทรวงสาธารณสุขของเรา และรัฐบาลที่ผ่านมา ว่ามีความตื่นตัวและฉับไวพอสมควรในการรับมือกับสภาวะแพร่ระบาด (Epidemic) ของโรคร้ายเหล่านี้ แต่โจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใส่ใจมากขึ้น คือ คำถามที่ว่า รัฐบาลไทยได้ใส่ใจในการรับมือกับโรคระบาดร้ายแรง ว่าเป็นความสำคัญระดับชาติลำดับต้น ๆ (National Priority ) หรือไม่ นับตั้งแต่ระบบงบประมาณ ซึ่งมักจะเชื่องช้าอุ้ยอ้าย และเต็มไปด้วยขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย การไม่ปกปิดความจริงแก่ประชาชน เพราะกลัวเสียหายต่อการท่องเที่ยว ไปจนถึงการมีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญระดับต่าง ๆ ที่พร้อมจะรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น
“ ผมเป็นห่วงมาก ผมมั่นใจว่าโลกจะต้องเจอสภาวะโรคระบาดร้ายแรงมากขึ้น” อาเธอร์ แคปแลน นักจริยธรรมชีวิทยา แห่งวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ..
(ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสาร Time ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๐๑๗)
- อ่าน 7,474 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้