• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้คอมพิวเตอร์กับสายตา

การใช้คอมพิวเตอร์กับสายตา


การใช้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เราอาจใช้คอมพิว-
เตอร์ในการบันทึกข้อมูล ต้นหาข้อมูลและอื่น ๆ สำหรับเด็กมักใช้คอมพิวเตอร์ในการเล่นเกม ซึ่งเด็กบางคนก็เล่นติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง

เนื่องจากมีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย จึงมีคำถามมากมายว่าการใช้คอมพิวเตอร์มีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ มีอันตรายต่อสายตา หรือมีผลทำให้เกิดโรคตา หรือมีอันตรายต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ หรือไม่ คำถามนี้คงยากที่จะให้คำตอบที่แน่ชัดลงไปร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัด แต่มีข้อมูลบางอย่างซึ่งคิดว่าน่าจะรู้ไว้

มีผู้ทำการทดลองในผู้ที่ใช้จอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าหรือเท่ากับ 2 ชั่วโมง พบว่าจะมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น มีสายตาพร่ามัวเป็นพัก ๆ รู้สึกตาแห้ง แสบตา ตาสู้แสงไม่ได้ ปรับภาพในระยะใกล้ไกลได้ไม่ดี ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดไหล่ อย่างไรก็ตามคนที่ทำงานใกล้ ๆ เช่น อ่านหนังสือเป็นเวลานาน ๆ แม้ไม่ใช้จอคอมพิวเตอร์ก็อาจมีอาการเหล่านี้ได้

ทำไมคนที่ใช้สายตาในระยะใกล้ จึงมีอาการปวดตา ไม่สบายตา ทั้งนี้ เนื่องจากการทำงานที่ใช้สายตาในระยะใกล้ จำเป็นต้องอาศัยการหดเกร็งของกล้ามเนื้อตา เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานานก็มีการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตา เช่นเดียวกับการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อแขนขาเวลาที่เราวิ่งนาน ๆ การเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อตาจะแสดงออกมาในรูปของการปวดตา เมื่อยตา อยากจะหลับตา
นอกจากนี้ ในคนปกติจะมีการกะพริบตาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำตากระจายหล่อเลี้ยงทั่วลูกตา แต่ในเวลาที่เราทำงาน เช่น อ่านหนังสือ หรือดูจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะน้อยลง ทำให้น้ำตาระเหย
ออกไปมากกว่าปกติ ลูกตามีน้ำหล่อเลี้ยงตาน้อยกว่าปกติทำให้กระจกตาแห้ง เราจึงรู้สึกแสบตา รู้สึกว่าตาแห้งหลับตาได้ลำบาก หรือในรายที่เป็นมาก ๆ อาจเกิดแผลขนาดเล็ก ๆ ที่กระจกตาได้ ปัญหาเรื่องน้ำตานี้หากเป็นสาวสำนักงานที่ใส่คอนแทคเลนส์ จะมีปัญหานี้มากกว่าคนที่ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ เพราะการใส่คอนแทคเลนส์ต้องอาศัยน้ำตาเป็นอย่างมาก

การใช้สายตาในระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้มีผลต่อเรื่องสายตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ หลัง หากท่าทางที่ใช้นั่งทำงานไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังงอ เอียงคอ หรือเอียงไหล่ ก็ทำให้มีอาการได้ง่ายขึ้น และมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือแม้แต่ปวดศีรษะได้

จะเห็นว่าการนั่งทำงานระยะใกล้เป็นเวลานานจะทำให้มีอาการผิดปกติได้ ทั้งในผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และไม่ใช้ ได้มีผู้ทำการทดลองว่า ใน 2 กลุ่มนี้จะมีอาการผิดปกติแตกต่างกันหรือไม่ ผลปรากฏว่า อาการเมื่อยล้า ปวดหัวไหล่ อาการเมื่อยตา ปวดคอ ปวดหลัง และเคืองตา พบในผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า แต่อาการอย่างอื่น เช่น ตาแดง ปรับสภาพใกล้ไม่ชัด ไม่แตกต่างกันใน 2 กลุ่มนี้


หากการใช้จอคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดอาการเหล่านี้จริง อะไรคือ สาเหตุ
จากการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยให้สัตว์ทดลองอยู่ในบริเวณใกล้กับจอภาพคอมพิวเตอร์เป็นเวลา นาน ๆ พบว่าเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนไฮโปทาลามัสลดลง เขามีความเชื่อว่าคลื่นไฟฟ้าที่กระจายออกมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนนี้ลดลง ทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งมีผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ และการทำงานของ
อวัยวะต่าง ๆ นอกจากสมมติฐานนี้แล้วยังมีผู้เสนอว่าอาจเกิดจากคลื่นไฟฟ้า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของเซลล์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีผลทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ

ในเมื่อยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด สถาบันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น ได้แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ใช้จอภาพคอมพิวเตอร์ควรได้รับการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
2. ผู้ใช้จอภาพคอมพิวเตอร์ควรได้รับการตรวจสุขภาพระหว่างการทำงานปีละ 2 ครั้ง
3. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้จอภาพคอมพิวเตอร์ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงไปทำงานอย่างอื่น
4. ผู้ที่มีความผิดปกติทางตาเหล่านี้ไม่ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับจอภาพคอมพิวเตอร์
- ผู้ป่วยต้อหิน
- ผู้ที่สายตาสั้นอย่างมาก
- ผู้ที่มีสายตาเอียงมาก

เมื่ออ่านข้อแนะนำเหล่านี้แล้วหลายท่านอาจลังเลหรือกังวลที่จะใช้คอมพิวเตอร์หรือใช้ด้วยความไม่สบายใจ ลองอ่านข้อมูลต่อไปนี้แล้ว อาจจะช่วยให้ท่านสบายใจได้
องค์การอนามัยโลกได้ตระหนักถึงปัญหานี้จึงได้ตั้งคณะกรรมการต่อสุขภาพจากการใช้จอคอมพิวเตอร์ พบว่าปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ ปัญหาการเมื่อยล้าของตา และปัญหาการเมื่อยล้าของร่างกาย แต่ผลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน เชื่อว่าเป็นผลจากสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เช่น แสงสว่างในการทำงาน สภาพทางจิตใจ ความเครียดและความเมื่อยล้าของร่างกาย ส่วนอันตรายที่เกิดจากการกระจายของคลื่นไฟฟ้าต่าง ๆ (ได้แก่ คลื่นวิทยุ คลื่นแสง รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอกซเรย์ และอื่น ๆ) ไม่น่าจะมีผลต่อร่างกาย เพราะคลื่นที่กระจายออกมานี้มีปริมาณน้อยกว่า 200-1,500 เท่าของค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย องค์การอนามัยโลกได้แนะนำการใช้จอคอมพิวเตอร์ ดังนี้
1. ผู้ใช้จอภาพคอมพิวเตอร์ ควรแก้ปัญหาสายตาด้วยแว่นที่เหมาะสม

2. จอภาพที่ใช้ควรเลือกใช้จอภาพที่มีคุณภาพดี ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ความคมชัดของภาพ
ความสว่างของจอ ภาพไม่กะพริบ และอื่น ๆ

3. การปรับแสงสว่างให้พอเหมาะจะช่วยลดอาการไม่สบายตาได้

4. จอภาพคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ จะมีสารเคลือบกระจกของจอภาพช่วยลดแสงสะท้อนอยู่แล้ว จึง
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้แผ่นกรองแสงติดภายนอกอีก การใช้แผ่นกรองแสงอาจช่วยลดแสงสะท้อนได้ แต่ขณะเดียวกันจะทำให้ความคมชัดของภาพลดลง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ตาเมื่อยล้าได้

5. ควรปรับสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ลดเสียงรบกวน ให้เหมาะกับการทำงาน

6. โต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับผู้ใช้

7. ไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นตะกั่วเพื่อป้องกันรังสีเอกซเรย์ที่แพร่กระจายออกจากจอภาพ แม้สตรีตั้ง-
ครรภ์ก็ไม่จำเป็นต้องใช้

8. หากมีปัญหาในการมองเห็นควรพบแพทย์                          

 

                  

ในแง่ของสภาพแวดล้อมทั้งแสง เสียง อุณหภูมิในห้องทำงาน รวมไปถึงอุปกรณ์ภายในสำนักงานก็
เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดอาการผิดปกติ อันเกิดจากการทำงานระยะใกล้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีข้อแนะนำดังนี้
1. ปรับแสงสว่างให้พอเหมาะทั้งแสงบนจอคอมพิวเตอร์และแสงรอบข้าง โดยทั่วไปควรปรับแสง
สว่างบนจอภาพให้สว่างเป็น 3 เท่า ของความสว่างในห้องทำงาน เช่น ความสว่างบนจอคอมพิวเตอร์เท่ากับ 500 ลักซ์ ความสว่างรอบข้างภายในห้องควรประมาณ 150 ลักซ์ ไม่ควรดับไฟในห้องทำงานแล้วเปิดแต่จอภาพคอมพิวเตอร์ เพราะจะทำให้มีอาการไม่สบายตา

2. ควรปรับระดับจอภาพคอมพิวเตอร์ให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ประมาณ 15-20 องศา เพราะท่าที่ตาเหลือบมองลงล่างเล็กน้อย จะเป็นท่าที่สบายที่สุด หากจอคอมพิวเตอร์อยู่สูงกว่าระดับสายตา ร่างกายจะปรับโดยการเงยหน้าสูงขึ้นเพื่อทำให้ระดับสายตามองลงล่าง การเงยหน้านาน ๆ จะทำให้มีปัญหา ปวดคอ ปวดไหล่ และปวดหลังได้

3. สำหรับผู้ที่มีสายตาคนแก่ (สายตายาว) ซึ่งมักเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 40 ปี จำเป็นต้องใช้
แว่นช่วยในการดูใกล้ การเลือกชนิดของแว่นก็มีความสำคัญต่อการทำงาน แนะนำว่าควรเลือกใช้แว่นชนิดชั้นเดียว (สำหรับมองใกล้อย่างเดียว) จะดีกว่าการใช้แว่นตาชนิดสองชั้น (สำหรับมองใกล้และมองไกล) เพราะจะทำให้ลานสายตากว้างกว่า และควรบอกผู้ประกอบแว่นด้วยว่าต้องการใช้สำหรับการทำงานที่ระยะ 50-70 เซนติเมตร เพราะมิฉะนั้นแล้ว ช่างจะตัดให้เห็นชัดที่ระยะ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใช้ในการอ่านหนังสือ

4. โต๊ะ เก้าอี้ แป้นพิมพ์ ระดับความสูงของคอมพิวเตอร์ ควรเป็นแบบชนิดที่สามารถปรับให้สูงต่ำ
ได้ตามต้องการ เพื่อให้ได้ท่านั่งที่สบาย ถูกสุขลักษณะ นั่นคือ
- ควรให้จอคอมพิวเตอร์อยู่ระดับต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย
- โต๊ะและเก้าอี้สูงพอเหมาะที่จะนั่งได้พอดีโดยหลังตรง ไม่คดงอ
- ควรมีที่สำหรับวางข้อมือระหว่างพิมพ์กับขอบโต๊ะ เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนและไหล่


เครื่องคอมพิวเตอร์จัดเป็นเครื่องใช้สำนักงานที่มีประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดโทษได้

 

ข้อมูลสื่อ

200-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 200
ธันวาคม 2538
เรื่องน่ารู้
พญ.จุฑาไล ตันฑเทิดธรรม