..น้อยเป็นสาว office มาหาหมอด้วยอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่สนิท บางเวลาก็มีอาการปวดศรีษะ ปวดตามต้นคอ ต้นแขน เธอเป็นอย่างนี้แบบเป็นๆหายๆมานานกว่าครึ่งปี หมอให้ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดและรักษาตามอาการมาตลอด ก็ดีขึ้นบ้าง ไม่ดีขึ้นบ้าง..
..เล็กเป็นพนักงานบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เขาต้องทำงานนอกเวลาเป็นประจำ บางครั้งกลับบ้านดึกมาก เป็นอย่างนี้มาหลายปี เล็กมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่ เคยซื้อยารักษาโรคกระเพาะอาหารและยารักษากรดไหลย้อนมากินก็ทุเลาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นใหม่อีก..
แพทย์วินิจฉัยว่า น้อยเป็นโรค Office Syndrome ซึ่งเป็นอาการของคนที่นั่งติดโต๊ะ ติดหน้าจอการทำงานมากเกินไป ส่วนเล็กถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากความเครียดเรื้อรังสมบุกสมบันกับการทำงานมากเกินไป แต่จริงๆแล้วทั้งสองรายมีมูลเหตูต้นต่อของการเจ็บป่วยที่คล้ายคลึงกัน คือ การใช้ชีวิตเนือยนิ่งมากเกินไป ขาดการเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร
มีตัวเลขที่น่าเป็นห่วงจาการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ใหญ่เกือบทั่วโลก และ ๔ ใน ๕ (หรือ ๘๐ %) ของเด็กวัยรุ่นมีการเคลื่อนไหวร่างกาย น้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็นองค์กรอนามัยโลก สภาวะที่ เรียกว่า ความผิดปกติเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย (Excise deficit disorders หรือ EDD) กำลังกายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตร ที่พึ่งพิงเทคโนโลยีและบูชาความเร็วอย่างยิ่ง
เหตุปัจจโย เป็นคำบาลีแปลว่า “ เหตุเป็นปัจจัย” คือมีเหตุเป็นตัวกำหนดความเป็นไป พยาธิสภาพต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วนำไปสู่อาการเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆนั้น ล้วนแล้วมีเหตุปัจจัยเป็นตัวชี้นำทั้งสิ้น
ทุกวันนี้ทั้งหมอและคนไข้มักจะหวังพึ่งพาอาศัย “ยา” เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรือเยียวยาความเจ็บป่วยต่างๆแต่ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังมี “พฤติกรรมสุขภาพ” ที่ไม่เหมาะสมนับตั้งแต่พฤติกรรมการกิน (หวาน มัน เค็ม กินมากเกิน) พฤติกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย (น้อยเกินไป) การสูบบุหรี่และดื่มสุราจนเกินขอบเขต การใช้ชีวิตเร่งรีบ ความเครียดสะสมเรื้อรัง ปัญหาความเจ็บป่วยทางกายจะได้แต่ถูกข่ม หรือกดซ่อนเอาไว้ แล้วก็เป็นๆหายๆอยู่ตลอด
มีนักพฤติกรรมบำบัดให้ข้อสังเกตว่า ในทางสติปัญญาคนส่วนใหญ่ตระหนักรู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ แต่ปัญหาคือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ เหมือนดังคำพูดภาษาไทยโบราณที่ว่า “ ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
มีการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆนี้ พบว่ามีการเฝ้าสังเกตคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้เครื่องอุปกรณ์ที่สวมใส่ติดตัว เช่น เหน็บเอว ใส่ข้อมือ ใส่ต้นแขน (Wearable Eadget) เพื่อการติดตามดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Activity Tracker) ว่าได้มีส่วนส่งผลต่อสุขภาพ (น้ำหนัก ความดันโลหิต) ของเจ้าของหรือไม่ พบว่าอุปกรณ์เหล่านี้อาจมีส่วนช่วยทำให้ผู้สวมใส่ กระตือรือร้น ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ในช่วง ๑-๒ เดือนแรก แต่พอเวลาผ่านไป ๑ ปี มีคนเพียง ๑๐% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้อย่างแท้จริง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมและการกระทำอย่างต่อเนื่อง”
“ เหตุปัจจโย ” จึงเป็นเรื่องที่ทั้งหมอและผู้ป่วยต้องใส่ใจและให้ความสำคัญอยู่เสมอ.......
- อ่าน 7,058 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้