“ซื้อฝากได้ แต่ซื้อกินไม่ได้” นี่คือคำพูดที่คนเมืองน้ำดำ กาฬสินธุ์ กล่าวขวัญถึงเมื่อราว ๓-๔ ปีก่อน ถึงผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในเขตอำเภอคำม่วง พื้นที่ติดเทือกเขาภูพาน อำเภอนี้เป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงมากในการทอผ้าแพรวา ผลไม้ชนิดที่ว่านี้คือพุทรา เหตุที่มีคำล้อเลียนดังกล่าว เพราะมีการใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมากในสวนพุทรานั่นเอง
....พุทรา เป็นผลไม้ที่คนไทยเรานิยมบริโภคกันมาเนินนาน เดิมในประเทศไทยเราจะมีแต่พุทราพื้นเมืองลูกเล็ก บางพันธ์ก็มีหนามแยะและมักขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนาทั่วๆไป ต่อมาได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะผสมพันธุ์กับพันธุ์จากต่างประเทศ จนได้เป็นพุทราลูกโต สวย อวบแบบที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ พันธุ์ที่นิยมปลูกกันอยู่ในขณะนี้ คือพันธุ์นมสด พันธุ์สามรส และพันธุ์จัมโบ้
แหล่งปลูกพุทราในประเทศไทยนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป แต่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญๆนั้นมาจากอำเภอวังน้ำเขียว (นครราชสีมา), สุพรรณบุรี, เชียงใหม่, เชียงราย, แพร่ แหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุดในภาคอิสานขณะนี้อยู่ที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมกันทั้งอำเภอมีถึง ๑,๓๐๐ ไร่
พุทรา หรือที่ชาวบ้านภาคอิสานเรียกว่า หมากทันนั้น มีศัตรูพืชที่สำคัญคือ แมลงวันทอง ทำให้ต้องมีการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลงพ่นเป็นระยะๆ ก่อนปี ๒๕๕๗ มีการตรวจเลือดเกษตรกร ที่ทำอาชีพปลูกพุทรา พบว่ามีถึง ๕๗% ที่พบสารเคมียาฆ่าแมลงอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย บางรายได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไปมากจนเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
ก่อนหน้านั้นคือ ในปี ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี และหันมาปลูกพุทรากางมุ้ง แต่ชาวบ้านก็ยังให้ความร่วมมืออยู่ไม่กี่ราย และต้นทุนสูง โดยเฉลี่ยพุทรา ๑ ไร่จะได้ผลผลิตประมาณ ๔ ตัน/ปี ทำรายได้ถึงไร่ละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท/ปี
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๕ มีแมลงวันทองระบาดทำให้พุทราของชาวบ้านเสียหายมาก ขนาดใช้สารเคมียาฆ่าแมลงพ่นก็เอาไม่อยู่ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ทำพุทรากางมุ้งอยู่ เป็นกลุ่มที่ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
ต่อมาชาวบ้านได้ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนจากทางจังหวัด ขอให้ช่วยสนับสนุนทุนเพื่อจัดหามุ้งตาข่ายมาใช้ในการทำสวนพุทรา (เพราะต้นทุนต่อไร่สูงถึง ๔๐,๐๐๐ – ๕๐,๐๐๐ บาท) อยู่หลายปี เพิ่งจะได้รับการสนับสนุนในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่พอเพียงต่อความต้องการของเกษตรกรในขณะนี้
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ การแพทย์วิถีธรรม และระบบสุขภาพชุมชนแก่ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกรซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จนในขณะนี้เกษตรกรประมาณ ๑๓๐ รายในเนื้อที่ ๔๐๐ กว่าไร่ในพื้นที่ ได้หันมาทำพุทรากางมุ้ง ผลการตรวจพุทราจากแผงข้างถนน ๒๖ ราย พบว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น (จากเดิมมีถึง ๙๐% ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน)
ในส่วนราคาจำหน่ายพุทรา โดยพุทราทั่วไปที่ใช้สารเคมี จะจำหน่ายราคากิโลกรัมละประมาณ ๔๐ - ๖๐บาท หากเป็นพุทรากางมุ้งสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ ๘๐-๙๐ บาท “ความปลอดภัยเป็นมูลค่า” คือสิ่งที่เกษตรกรเริ่มตระหนักและเรียนรู้
“แรลลี่มุดมุ้ง บายนม” (ล้อเลียนพุทราพันธุ์นมสด) จะเป็นคำโฆษณาที่อำเภอคำม่วงจะใช้ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นฤดูที่จะมีพุทราออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การดูแลสุขภาพวิถีธรรม ผนวกกับการส่งเสริมสินค้าOTOPชุมชนอีกอย่างของ อ.คำม่วง คือผ้าแพรวา
ในส่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ริเริ่มพัฒนาสินค้ารับรองภายใต้ตรา KS (Kalasin food safety) เพื่อเพิ่มความมั่นใจกับผู้บริโภค โดยในขณะนี้มีผู้ผลิตพุทรากางมุ้งหลายรายแล้วที่ได้รับการรับรองสินค้า KS จนขณะนี้เริ่มมีห้างสรรพสินค้าดังในกรุงเทพเข้ามาติดต่อนำพุทราปลอดภัย KS ดังกล่าวขึ้นไปวางบนชั้นจำหน่ายแล้ว
อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามจากผู้บริโภคหลายรายว่า ทำอย่างไรจะแยกแยะพุทราสะอาดปลอดภัย ออกจากพุทราที่พ่นยาได้ ฝากข้อคิดนี้ไปถึงทุกท่านที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ ครั้งต่อไปก่อนซื้อพุทราลองถามที่มาของแหล่งปลูกก็จะดีครับ
- อ่าน 8,658 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้