• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็ง.....ไม่ใช่โทษประหารชีวิต

...คนทั่วโลกเป็นมะเร็งกันมากขึ้น....ประเทศไทยก็ไม่พ้นจากกระแสโรคเหล่านี้

...สมภารวัดชื่อดังรูปหนึ่ง  ปรารถให้ผมฟังว่า  ศพที่ไปฌาปนกิจที่เมรุเผาศพที่วัดของท่านประมาณ ๕๐% เสียชีวิตจากมะเร็ง  ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วที่ท่านมาบวชใหม่ๆ  สมัยก่อนศพมะเร็งมาเผาที่วัด  มีซัก ๑๐-๒๐% เท่านั้นเอง  ตอนนี้เพิ่มขึ้น ๒- เท่า  บางศพอายุยังน้อยอยู่เลย  แค่ ๒๐ ปีกว่าก็มี

....หน่วยราชการแห่งหนึ่ง  ก่อตั้งมาได้ประมาณ ๑๐ ปีเศษ  มีพนักงานประมาณ ๓๐ คน  อายุอยู่ระหว่าง ๓๐– ๕๕ ปี 

ใน ๓ ปีแรก  ไม่มีใครเจ็บป่วยจากมะเร็ง

ใน ๓ ปีที่สอง  มีคนเป็นมะเร็ง ๑ คน  ตอนนี้ยังรักษาตัวอยู่

ใน ๓ ปีสุดท้าย  มีคนเป็นมะเร็ง ๓ คน  ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ๒ คน

ฝรั่งเรียกมะเร็งว่า Cancer หรือบางทีพวกหมอก็เรียกกันย่อๆว่า Big C

ศัพท์ละตินทางการแพทย์เรียกว่า Malignancy  คนในแต่ละทวีป ภูมิภาค ประเทศ จะมีอุบัติการณ์ของการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่แตกต่างกันไป  เพราะความแตกต่างทางกรรมพันธุ์  สภาวะแวดล้อม อาชีพ อาหาร หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

คนในทวีปออสเตรเลีย  จะเป็นมะเร็งผิวหนังมาก  เชื่อว่าเกี่ยวกับชั้นโอโซนในอากาศเบาบาง

คนในเมืองจีน  จะเป็นมะเร็งโพรงจมูกกันแยะ  เชื่อว่าเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ และมลภาวะ

คนไทยจะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งตับสูง  เชื่อว่าเกี่ยวกับพยาธิใบไม้ในตับ และอาหารบางชนิด

...ประเทศไทยในปี ๒๐๑๕ นี้   มีคนตายจากมะเร็งประมาณ ๖.๕ หมื่นคน  จากผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ ๕ แสนคน  หรือคิดเป็น ๑๔-๑๕%  เป็นผู้ชาย ๖๐%  ผู้หญิง ๔๐% ซึ่งเท่ากับว่า  ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อมะเร็งมากกว่าผู้หญิงประมาณ ๑.๕ เท่า

...ตัวเลขเหล่านี้ ใกล้เคียงกับผลสำรวจในประเทศจีน  ซึ่งในปี ๒๐๑๓ พบว่ามีอัตราการวินิจฉัยการป่วยด้วยมะเร็งถึง ๓,๑๕๓,๖๐๐ คน/ปี หรือนาทีละ ๖ คน  และพบมะเร็งปอดมากที่สุดเพราะคนจีนสูบบุหรี่จัด  ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือทั้งคนไทยและคนจีนพบมะเร็งในลำไส้เพิ่มขึ้นอย่างมาก  โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง

ฉันจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่จะเป็นคำถามที่อยู่ในใจผู้ป่วยและญาติตลอดเวลา เมื่อรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง  ประสบการณ์และวุฒิภาวะของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขในการสื่อสารและดูแลผู้ป่วยเหล่านี้มีความสำคัญมาก  หมอต้องมีทักษะหลายๆอย่างในการที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติตั้งแต่แรกวินิจฉัย  จะพูดอย่างไรไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะขวัญหายกระเจิดกระเจิงตอนกลับไปบ้าน  บางครั้งอาจต้องบอกญาติก่อน  บางครั้งอาจต้องบอกแค่ครึ่งเดียว (เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติค่อยๆทำใจ)  บางครั้งอาจต้องให้ความจริงเชิงสถิติ  และที่สำคัญคือ  อย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง...

...เริ่มมีการถกเถียงกันว่า  คำพูดที่หมอชอบพูดอยู่เสมอๆว่า “อยู่ได้ไม่เกินแค่นั้น  แค่นี้เดือน (ปี)”  เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่  เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีพยาธิสภาพของโรคไม่เหมือนกัน  มีการตอบสนองต่อการรักษาไม่เหมือนกัน  และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองที่แตกต่างกันไป

...ผู้ป่วยจะอยู่ได้กี่เดือนกี่ปีก็แล้วแต่  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญมาก  ครอบครัวบางครอบครัวหมดเนื้อหมดตัวหรือเป็นหนี้สิน  เพราะแพทย์ชี้นำไม่ถูกต้อง  คนป่วยบางคนตายอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในโรงพยาบาล  เต็มไปด้วยสายระโยงระยางและท่อต่างๆในวาระสุดท้าย  และครอบครัวไม่มีโอกาสอยู่เคียงข้าง

...ในอเมริกา และยุโรปเริ่มมีการพัฒนาศาสตร์ที่เรียกว่า Phychological oncology ว่าด้วยการดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง  มีคำพูดที่ว่า “ในการเกิดผลข้างเคียงด้านร่างกายจากการรักษามะเร็ง จะมีผลข้างเคียงด้านจิตใจควบคู่อยู่ด้วยเสมอ”  ศาสตร์ด้านนี้ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือด้านสังคม การปฏิบัติสมาธิภาวนา และการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆสำหรับผู้ป่วย

...การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นอีกส่วนที่มีความจำเป็นและสำคัญสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย  อันได้แก่  การบำบัดความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน  การให้ยาระงับประสาทเพื่อให้นอนหลับได้ การบริหารจิต การให้คำแนะนำแก่ญาติ  เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นในช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา

โรงพยาบาลอาจดูแลผู้ป่วยได้ดีในบางภาวะเงื่อนไข  แต่การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Care) และชุมชน  อาจจะสำคัญพอๆกัน (หรือมากกว่า)  ไม่มีผู้ป่วยคนไหนอยากอยู่โรงพยาบาลนานๆ  ทุกวันนี้โรงพยาบาลบางแห่ง  เริ่มพัฒนาความร่วมมือกับท้องถิ่น (เทศบาลและอบต.) ในการจัดให้มีบุคลากรเยี่ยมบ้าน  บางแห่งมีชุดถังออกซิเจนขนาดเล็ก  ชุด Infusion set สำหรับให้ยามอร์ฟีนแก้ปวดแก่ผู้ป่วย  หรือแม้กระทั่งเตียงนอนผู้ป่วยติดเตียงให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยมะเร็งไปใช้ได้

...การรักษาด้วยรูปแบบทางเลือกอื่นๆ  เช่น ยาแผนโบราณ แผนจีน การนวด การเพ่งกระแสจิต  บางครั้งถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหา  ถูกมองว่าเป็นด้านลบจากบุคลากรสาธารณสุขแผนปัจจุบัน  จริงๆแล้วศาสตร์เหล่านี้ในด้านที่เป็นคุณก็มี  แพทย์แผนปัจจุบันต้องใจกว้าง และใส่ใจหาความรู้เพิ่มเติมในศาสตร์เหล่านี้  บางครั้งอาจต้องบอกข้อดี ข้อเสียให้ฟัง แล้วให้ญาติและคนไข้ตัดสินใจเอง... ยาแผนโบราณบางตัวให้ผลที่เหลือเชื่อในผู้ป่วยมะเร็งบางราย...

ท้ายที่สุดนี้  คำวินิจฉัยว่า “คุณเป็นมะเร็ง” ไม่ได้เป็นคำพิพากษาว่า “คุณต้องตายแน่ๆในเร็ววันนี้” แต่เป็นสัญญาณเตือนภัยว่า “คุณต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิถีชีวิตใหม่”  ได้แล้ว  มะเร็งเป็นโรคที่หายได้ถ้าคุณ “กล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง....”

ข้อมูลสื่อ

452-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 452
ธันวาคม 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ