• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้จัก.....บางกะเจ้า

คุ้งน้ำบางกะเจ้า...เป็นชื่อของพื้นที่คล้ายกระเพาะหมู ซึ่งถูกโอบล้อมรอบโดยแม่น้ำเจ้าพระยากว่า ๘๕% มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๘๑๙ ไร่ ประกอบด้วย ๖ ตำบล คือตำบลทรงคนอง บางยอ บางกระสอบ บางกะเจ้า บางน้ำผึ้ง และบางกอบัว ของอำเภอพระประแดง สมุทรปราการ พื้นที่นี้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ ๑๔ กันยายยน พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร ในแต่ละปีลมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดเอาออกซิเจน และความชุ่มชื้น จากโอเอซิสกลางกรุงเทพฯแห่งนี้เข้าสู้กรุงเทพมหานครถึง ๙ เดือน มีระยะห่างจากสีลมเพียง ๕ กิโลเมตร. แม่น้ำเจ้าพระยาซีกตรงข้ามคือฝั่งสาธุประดิษฐ์ ถนนพระรามสามและคลองเตย

ในปี ๒๕๔๙ นิตยาสาร Time Asia ได้ยกย่องให้พื้นที่คุ้งน้ำบางกะเจ้าแห่งนี้เป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเซียแห่งหนึ่ง ( The Best Urban Oasis of Asia 2006 ) ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่าคุ้งน้ำแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่สามน้ำ ( เพราะมีทั้งน้ำทะเล, น้ำกร่อยละน้ำจืดสลับกันไป) แต่ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อย

ที่สำคัญอีกอย่างบางกะเจ้ากำลังกลายเป็น “เส้นทางในฝัน... ที่น่าลิ้มลอง” ของนักปั่นจักรยาน

ผมไม่มีข้อมูลมากนัก ในภาพรวมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของบางกะเจ้า แต่พื้นที่ดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะการสนับสนุนจากส่วนราชการต่างๆ และภาคเอกชน ( ปตท. และการท่าเรือ) ในการจัดทำแผนแม่บท และการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สมบรูณ์ในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่การออกกกฎหมายห้ามก่อสร้างตึกสูงเกิน 3 ชั้น ห้ามหมู่บ้านจัดสรร การเตรียมย้ายโรงงานอุสาหกรรมที่มีอยู่ตรงช่วงกระเพาะหมู และใกล้ๆสะพานภูมิพล การพัฒนาสวนสาธารณะ การพัฒนาสวนป่า การปลูกต้นไม้ ขณะนี้กำลังมีการสร้างสวนพฤกษชาติใหม่อีกแห่งที่บริเวณวัดจากแดง เนื้อที่ ๔๘ ไร่ นอกเหนือจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ของเดิมซึ่งมีเนื้อที่ ๒๐๐ไร่อยู่เดิมแล้ว

สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของบางกะเจ้าคืนสวนศรีนครขันธ์ (ซึ่งสมบรูณ์มาก) ทราบมาว่าพระเจ้าหลานเธอฯพระองค์เจ้าพัชระกิติยาภา เสด็จมาทรงปั่นจักรยานแล้วหลายครั้งและนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยม สวนป่าเกดน้อมเกล้า ที่มีเส้นทางมรดกไว้ปั่นจักรยาน พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย บ้านธูปหอม ใครที่ชอบเข้าวัดแนะนำวัดไพชยนต์พลเสพย์ที่มีศิลปะ จีน มอญ ไทย ผสมผสานกัน ใครอยากดูคลองลัดโพธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดำริให้ขุดลอก (ส่วนระยะทางน้ำไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา) ก็ไปอีกไม่ไกล และที่ขาดเสียไม่ได้คือตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ที่อลังการไปด้วยอาหารให้ลิ้มลองชิมมากมายในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ผมขอพูดเรื่องการปั่นจักรยาน ที่กำลังเป็นกระแสแรงมากๆ บนคุ้งน้ำบางกะเจ้าหน่อยแล้วกัน เผื่อท่านหลายท่านที่อ่านและสนใจเรื่องนี้

๑.      ร้านที่เช่าจักรยานมีมากมาย ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่เป็นจักรยานแม่บ้าน แต่บางร้านก็มีเสือภูเขาด้วย จักรยานเสื้อหมอบไม่แนะนำ เพราะบางพื้นที่ถนนขรุขระ และส่วนใหญ่ทำความเร็วไม่ได้ เท่าที่สังเกตุประมาณ ๕๐% เป็นจักรยานที่นำมากันไปเอง มีคนจูงจักรยานข้ามเรือจำนวนมากในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

๒.    ถ้อยากปั่นสบายๆ รถน้อยๆ ควรไปวันธรรมดา เพราะเสาร์อาทิตย์รถจะเยอะหน่อยแต่ตลาดน้ำจะเปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น นอกจากนี้ถ้าหากหลายท่านไม่อยากปวดหัวกับที่จอดรถวันหยุดก็สามารถจอดรถไว้แถวท่าเรือวัดคลองเตยนอก หรือวัดบางนานอกแล้วลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสะดวกดี

๓.     เส้นทางปั่นจักรยานมีหลายเส้นทางมาก ชมรมจักรยานบางกะเจ้าเคยทำไว้มี 3 ทางหลักให้เลือก ( สนใจสามารถเปิด Web Site ของชมรม หรือติดต่อสอบถามที่ลุงกุล ประธานชมรมได้ ) เส้นทางมีทุกรูปแบบ แต่ ๙๕% เป็นทางปูนและราดยาง ถ้าปั่นทั้งวันได้ ๕๐-๖๐ กม. รอบคุ้งน้ำ และจอดพักได้เป็นระยะ

๔.     สำหรับคนที่ปั่นจักรยานยังไม่แข็ง ไม่เก่ง อาจต้องระวังนิดหนึ่ง บริเวณสวนป่าและทางปูนเพราะค่อนข้างแคบ รถจักรยานต้องหลบกัน นอกจากนี้บางช่วงมีคราบตะไคร่เขียวซึ่งอาจลื่นตกลงในป่าจาก หรือตกน้ำได้

นับวัน....คนกรุงเทพฯและคนที่อื่น ไปเที่ยวบางกะเจ้ากันมากขึ้น สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ถือเป็นสวนสาธารณะที่มีความเป็นป่ากลางกรุงฯที่สมบรูณ์มาก เป็นธรรมชาติและร่มรื่นกว่าสวนจตุจักร สวนรถไฟ หรือสวนไหนๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ด้วยความจำกัดด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง การรองรับนักท่องเที่ยวไม่ไหว น่าจะเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนในอนาคต ถนนหลายเส้นยังไม่ค่อยเหมาะกับการปั่นจักรยานนัก การจัดการกับขยะที่พอกพูนขึ้นทุกวัน ไปจนถึงวิถีชุมชนเกษตร สวนดั้งเดิมที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะกระแสทุนนิยมที่กำลังหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่

เราต้องช่วยกันดูแล และใส่ใจคุ้งน้ำบางกะเจ้ากันให้มากๆ เพราะเป็นของดีมีค่าที่ต้องหวงแหนอนุรักษ์กันอย่างเป็นระเบียบแผน และเอาจริงเอาจัง จากทุกๆ ฝ่าย

ข้อมูลสื่อ

448-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 448
สิงหาคม 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ