“ต้นไม้เป็นอย่างไร คนก็เป็นอย่างนั้น” คำคมประโยคข้างบนนี้ เขียนติดอยู่บนป้ายไม้ที่แขวนติดอยู่ในวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี เป็นคำพูดที่หลวงปู่ชา เคยกล่าวไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังอยู่เนื่องๆ สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่...
ปี 2559 นี้ เป็นปีที่ประเทศไทยประสบกับภาวะแห้งแล้ง ฤดูแล้งยาวนาน อากาศร้อนจัดกว่าทุกๆปี ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ บางแห่งแม่น้ำลำคลองตื้นเขิน นับเป็นอีกปีหนึ่งที่เราเห็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน ผลกระทบเรื่องนี้ทำให้เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ผืนป่าหลายแห่งได้รับความเสียหาย ที่จังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอแก้งคร้อ-ภูเขียว พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ร่วมกับชาวบ้านในแถบนั้นและเครือข่ายกัลยาณมิตร ปลูกป่าไว้บนแถบเชิงเขาและพื้นที่สูงนับพันไร่ เป็นเวลากว่า 10 ปี ก็ได้รับความเสียหายจากไฟป่า (แต่คาดว่าเป็นฝีมือพรานและพวกหาของป่า) เสียหายร้ายแรงมาก ในเขตภาคเหนือของประเทศก็ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน
ข่าวที่ปรากฏในสื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า แม่น้ำลำคลอง ไปจนถึงเขื่อนเก็บกักน้ำแทบทุกแห่งทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก แม่น้ำยมในบางพื้นที่แห้งถึงขั้นเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้ คลองหลายสายในจังหวัดปริมณฑลรอบๆกรุงเทพฯ และภาคกลางแห้งผากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน จนเดือดร้อนเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีน้ำจะมาทำน้ำประปาอุปโภคบริโภคกับประชาชนในพื้นที่
คำถามคือ ทำไมประเทศไทยถึงรักษาป่าไว้ไม่ได้ ข้อมูลพบว่าการสำรวจเดิมในปี 2551 ประเทศไทยมีป่าไม้เหลือร้อยละ 33 ของพื้นที่ประเทศไทย มาเมื่อปีพ.ศ. 2558 มีการสำรวจใหม่ พบว่าเหลืออยู่เพียงร้อยละ 30 โดยมี 6 จังหวัดที่ไม่มีป่าไม้เลย คือ นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สิงห์บุรี และอ่างทอง และมีอีกหลายจังหวัดที่ป่าไม้เหลือไม่ถึง 1% ของพื้นที่ เช่น พิจิตร (0.29%), สมุทรปราการ (0.43%) สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม
ตัวเลขที่ผมอ้างอิงมานี้ เป็นตัวเลขที่ได้จากกรมป่าไม้ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เพราะบางส่วนไปนับรวมสวนยางพารา, ป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วเข้าไปด้วย
....ช่วง 1-2 เดือนมานี้ มีกระแสการตื่นตัวเรื่องการดูแลรักษาต้นไม้ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง คือ กระแสการตัดแต่งต้นไม้ในเขตเมืองแบบไม่ถูกวิธี เพราะตัดแบบหั่นยอด ตัดเอากิ่งที่แข็งแรงออก ทำให้ต้นไม้ในเมือง และเขตเทศบาลจำนวนมาก กลายเป็นต้นไม้ “เอ๋อ” เพราะเสียรูปทรง อ่อนแอ ดูไม่สมส่วนงดงาม และบางต้นก็แคระแกรนไปเลย มีการเปิดwebsite รณรงค์เผยแพร่ปัญหานี้ และมีคนร่วมสนับสนุนมากพอประมาณ โดยเฉพาะต้นไม้ในกรุงเทพมหานครประสบกับปัญหานี้มาก จนมีคนแซวว่าหน่วยราชการไทย รักสายไฟฟ้ามากกว่าต้นไม้, ต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
....เวลาฝนตกใส่หลังคาบ้าน ถ้าเป็นหลังคาสังกะสี หรือกระเบื้อง น้ำจะไหลพรวดๆลงข้างล่างหมด ฝนหยุดเมื่อไร น้ำบนหลังคาก็หยุดตอนนั้น แต่ถ้าเป็นหลังคามุงจาก หรือหญ้าแฝกบางทีฝนหยุดไปแล้ว 10-15 นาที ก็ยังมีน้ำไหลติ๋งๆจากชายคาลงมา เพราะใบหญ้าแฝกและจาก ช่วยซึมซับน้ำเอาไว้แล้วค่อยๆปล่อยให้ไหลออกมา หลักการนี้เป็นแบบเดียวกับการดูดซับน้ำฝนไว้ของต้นไม้ ทำให้แม่น้ำลำคลองของเรามีน้ำไหลทั้งปี แม้จะไม่มีฝนตกในฤดูแล้งก็ตาม พอต้นไม้ป่าไม้ถูกโค่นทำลาย แม่น้ำลำคลองก็เลยพลอยกระทบไปด้วย
...ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 นี้ หลายจังหวัดได้จัดให้มีโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือเป็นฤกษ์นิมิตรหมายที่ดี เพราะขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูฝน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมกล้าไม้ไว้หลายล้านต้น สำหรับแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานราชการ
....ในประเทศบรูไน ซึ่งแม้เป็นประเทศเล็กๆ แต่ยังมีพื้นที่ป่าไม้เหลือถึง 80% ของเนื้อที่ประเทศ รัฐบาลมีนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบำรุงรักษาป่าไม้ คือ ตัด 1 ปลูดทดแทน 4 ต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้เป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN ในขณะนี้ ซึ่งหากดูผลสำรวจในปี 2556 พบว่า
อับดับ 1 บรูไน มีพื้นที่ป่าร้อยละ 74
อันดับ 2 ลาว " 71
อันดับ 3 เมียนมาร์ " 63
อันดับ 4 มาเลเซีย " 59
อันดับ 5 กัมพูชา " 51
อันดับ 6 อินโดนีเซีย " 46
อันดับ 7 เวียดนาม " 37
อันดับ 8 ไทย " 29
อันดับ 9 ฟิลิปปินส์ " 23
อันดับ 10 สิงค์โปร์ " 3
ที่น่าทึ่งคือ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ยังคงรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ถึง 67% และ 64% ตามลำดับ จะเห็นว่าประเทศไทยเรามีการบ้านที่จะต้องทำอีกแยะในเรื่องนี้
....พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินทปัญโญ) เคยกล่าวไว้ว่า “เรื่องหนึ่งที่คนสนใจกันน้อย คือการเป็นเกลอกับธรรมชาติ” ขยายความคือ ท่านอธิบายว่า “ต้นไม้นั้นพูดได้ และก้อนหินแสดงธรรม” นอกจากนี้ท่านยังพูดถึงการปลูกต้นไม้ที่สัมพันธ์กับอายุในวัยต่างๆ เช่น เด็กๆมักจะชอบปลูกไม้ดอก เมื่อโตขึ้นก็จะปลูกต้นไม้ผลที่กินได้ ขายได้ พออายุสูงวัยก็จะปลูกต้นไม้ใหญ่เชิงสัญลักษณ์ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นยางนา ต้นพะยูง อย่างนี้เป็นต้น...
- อ่าน 5,565 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้