• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จาก “เวทีเสียงบ่น สู่สมัชชาพิจารณ์”

          ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศ กำลังรอคอยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังร่างใหม่ว่าหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร  จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ช่วย “ปฏิรูปการเมือง” ของประเทศให้ดีขึ้นได้สมดังเจตนารมย์ที่หลายคนมุ่งหมายอยู่หรือไม่  ที่สำคัญคือ จะมีกระบวนการรับฟังความเห็นของภาคีเครือข่ายต่างๆอีกหรือไม่ ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

          ผมอยากจะเรียนว่า  ในบรรดากฎหมายต่างๆที่มีอยู่หลายร้อยฉบับในขณะนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยมาก เพราะได้กำหนดไว้ในมาตรา 18 (13) ว่า  “ต้องมีการจัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ” เป็นประจำทุกปี  โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

          การทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกนั้นเริ่มในปี 2546 โดยเป็นการจัดในระดับประเทศ บรรยากาศการประชุมค่อนข้างเป็นทางการ  สถานที่คือโรงแรมในกรุงเทพมหานคร  มีผู้ร่วมประชุมหลายร้อยคน  บรรยากาศในวันนั้นค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ “แปลกใหม่” สำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะคนไทยยังไม่เคยชินกับบรรยากาศที่ใครจะยกมือขอพูดเรื่องอะไรก็ได้  ในเรื่องหลักประกันสุขภาพซึ่งตอนนั้น คำว่า “หลักประกันสุขภาพ” ก็ยังเป็นคำที่แปลกใหม่เช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะในมุมของภาคประชาชน

          สภาพบรรยากาศจึงค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วย “เสียงบ่น – เสียงวิพากย์” การให้บริการของโรงพยาบาล  ความไม่สะดวกในการได้รับบริการต่างๆนานาที่ประชาชนได้รับ  ผู้แทนจากหน่วยบริการหลายคนมีท่าทีอึดอัดและไม่สบายใจต่อการถูกโจมตี ถูกต่อว่าต่อขานจากชาวบ้าน  หลายท่านเสนอแนะในสิ่งที่ตนเอง “คาดหวัง” ซึ่งบางเรื่องจำเป็นต้องมีกระบวนการปรับปรุงกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆที่กำหนดไว้เดิม  บางเรื่องต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการรองรับ  การสรุปผลการประชุมจึงเป็นเรื่องที่ทำอย่างลำบากยากเย็นเพราะต้องพยายามนำสิ่งที่ถูกสะท้อนมาทั้งหมด  ซึ่งมีทั้งเสียงบ่น ความคาดหวัง ข้อเสนอ ซึ่งระคนไปด้วยความไม่เข้าใจที่สุกๆดิบๆหรือยังไม่ได้กลั่นกรองสังเคราะห์ปะปนอยู่ด้วย

          ต่อมาในการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2, 3, 4 ได้เริ่มมีการจัดประชุมในระดับภาค และระดับเขต เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เริ่มจัดตั้งสำนักงานสาขาในส่วนภูมิภาคขึ้นรองรับการทำงานในพื้นที่  อย่างไรก็ตามรูปแบบและบรรยากาศการจัดประชุมก็ยังคล้ายๆเดิม  จะมีที่แตกต่างไปบ้างคือ  เริ่มมีการกำหนดหัวข้อที่จะให้พูดอภิปรายที่เป็นระบบมากขึ้น  เช่น การเน้นภารกิจหลัก 7 ประการที่เป็นบทบาทหน้าที่หลักของระบบหลักประกันสุขภาพในการดูแลประชาชน  เรื่องการเงินการคลังของหน่วยบริการ  สภาพคล่องทางการเงิน เริ่มถูกหยิบยกนำมาอภิปรายกันมากขึ้น เพราะในช่วงแรกเงินงบประมาณที่ได้รับยังมีการบริหารจัดการที่ยังไม่ลงตัวนัก

          ประโยชน์ของการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) นั้นมีหลายประการ นับตั้งแต่

1.       เป็นกลไกใหม่ในการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งหมอในโรงพยาบาล, ประชาชนที่เข้ารับบริการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงองค์กรเอกชนที่อยู่ในพื้นที่

2.      เป็นกระบวนการในการสร้าง “ความเป็นเจ้าของร่วมกัน” (ownership) ซึ่งทำให้เกิดความต้องการที่จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น

3.      เป็นเวทีในการรับฟังข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านบวกด้านลบ เพื่อนำไปประมวลสังเคราะห์ขอบเขตการให้บริการ  สิทธิประโยชน์และคุณภาพบริการให้ดีขึ้น

4.      เป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจและตื่นตัว  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน

รูปธรรมง่ายๆที่เป็นตัวอย่าง คือ ผลจากการทำประชาพิจารณ์ได้ทำให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวช  ด้านการเข้าถึงยาราคาแพง  ด้านการคลอดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งและอื่นๆอีกมากมาย

ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้  ได้มีการพัฒนาการทำประชาพิจารณ์ให้ก้าวหน้า  มีสาระ และเป็นประโยชน์กับระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น  อันได้แก่

ก.       มีการขยายการทำประชาพิจารณ์ไปจนถึงระดับจังหวัดและอำเภอ (นำร่อง) ในบางพื้นที่  เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมมากขึ้น  ทำให้ได้คนหน้าใหม่ที่เข้าใจและใส่ใจต่อระบบสุขภาพมากขึ้น

ข.      มีการจัดประชุมที่มอบหมายให้หน่วยงานย่อยในพื้นที่ทั้งภาครัฐบาลและประชาชน เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, มหาวิทยาลัยในพื้นที่, เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เป็นแกนหลักในการจัดประชุม  แทนที่จะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่อย่างที่ผ่านๆมา

ค.      บางแห่งมีการจัดประชุมแบบสมัชชาซึ่งเป็นระบบที่องค์การอนามัยโลกและเวทีนานาชาติใช้อยู่ในขณะนี้  ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัย, ต้องมีการเตรียมข้อมูลเอกสารประกอบการประชุมอย่างดี และได้ข้อสรุปที่เป็น “มติ” ของพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในทุกระดับ  บางแห่งสามารถพัฒนานำไปสู่การสังเคราะห์ธรรมนูญพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่มีคุณค่ามาก

ง.       เกิดการออกระเบียบ และวิธีปฏิบัติในการทำประชาพิจารณ์  ตลอดจนมาตรฐานการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2558

จ.      ทำให้การพัฒนา “กระบวนการนำข้อมูลและข้อเสนอ” จากเวทีประชาพิจารณ์ไปใช้ประโยชน์ในเชิงระบบและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

จวบจนถึงขณะนี้  เรามีเวทีประชาพิจารณ์ไปแล้ว 13 รอบ  ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546 – 2559)  สังคมไทยได้มีการเรียนรู้และเกิดจิตสำนึกใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  จากเวทีเริ่มต้นที่เต็มไปด้วย “เสียงบ่น” พัฒนาไปสู่เวทีที่มีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ  มีเนื้อหาสาระและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะกระบวนการ “สมัชชาพิจารณ์” ที่น่าประทับใจ  ทั้งหมดนี้ คือ วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่น่าตื่นตาตื่นใจและทรงคุณค่ายิ่ง

ข้อมูลสื่อ

445-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 445
พฤษภาคม 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ