“รายได้ช่วงนี้เป็นงัยบ้างลุง” ผมเอ่ยปากถาม ลุงบุญมีวัย ๖๒ ปี ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวร้อยเอ็ด แต่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดมาขับแท็กซี่ในกรุงเทพได้ ๑๐ กว่าปีแล้ว
“ก็พออยู่ได้ครับ รายได้ประมาณวันละ ๓-๔๐๐ บาท ถ้าวันไหนโชคดีได้ไปพัทยาหรือต่างจังหวัดก็ได้เป็นพัน แต่บางทีวนไปวนมาทั้งวัน ได้แค่ค่าเช่ารถก็มีเหมือนกัน” ลุงบุญมีตอบแบบอารมณ์ดี รถแท็กซี่คันสีชมพูลูกกวาดของแก เช่ามาจากสหกรณ์แห่งหนึ่งในราคา ๗๐๐ บาทต่อวัน ผนวกกับค่าแก็สอีกต่างหาก ทำให้คนขับรถที่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง ต้องดิ้นรนตัวเป็นเกลียว เพื่อจะหารายได้มาเจือจานครอบครัวในแต่ละวัน...
ขณะนี้ในประเทศไทย มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอยู่กว่า ๑๒๐,๐๐๐ คัน ในจำนวนนี้กว่า ๙๕% วิ่งรับผู้โดยสารอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ขณะนี้รัฐบาลกำหนดชนิดของแท็กซี่ไว้ ๒ ลักษณะ คือ แท็กซี่ส่วนบุคคล ซึ่งตัวถังเป็นสีเขียวเหลือง (ประมาณ ๑ ใน ๔ ของแท็กซี่จะเป็นกลุ่มนี้) ส่วนอีกชนิดคือแท็กซี่นิติบุคคลจดทะเบียนในรูปของนิติบุคคล หรือบริษัท ซึ่งเดิมมีหลากสีลูกกวาด แต่ต่อมาเพื่อให้เป็นระเบียบมาขึ้น กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถนิติบุคคลที่จดทะเบียนหลัง ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ต้องพ่นสีเหลืองที่ตัวถังและใช้ข้อความหรือเครื่องหมายอื่นเป็นสีน้ำเงิน...
ด้วยพฤติกรรมแวดล้อมที่ต้องนั่งขับรถอยู่บนถนนทั้งวี่ทั้งวัน ทำให้คนขับรถแท็กซี่จำนวนไม่น้อยเกิดอาการเจ็บป่วยตั้งแต่เล็กๆน้อยๆไปจนถึงอาการรุนแรงซึ่งอาจเรียกได้ว่า Taxi Syndrome ซึ่งเป็นโรคอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวประกอบด้วยอาการสำคัญดังต่อไปนี้
๑. อาการตะคริวที่เท้า รองลงมาคือปวดหลัง ตึงที่คอและปวดข้างลำตัว บางรายอาจมีอาการปวดศรีษะและกระบอกตาด้วย จึงมีคำแนะนำให้ผู้ขับขี่มีการหยุดพักทุก ๒ ชั่วโมง (แท็กซี่ส่วนใหญ่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง)
๒. ความเครียด การที่ต้องนั่งอยู่บนท้องถนนที่คับคั่งแออัดเต็มไปด้วยควันท่อไอเสีย ฝุ่นละอองเป็นเวลานาน ต้องเผชิญกับปัญหารถติด บางครั้งต้องเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์ด้านลบของผู้ขับขี่คนอื่น ทำให้ผู้ขับขี่เกิดความเบื่อหน่าย เครียดและกดดัน บางครั้งเราจึงอาจพบเห็นพฤติกรรมก้าวร้าว หรืออารมณ์รุนแรงในผู้ขับขี่รถแท็กซี่อยู่เนื่องๆ
๓. บริโภคอาหารไม่เป็นเวลา เพราะบางครั้งต้องรับส่งผู้โดยสารในช่วงมื้ออาหารพอดี บางครั้งไม่มีร้านอาหารที่พอจอดรถแวะทานอาหารได้ ทำให้ผู้ขับขี่บางคนกลายเป็นโรคกระเพาะ ต้องพกยาติดตัว บางคนต้องพกอาหารว่างไว้รองท้องบนรถด้วย
๔. ดื่มน้ำน้อย อั้นปัสสวะ ปัญหานี้อาจมีคนนึกถึงน้อย แต่กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลให้ผู้ขับขี่หลายคน มีอาการผิดปกติทางเดินปัสสวะ บางคนถึงขั้นเป็นนิ่วและทำให้ไตพิการตามมาได้ ผู้ขับขี่ที่มี Uric acid สูงหากดื่มน้ำน้อย นั่งอยู่กับที่นาน มีโอกาสเกิดนิ่วยูริคตกตะกอนในไตได้ง่าย ทำให้ไตอักเสบและไตวายในเวลาต่อมาได้
๕. โรคอ้วน เมื่อเกิดความเครียดและเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอยู่เป็นเวลานานๆติดต่อกัน ผู้ขับขี่รถแท็กซี่จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนได้ เพราะขาดการออกกำลังสม่ำเสมอ และร่างกายเผาผลาญแคลอรี่จากอาหารที่บริโภคเข้าไปน้อย จากการจัดสัปดาห์รณรงค์ตรวจสุขภาพผู้ขับรถแท็กซี่ฟรี ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่ามีคนขับรถเกือบครึ่งหนึ่งมีความดันโลหิตสูง โดยที่ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน
๖. โรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งวัณโรค ก็เป็นอีกกลุ่มที่แท็กซี่มีโอกาสติดจากผู้โดยสารได้
เป็นที่น่ายินดีว่า ในขณะนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย อันได้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ซึ่งผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะแท็กซี่ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในโครงการนี้ โดยในระยะแรกจะมีการตรวจคัดกรองและดูแลสุขภาพของผู้ขับขี่แท็กซี่จาก ๑๑ สหกรณ์ในกรุงเทพและปริมณฑล เป็นโครงการนำร่องไปก่อน โดยใช้งบประมาณของสามหน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และสสส. มาบูรณาการการทำงานร่วมกันก่อน ในอนาคตระยะยาวเมื่อโครงการขยายขอบเขตไปสู่เป้าหมายที่กว้างขึ้น ก็จะมีการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ในการดูแลคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งอาจจะขยายไปสู่คนขับรถสามล้อเครื่อง คนขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ และคนขับรถสาธารณะในรูปแบบอื่นๆ
หวังใจว่า พี่น้องชาวแท็กซี่ทั้งหลาย จะได้มีโอกาสได้รับการคัดกรองดูแลเบาหวาน ความดันโลหิต และ โรคอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ
- อ่าน 2,253 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้