...ลองสมมติว่า คุณมีบ้านอยู่หน้าโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทย คุณออกกำลังกายตลอด กินอาหารครบห้าหมู่ ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี มีประกันสุขภาพคือไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วย มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเยี่ยมบ้านบางเวลา คุณฉีดวัคซีนทุกชนิดที่มีในโลกนี้ซึ่งทำให้สามารถป้องกันโรคได้หลายสิบโรค และเมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณก็มีบริการด้านฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการ,การช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลและท้องถิ่นที่คุณพำนักอยู่ เชื่อแน่ว่าคุณน่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพดีในระดับหนึ่งใช่ไหมครับ...
ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น คือมิติทั้ง ๔ ด้านของงานบริการสาธารณสุขซึ่งแวดวงสาธารณสุขทุกประเทศยึดถือเป็นหลักการในการดูแลประชาชน คือ
๑. การรักษาพยาบาล คือ การรักษาโรคให้หาย เมื่อเกิดการเจ็บป่วย
๒. การส่งเสริมสุขภาพ คือ บำรุงรักษาให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน
๓. การป้องกันและควบคุมโรค คือ การระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรค
๔. การฟื้นฟูสมรรถภาพ เมื่อเกิดความพิการ หรือ การทำหน้าที่ของอวัยวะเกิดความผิดปกติก็มีการฟื้นฟูให้คืนสภาพ หรือใช้งานได้
.....แต่อย่าเพิ่งดีใจไป...เผอิญต่อมาเราพบว่าคุณชอบกินอาหารทอดๆ มันๆ เป็นชีวิตจิตใจนับตั้งแต่กล้วยแขก ไก่ทอด และปาท่องโก๋ ที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำอยู่บ่อยๆ คุณดื่มน้ำบรรจุขวดที่ไม่มีอย. (ซึ่งหมายความว่าน้ำนั้นอาจไม่เหมาะต่อการบริโภค) กินผักและผลไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง คุณดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่มีน้ำตาลเกินค่ามาตรฐาน ๓ เท่า คุณยายในบ้านคุณดื่มยาบำรุงกำลังที่มีสารสเตอรอยด์ปนอยู่ และคุณกินอาหารที่มีทั้งสารฟอกขาว สารยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอยู่บ่อย บ่อย...อย่างนี้ คุณว่าคุณจะสุขภาพดี และอายุยืนยาวหรือไม่ครับ...คำตอบก็คือไม่
ดังนั้น ขณะนี้จึงมีการเพิ่มมิติที่ ๕ ของการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนลงในกรอบงานประจำของหน่วยงานของรัฐบาลในหลายประเทศ อันได้แก่ “งานคุ้มครองผู้บริโภค (ด้านสาธารณสุข)” ลงในมาตรฐานการจัดบริการ
สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขมีหลายหน่วยงาน แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงให้แคบลงเน้นในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขก็คงมีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีกลไกสำคัญในพื้นที่คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งแพทยสภาและสภาวิชาชีพต่างๆ ที่ดูแลมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ให้บริการ ก็คงจะเป็นการสนับสนุนงานคุ้มครองผู้บริโภคทางอ้อมอีกทีหนึ่ง...
ความเฉพาะเจาะจงของงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพถือเป็นกิจกรรมที่ต้องมีระบบการเฝ้าระวัง ต้องอาศัยเครือข่ายในพื้นที่ การสื่อสารที่ทั่วถึงและรวดเร็ว ที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดการทั้งในระดับประเทศ ชุมชน ครอบครัว และปัจเจกรายบุคคล
ทุกวันนี้ แม้กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสำนักงานอาหารและยาจะพยายามพัฒนาระบบการดูแลผู้บริโภคด้านอาหารและยา โดยอาศัยกลไกในพื้นที่ คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลมาช่วยกัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการรองรับกับปัญหาซึ่งมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนอยู่ตลอดเวลา
ข้อมูลเชิงประจักษ์ในขณะนี้ คือ ประเทศไทยแม้มีหน่วยงานของรัฐบาลหลายหน่วยงานช่วยดูแลผู้บริโภค แต่เมื่อเปรียบเทียบขนาดของปัญหากับการลงทุนของภาครัฐ (งบประมาณ คน ตัวกฎหมาย ระเบียบรองรับ) ยังถือว่าเราให้ความใส่ใจกับงานด้านนี้น้อย ยิ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซียแล้วถือว่าเราล้าหลังกว่า
ในเชิงโครงการหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเราเป็นเพียงแค่หน่วยงานเล็กๆสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีเจ้าหน้าที่เพียง ๑๐๐ กว่าคนและมีงบประมาณเพียง ๑๐๐ กว่าล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับมาเลเซียเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง คือ กระทรวงคุ้มครองผู้บริโภคและการสหกรณ์ มีหน่วยงานย่อยไปถึงระดับจังหวัด และมีงบประมาณสนับสนุนมากกว่าเราหลายเท่า..
ในเชิงกฎหมาย รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์พยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และองค์กรเอกชน ได้เข้ามามีบทบาทในการเฝ้าระวังและคุ้มครอง โดยรัฐช่วยสนับสนุนงบประมาณให้ ในประเทศไทยรัฐบาลยังมององค์กรภาคีเหล่านี้ด้วยสายตาที่ไม่เชื่อมั่นและหวาดระแวง
ในวันที่ ๓๐ เมษายน ของทุกปี จะตรงกับ “วันคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สมควรที่เราคนไทยจะช่วยกันพัฒนาจิตสำนึกและสร้างกลไกใหม่ๆในการทำงานให้ งามคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข ได้เข้ามาเป็นกลไกใหม่ในการดูแลสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้....
- อ่าน 19,226 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้