• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผิวแพ้ เครื่องสำอาง

ผิวแพ้ เครื่องสำอาง


มนุษย์เราโดยเฉพาะคุณสุภาพสตรีนั้น เป็นเพศที่รักสวยรักงาม ดังนั้น จึงมีการใช้เครื่องสำอางมาปรุงแต่งเพื่อหวังที่จะให้ตนเองดูงามยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ของทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องสำอางโดยฟังแต่คำโฆษณาชวนเชื่ออย่างเดียว อาจเป็นผลร้ายต่อผิวหนัง การเลือกใช้จึงต้องใช้วิจารณญาณว่ามีความจำเป็นแค่ไหน มีอัตราเสี่ยงภัยหรือไม่

คำว่า “เครื่องสำอาง” คลอบคลุมถึงวัสดุที่นำมาใช้กับร่างกายเพื่อก่อให้เกิดความสะอาด ความงาม และความมีเสน่ห์ รวมทั้งกลิ่นหอมต่าง ๆ จะเห็นว่าวัสดุที่ใช้เป็นเครื่องสำอางจะมีจำนวนมาก อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เห็นชัดเจน เช่น
ประเภททำความสะอาดผิว ได้แก่ สบู่ โลชั่นหรือครีมล้างหน้า ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก
ประเภทสำอางผิว ได้แก่ ครีมบำรุงผิวและเครื่องแต่งหน้า เพื่อให้เกิดความสวยงามของใบหน้า
ประเภทสำอางผม ได้แก่ แชมพูสระผม ครีมนวด น้ำยาย้อม น้ำยาดัด
ประเภทสำอางตา ได้แก่ อายเชโดเงาดวงตา อายลายเนอร์เขียนขอบตา มาสคาราปัดขนตา
ประเภทสำอางเล็บ ได้แก่ น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ
กลุ่มสุดท้าย คือ ประทินกลิ่นหอมหรือน้ำหอม ซึ่งรวมไปถึงกลิ่นหอมที่อยู่ในเครื่องสำอางทุกชนิดด้วย
เครื่องสำอางทุกชนิดทำให้เกิดการแพ้ได้ทั้งสิ้น แต่อาจพบได้มาก น้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบและจำนวนคนที่ใช้ด้วย ถ้ามีคนใช้มากโอกาสที่จะแพ้เกิดขึ้นได้บ่อย ยกตัวอย่าง เช่น ยาย้อมผมซึ่งพบว่ามีคนแพ้กันมาก การแพ้น้ำยาย้อมผมอาจมีอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นทันทีหลังจากย้อมผม มีตาบวมปิดทั้ง 2 ข้าง หรืออาจเป็นชนิดไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง คือ เป็น ๆ หาย ๆ อยู่นาน มีผื่นแพ้บริเวณต้นคอ หลังหูหรืหนังตา มีอาการคันยุบยิบอยู่เรื่อย โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อน สบู่ล้างหน้าที่อ้างสรรพคุณรักษาสิวจะมีส่วนผสมยาลอกผิว เมื่อใช้บ่อย ๆ จะเกิดระคายเคือง กัดผิว เกิดรอยแดงรอบปาก และหน้าลอก

การแพ้เครื่องสำอางประเภทครีมทาลอกฝ้าบางชนิดทำให้หน้าด่างคล้ายเป็นโรคด่างขาว เป็นที่น่าตกใจและเป็นที่น่าสงสารมากสำหรับผู้ที่เคราะห์ร้ายไปซื้อครีมลอกฝ้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ ข้อสังเกตคือ เมื่อเริ่มเป็นใหม่ ๆ อาจเป็นรอยด่างขาว 2-3 วง ถ้ายังคงใช้ต่อไปอีกอาจเป็นมากจนถึงขนาดด่างทั้งหน้าก็ได้ หรืออาจเกิดด่างเป็นจุด ๆ บางชนิดใช้ไปสักพักพอหยุดใช้ยิ่งหน้าดำขึ้นทำให้หยุดไม่ได้ พอใช้ต่อก็หน้าแดง ครีมลอกฝ้าบางชนิดมีส่วนผสมฮอร์โมนประเภทสตีรอยด์ พอใช้ไปสักพักหนึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนของสตีรอยด์ เกิดหน้าแดงจัดและเป็นสิวขึ้นมาเต็มหน้า มีขนขึ้น หรือหน้าบางตึงเหมือนแผ่นพลาสติกไปก็มี
เครื่องสำอางประเภทที่มีส่วนผสมสารเคมีจากพืชผลไม้ มีตัวยาที่เมื่อนำมาใช้ทาผิวแล้วจะเกิดปฏิกิริ-ยาแพ้แสงทำให้หน้าดำ ลิปสติกก็ทำให้เกิดการแพ้ได้ เกิดปากลอก ขอบปากดำแห้งและตึง ถ้าไม่เลิกใช้ก็จะเป็นอยู่ตลอด

การสังเกตตนเองว่าแพ้เครื่องสำอาง ส่วนมากผู้ใช้มักจะรู้ตัวเพราะจะเกิดอาการคันและมีผื่นขึ้นหลังการใช้ จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อใช้อยู่หลายอย่างหรือเกิดแพ้ของที่เคยใช้มานานแล้ว เพราะไม่จำเป็นว่าการแพ้จะต้องแพ้ตั้งแต่เริ่มใช้ใหม่ ๆ เมื่อสงสัยว่า ชนิดไหนจะเป็นต้นเหตุก็หยุดใช้ รอดูว่าจะหายหรือไม่ หรือหยุดใช้ทุกชนิด รอจนกว่าจะหายแล้วค่อยเริ่มใช้ใหม่ทีละอย่าง พอเกิดอาการขึ้นเมื่อเริ่มใช้ชนิดไหนก็พอจะบอกได้
แต่ถ้าจะให้แน่นอนและเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อ หรือเลือกใช้เครื่องสำอางคราวต่อไปคือ การทดสอบผิวหนังที่เรียกว่า “แพทเทส” โดยแพทย์จะใช้สารเคมีหลายชนิด ที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางมาทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ถ้าผลการทดสอบออกมาเป็นผลบวก คือ เกิดเป็นผื่นแดงบริเวณทดสอบก็แสดงว่า แพ้สารเคมีตัวที่นำมาทดสอบนั้น ผู้ใช้อาจจะทำการทดสอบผิวตัวเอง โดยใช้เครื่องสำอาง เช่น ครีมกำจัดสิวหรือน้ำยาย้อมผมทาบริเวณท้องแขนคือ บริเวณใกล้ข้อพับ ทิ้งไว้โดยไม่ต้องล้างออกประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้ามีผื่นแดงและคันเกิดขึ้นก็แสดงว่าแพ้เครื่องสำอางตัวนั้น

ส่วนปฏิกิริยาอื่น ๆ เช่น หน้าด่าง สิวขึ้น ขนขึ้น หน้าบาง นั้นไม่จำเป็นต้องทดสอบเพราะเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นอาการแพ้แน่ จากการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง ตัวที่พบ การแพ้บ่อยก็คือ น้ำยาย้อมผม น้ำหอม และตัวยากันบูด แต่ในความเป็นจริงจะพบว่าการแพ้สารที่ระคายเคือง สบู่ล้างหน้า ครีมลอกสิว ลอกฝ้า ประเภทผสมสตีรอยด์ หรือกรดวิตามินเอ หรือสารปรอท หรือการฟอกสีผิวเปอร์เซ็นต์สูงเกินไป พบปัญหาการแพ้บ่อยมาก

การใช้พืชสมุนไพร เช่น ว่านหางจระเข้หรือผลไม้บางชนิดมาพอกหน้า ด้วยความเข้าใจว่าสารเหล่านี้ เป็นของธรรมชาติคงจะไม่มีอันตราย ที่จริงแล้วผลที่ได้รับคือ ความรู้สึกสดชื่นชั่วคราวจากน้ำและยางในผลไม้ อีกทั้งฤทธิ์กรดอ่อนในน้ำผลไม้อาจลอกหน้าได้เล็กน้อย แต่ในผลไม้ เช่น แตงกวา มะนาว มะกรูด หัวผักกาด มีสารเคมีที่ทำให้ผิวหนังเกิดปฏิกิริยากับแสงแดดและเกิดเป็นรอยดำได้ จึงมีอัตราเสี่ยงอยู่บ้าง

มีตัวอย่างผู้ใช้มะกรูดนวดศีรษะ น้ำมะกรูดไหลลงมาถูกผิวที่ไหล่เกิดปฏิกิริยาเป็นรอยดำที่ผิวตามรอยน้ำมะกรูด ส่วนฤทธิ์ของว่านหางจระเข้นั้น การนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางต้องสกัดเอาสารบริสุทธิ์ที่ต้องการมาใช้ การนำเอาว่านสด ๆ มาใช้อาจเกิดการระคายผิวได้ นอกจากนี้ สารเคมีที่ทำให้เกิดการแพ้แสง ยังพบได้ในน้ำหอมหรือโอดิโคโลนด้วย เพราะฉะนั้นการใช้น้ำหอมมาชโลมหน้าหรือแขนอาจกระตุ้นให้เกิดรอยดำในบริเวณดังกล่าวได้

ปัญหาที่มีผู้ถามกันมากคือ การเขียนคิ้วถาวรมีพิษภัยอันตรายอะไรบ้าง การเขียนคิ้วถาวร คือ การสักคิ้วนั้นเอง โดยการสักผงสีลงไปในชั้นผิวหนังอาจมีปฏิกิริยาต่อเม็ดสีที่สักเข้าไปอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าเครื่องมือที่ใช้ไม่สะอาดพอ อาจเป็นทางนำเชื้อโรคเข้าผิวหนังทำให้เกิดเป็นหนองหรือติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบได้

ปัจจุบันนี้มีเทคนิคการโฆษณาขายเครื่องสำอางกันมากมายซึ่งพยายามจูงใจผู้ซื้อให้มากที่สุด อีกทั้งมีศูนย์บริการรักษาสิวฝ้าโดยบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านโรคผิวหนังอย่างแท้จริง จึงพบอันตรายบนผิวหนังจากเครื่องสำอางเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อทราบว่ามีอันตรายอย่างไรแล้ว เมื่อมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ควรตั้งข้อสังเกต รีบหยุดใช้ก่อนที่จะลุกลามไปมาก ถ้าหยุดใช้แล้วยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ ผิวหนังซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดีที่สุด ควรยึดหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ใช้เครื่องสำอางเท่าที่จำเป็น เช่น หน้าแห้งใช้ครีมบำรุง หน้ามันใช้สบู่ล้างหน้า ถ้าผิวดีอยู่แล้วก็ใช้สบู่ธรรมดาที่เคยใช้อยู่ประจำไม่ต้องเปลี่ยนตามใคร หรือเปลี่ยนตามคำโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะวัยรุ่น ผิวสวยอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องสำอางมาก พบมีวัยรุ่นเป็นจำนวนมากที่ผิวเสีย เพราะเริ่มใช้เครื่องสำอางตามคำโฆษณาหรือใช้ตามเพื่อน ขณะเดียวกัน พบผู้สงอายุเป็นจำนวนมากที่มีผิวหน้าสดใสมาตลอด ถามได้ความว่าไม่เคยใช้เครื่องสำอางเลย

โปรดระลึกไว้ว่า ผิวหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักและปรารถนาที่จะให้มีสุขภาพดีและสวยงามนั้น มีโอกาสเกิดการแพ้และได้รับภัยจากเครื่องสำอางได้ ท่านที่มีปัญหาของผิวหนังบนใบหน้า แพทย์ผิวหนังซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางย่อมให้คำแนะนำและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมได้ การใช้ใบหน้าของท่านเป็นที่ลองยาหรือลองสารเคมีของบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ อาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนได้

 

ข้อมูลสื่อ

196-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 196
สิงหาคม 2538
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์