• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บอน : ผักพื้นบ้านที่มากับความคัน

บอน : ผักพื้นบ้านที่มากับความคัน

เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน”

ข้อความที่ยกมาข้างต้นมีเป็นสำนวนไทยโบราณ ใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็ว คล้ายหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบอน สำนวนนี้พ่อเพลงพื้นบ้านมักนำมาใช้โต้คารมกับแม่เพลงฝ่ายตรงข้าม โดยเปรียบว่า “น้ำใจหญิง เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน” เป็นต้น
การที่ชาวไทยในอดีตนำเอาลักษณะหยดน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบอน มาใช้เป็นสำนวนคงเป็นเพราะบอนเป็นพืชพื้นบ้านที่พบเห็นขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติทั่วไปในเขตลุ่มน้ำ บอนมีขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำ จึงมีโอกาสที่น้ำจะขังอยู่บนใบบอนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากแหล่งน้ำที่บอนขึ้นอยู่ (แม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ) หรือน้ำจากแหล่งอื่น เช่นน้ำฝน หรือน้ำค้างก็ตาม

เนื่องจากใบบอนมีขนาดใหญ่ และมีแอ่งตรงกลางใบทำให้รองรับหยดน้ำเอาไว้ได้ แต่ใบบอนมีลักษณะพิเศษคือไม่ดูดซับน้ำ ดังนั้นหยดน้ำบนใบบอนจึงรวมตัวกันเป็นก้อนอิสระพร้อมที่จะเคลื่อนไหวได้ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย ประกอบกับใบบอนนั้นตั้งอยู่บนก้านใบที่ยาวมาก เมื่อมีแรงมากระทบเพียงเล็กน้อย (เช่นแรงลม) ก็ทำให้ใบบอนเคลื่อนไหวทันที หยดน้ำบนใบบอนก็จะเคลื่อนไหวไปด้วยในลักษณะที่เรียกว่า “กลิ้ง” นั่นเอง จึงทำให้หยดน้ำบนใบบอนกลิ้งอยู่เสมอ อาจมีการหยุดนิ่งอยู่บ้าง เพียงช่วงสั้น ๆ ก็จะกลิ้งอีก ลักษณะของหยดน้ำ กลิ้งบนใบบอนจึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนไทยโบราณดังกล่าว
การนำบอนมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น แสดงให้เห็นว่าบอนเป็นพืชที่ชาวไทย
(ในอดีต)รู้จักเป็นอย่างดี
  


บอน : ผักพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทย

บอนเป็นชื่อของพืชที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Colocasia esculenta ( Linn. ) Schott อยู่ในวงศ์ Araceae เช่นเดียวกับเผือก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน ก้านใบยาวชูสูงขึ้นจากดิน ใบขนาดใหญ่คล้ายรูปหัวใจ หรือหัวลูกศร ก้านใบมีโครงสร้างโปร่งเบาคล้ายก้านใบผักตบ หากหักก้านใบจะมียางไหลออกมา ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยงหุ้มช่อดอกเอาไว้
บอนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย บอนจึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกันมายาวนาน จึงทำให้ชาวไทยนำบอนมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ รวมทั้งการใช้เป็นสำนวนไทยด้วย

ประโยชน์หลักของบอนที่ชาวไทยรู้จักดีที่สุดคือใช้เป็นผัก แต่บอนเป็นผักที่มีความพิเศษในตัวเอง เพราะต้องการความชำนาญในการปรุงอย่างถูกต้องจึงจะกินได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากบอนมีคุณสม-บัติ( หรือโทษสมบัติ ) เด่นอย่างหนึ่งคือความคัน หากนำมาปรุงอาหารโดยปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่กินจะเกิดอาการคันปากคันคอ และผู้ปรุงอาหารจากบอนเองก็จะคันมือด้วย
อาการคันปากคันมือที่เกิดจากบอนนี้ คงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวไทยโบราณ จึงเกิดสำนวนอีกสองสำนวนเกี่ยวกับบอน นั่นคือ ปากบอนและมือบอน นับเป็นสำนวนที่แพร่หลายและรู้จักกันดีที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ. 2493 อธิบายว่า “...อาการที่ปากหรือมืออยู่ไม่สุข เรียกว่า ปากบอนหรือมือบอน...” อาการดังกล่าวนี้ยังคงพบเห็นอยู่ได้ ทั่วไปในที่สาธารณะและสื่อมวลชน

แม่ครัว ( พ่อครัว ) ที่มีความชำนาญในการปรุงบอน จะมีวิธีทำให้บอนหายคันอยู่หลายวิธี เช่น ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ปี พ.ศ. 2416 ของหมอบรัดเลย์ กล่าวถึงบอนไว้ว่า “กินดิบคันปาก ทำให้สุกกับไฟแล้วกินไม่คัน” การใช้ความร้อนจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน เช่น นำมาต้มเคี่ยวเป็นเวลานานพอสมควร นอกจากนี้ยังนำมาดองโดยขยำกับเกลือให้ยางบอนออกมากที่สุด หรือใส่ของที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มมะขาม น้ำมะกรูด เป็นต้น แต่ต้องต้มเคี่ยวด้วย หากเป็นแม่ครัวสมัยใหม่ก็อาจใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตได้ เพราะสารที่ทำให้บอนมีฤทธิ์คันก็คือ แคลเซียม อ็อกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็ม ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่ออ่อน เช่น เยื่อบุช่องปากและในลำคอ เป็นต้น การต้มเคี่ยวและใช้สารต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วจะช่วยให้ผลึกแตกหักมีความแหลมน้อยลง จึงลดความดันได้ นอกจากนี้ แม่ครัวสมัยก่อนยังถือเคล็ดด้วยว่า ระหว่างการปรุงอาหารด้วยบอนอยู่นั้น ห้ามใครเอ่ยถึงคำที่เกี่ยวข้องกับความคันอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการคันขึ้นมาจริง ๆ ทั้งผู้ปรุงและผู้กิน
ส่วนของบอนที่นิยมนำมาเป็นผักก็คือ ก้านใบ โดยลอกเอาเปลือกที่หุ้มอยู่ออกเสียก่อน ตำรับอาหารยอดนิยมจากบอนก็คือ แกงบอน ซึ่งมีรสออกไปทางหวาน นับเป็นแกงที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยภาคกลาง นอกจากนี้ก้านบอนยังนำมาดองได้อีกด้วย
 

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของบอน
บอนเป็นพืชที่มีลักษณะการขึ้นอยู่ในพื้นที่คล้ายกับผักตบนั่นคือในที่ขึ้นหรือบริเวณน้ำตื้นที่มีโคลนเลน แต่เนื่องจากบอนมีก้านใบยาวกว่าผักตบ จึงขึ้นได้ในบริเวณน้ำลึกกว่าผักตบ หนังสืออักขราภิธานศรับท์อธิบายถึงลักษณะดังกล่าวไว้ว่า “...บอนเป็นต้นผักอย่างหนึ่ง เกิดที่โคลน มีน้ำลึกคืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง...” เนื่องจากบอนขึ้นได้ในน้ำลึกกว่าผักตบ จึงครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ในหนองบึงบางแห่งที่มีน้ำไม่ลึกนัก จึงอาจมีบอนขึ้นอยู่เต็มทั้งพื้นที่ เช่นในจังหวัดสุพรรณบุรีมีบึงที่มีบอนขึ้นอยู่เต็ม ทำให้ชาวบ้านนับร้อยครอบครัวมีรายได้จากการตัดก้านบอนมาลอกเปลือกออกแล้วตากแห้ง ส่งขายเป็นสินค้าออกอย่างหนึ่ง มีรายได้ปีละนับล้านบาท และบอนยังช่วยรักษาชายฝั่ง แม่น้ำลำคลอง มิให้ถูกเซาะจากคลื่นอีกด้วย

ใบของบอนมีคุณสมบัติพิเศษ คือไม่เปียกน้ำ เพราะมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่บนผิว จึงนำมาใช้ประโยชน์ด้านห่อของได้ เช่น ใช้ห่อข้าวหมาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ตักน้ำดื่มยามไม่มีภาชนะ (เช่น แก้วน้ำ) ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนตัดพ้อนางพิม อันเป็นบทกลอนที่ไพเราะและมีเนื้อหากินใจอย่างยิ่ง คือ
เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำในไร่ฝ้าย
พี่กินหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน”

คุณสมบัติด้านสมุนไพรของบอนนั้นมีน้อยกว่าผักชนิดอื่น แต่มีหมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น นำลำต้นใต้ดินของบอน ( หัว,เหง้า ) เป็นส่วนประกอบของยาพอกหัวฝีตะมอย

ในประเทศไทยมีพืชที่ชื่อบอนอยู่หลายชนิด เช่น บอนเขียว บอนส้ม และบอนสี เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบประโยชน์ด้านนำมาเป็นผักแล้ว บอนที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้นเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด แม้ว่าแนวโน้มของคนไทยสมัยใหม่จะรู้จักบอนน้อยลงก็ตาม แต่เชื่อว่าความเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คงจะทำให้บอนยังคงเป็นผักคู่คนไทยต่อไปนานเท่านาน


 

ข้อมูลสื่อ

194-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร