การชำรุดของฟันปลอม
เดือนธันวาคมเวียนมาอีกแล้ว เป็นสัญญาณเตือนว่าอีกไม่ช้าก็จะเข้าสู่ปีใหม่ หลายคนเริ่มมองหาของขวัญของฝากให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือ และตัวเอง สิ่งของที่ผู้ใหญ่วัยปลายหรือเข้าสู่วัยชราบางคนได้ตระเตรียมไว้ให้กับตัวเองออกจะแปลกไปกว่าคนอื่นๆ อยู่บ้าง นั่นคือ การเตรียมฟันปลอมใหม่
ผู้อ่านบางท่านอาจนึกขำว่าเอ... มีจริงๆ หรือ เป็นที่สังเกตของตัวเองว่า ในช่วงใกล้ๆ เทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ จะมีผู้มาขอคำปรึกษาหรือติดต่อขอทำฟันปลอมมากกว่าปกติ อาจเป็นเพราะว่าเป็นโอกาสที่จะได้พบปะญาติมิตรกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา รวมทั้งการกินเลี้ยงสังสรรค์ที่บ่อยครั้งด้วย ดังนั้นในผู้ที่มีการสูญเสียฟันไปก่อนเวลาที่ควรจะเป็น จึงเห็นประโยชน์ของการมีฟันในปากเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความสวยงาม เพราะช่วยให้ดูอายุอ่อนลงกว่าที่เป็นจริง และเกิดความเอร็ดอร่อยจากอาหารเมื่อมีการบดเคี้ยว
คนรุ่นเก่าหรือคนในชนบทมักเชื่อว่า ฟันของคนเรานั้นจะโยกและหลุดไปเมื่อเจ้าของสูงอายุขึ้น อันเป็นปกติของความเสื่อมของร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฟันของคนเราสามารถจะคงทนอยู่ในปากให้เราใช้งานได้ตลอดชีวิตถ้าเจ้าของฟันดูแลรักษาให้ฟันและเหงือกมีความแข็งแรง มีสุขภาพปากที่ดี แต่ในรายที่มีการสูญเสียฟันไปแล้ว ฟันปลอมจึงเข้ามาทดแทนฟันแท้ของคนเรา
“ฟันปลอมใหม่” มีได้ ๒ ลักษณะ คือ
ลักษณะแรก เป็นฟันปลอมอันแรกหรือชุดแรกของคนๆ นั้น
ลักษณะที่สอง คือ ฟันปลอมอันใหม่หรือชุดใหม่ที่มาทดแทนฟันปลอมเก่าทื่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพไป
ผู้ที่มาขอทำฟันปลอมไม่ในลักษณะแรกจะมีมากกว่า ซึ่งเห็นจะ เป็นเพราะความรู้สึก “ทน” ไม่ได้อีกต่อไป ในสภาพฟันที่โยก ปวด หรือหักหลอ คนเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับความไม่เข้าใจว่ากรณีที่มีฟันหักค้างอยู่หรือฟันโยกมากๆ นั้นต้องทำการถอนออกก่อน และต้องให้เวลาหลังการถอนสักระยะเพื่อให้กระดูกขากรรไกรมีการซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อย มิฉะนั้นจะทำให้ฟันปลอมที่ทำไปนั้นหลวมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้เพราะหลังจากการซ่อมแซมของกระดูกแล้ว กระดูกเบ้ารากฟันและเหงือกจะหดรัดตัวยุบลงไปจากเดิมที่เคยมีฟันอยู่ ในกรณีที่ถอนฟันปุ๊บ ใส่ฟันปลอม (ที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว) ปั๊บทันที หมอจะทำให้ในกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นจริงๆ แต่ก็ต้องกลับมาให้หมอตรวจสภาพเหงือกและฟันปลอมใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากใส่ฟันปลอม และต้องมาตรวจเช็กเป็นระยะๆ ซึ่งจะต้องตรวจบ่อยครั้งกว่าผู้ทีถอนฟันไปแล้วสักเดือนแล้วค่อยมาใส่ฟัน ในส่วนของฟันปลอมใหม่หรือชุดใหม่นั้น ทำขึ้นเพื่อทดแทนฟันปลอมเก่าที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพไป เอ๊ะ! แล้วฟันปลอมมีการเสื่อมสภาพหรือชำรุดได้ด้วยหรือ
การชำรุดของฟันปลอมมีได้แน่นอน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆ แบบที่พอจะแจกแจงได้ก็มี
1. ฟันหลอมที่ทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้อง หมอจัดฟันปลอมที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการมักจะเป็นฟันปลอมจำพวก “ชำรุด”ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ ฟันปลอมที่ทำขึ้นโดย “ช่างทำฟัน”ที่ไม่ได้จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง เช่น ฟันทอง ในอดีตการใส่ฟันทองเป็นที่นิยมกันมาก เพราะนอกจากจะเป็นแฟชั่นที่จัดว่าสวยงามทันสมัยแล้ว ยังแสดงถึงความมั่งมีของผู้ใส่อีกด้วย
ส่วนฟันปลอมชำรุดอีกลักษณะหนึ่ง คือ ฟันปลอมชนิดที่ทำโดย “หมอมอเตอร์ไซด์” ที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์ไปตามบ้านในชนบท บริการใส่ฟันให้ราคาถูก แถมด้วยการถอนฟันฟรีอีกต่างหาก ซึ่งก็จะมีทั้งแบบติดแน่นไปตลอดชีวิต (ในกรณีที่พอจะมีฟันข้างเคียงเหลืออยู่ แต่ใช้เป็นฟันพลาสติกแทน) แต่ทั้งฟันทองและฟันพลาสติกแบบแกะไม่ออกนี้ได้ก่อปัญหาให้กับเจ้าของเป็นอย่างมาก เพราะเกิดการกักของเศษอาหาร ทำให้อาหารหมักหมม เป็นสาเหตุของฟันผุในฟันแท้ที่ฟันปลอมนี้ไปเกาะอยู่ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกลิ่นปากซึ่งแก้ไม่หาย จนกว่าจะรื้อฟันปลอมที่ว่าออกไป แล้วทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
สำหรับฟันปลอมชำรุดในแบบที่ 1 นี้ยังมีแบบชนิดถอดได้ซึ่งใช้ในผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันเหลืออยู่ในขากรรไกร มักพบที่ขากรรไกรบน คือ มียางดูดติดไว้ที่ฟันปลอม เพื่อให้เกิดการติดแน่นกับเพดานปาก โดยใช้หลักของสุญญากาศแบบเดียวกับยางติดกระจกนั่นแหละ ฟันปลอมแบบนี้อันตรายมากต่อผู้ใช้ เพราะอาจทำให้เกิดแผลที่เพดานปาก และในระยะยาวอาจทำให้เกิดมะเร็งหรือเพดานปากทะลุได้
2. ฟันปลอมเก่าหลวม เมื่อใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ไปสักระยะหนึ่ง ฟันปลอมอาจหลอมไม่พอดี ซึ่งก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การที่เหงือกและเนื้อเยื่อได้ฟันปลอมนั้นยุบตัวลงไปเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ หรือถ้าเป็นฟันปลอมชนิดมีฐานโลหะใช้ตะขอช่วยยึด ตะขออาจจะอ้าออกทำให้หลวมก็เป็นได้ ในกรณีทีฟันปลอมชนิดติดแน่นในระยะแรกๆ หมอจะใช้สารช่วยยึดเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อมีน้ำซึมเข้าทางฐานจะทำให้สารยึดนี้หมดสภาพ ฟันปลอมก็จะขยับออกจากที่ ผู้ใช้อาจรู้สึกว่าฟันปลอมขยับหรือโยกหลวมได้
3. ฟันหลักที่ช่วยยึดฟันปลอมเสียไป ถ้าใส่ฟันปลอมติดแน่นแบบหลายๆ ซี่ หรือใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ชนิดที่มีฟันข้างเคียงเหลืออยู่ที่ช่วยเป็นที่ยึดเกาะของฟันปลอมนี้เรียกว่า “ฟันหลัก” ซึ่งอาจเกิดการผุหรือแตกหักในรายที่ทำความสะอาดได้ไม่ดี เพราะจะมีเศษอาหารติดค้างบริเวณด้านข้างของฟันหลักตรงตำแหน่งที่ติดกับฟันปลอม ทำให้เกิดโรคฟันผุ หรือเป็นโรคปริทันต์ได้ อาจทำให้ฟันโยกหรือหัก จนอาจต้องถอนไปในที่สุด จึงไม่สามารถใช้ฟันปลอมอันเก่าได้อีกต่อไป
4. ฟันปลอมที่ไม่สามารถใช้งานได้ มีได้หลายกรณี เช่น ฟันปลอมที่บิดเบี้ยวเพราะดูแลอย่างไม่ถูกต้อง เช่น นำฟันปลอมฐานพลาสติกไปแช่ในน้ำร้อน ฟันปลอมจึงแตก ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ หรือฟันปลอมที่ใส่ไม่เข้าเพราะไม่ได้ใช้นานเกินไป ฟันมีการเคลื่อนมาทดแทนในช่องว่างที่เดิมฟันปลอมเคยอยู่ ทำให้ใส่ฟันปลอมไม่ลง หรือใส่แล้วดึงหรือปวดที่ฟันข้างเคียง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงฟันปลอมที่ทำไม่ดี คือ ใส่แล้วเคี้ยวไม่ได้ อาจเป็นเพราะไม่มีการสบของฟันให้เหมาะสมก่อนจะให้คนไข้เอาไปใช้
5. ฟันปลอมที่ขดความสวยงาม อาจเป็นได้ทั้งฟันปลอมชนิดติดแน่นหรือถอดได้ สาเหตุอาจเกิดจากการเลือกสีฟันไม่เหมาะสมกับฟันในปาก หรือเหมาะสมกับวัย แนวการเรียงของฟันปลอมกับแนวฟันจริงไม่เหมาะสม ขนาดของฟันปลอม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกรณีที่เหงือกบวม ทำให้ขอบของฟันปลอมชนิดติดแน่นโผล่ออกมาให้คนอื่นเห็นว่าไม่ใช่ฟันจริง หรือกรณีที่เหงือกใต้ฟันปลอมร่นไป เห็นเป็นช่องว่างระหว่างฟันปลอมกับขากรรไกร
ในกรณีของฟันปลอมที่ชำรุดตามแบบต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำใหม่ ในบางกรณีก็เพียงแต่แก้ไขซ่อมแซมฟันปลอมก็จะสามารถใช้งานได้ดีต่อไป
ในปีใหม่นี้องค์อนามัยโลกจะประกาศให้เป็นปีทันตสาธารณสุขแห่งโลก เราควรร่วมมือกันดูแลรักษาฟันแท้ของเราให้คงทนถาวรในปากกัน จะดีกว่า หรือคุณที่มีฟันปลอมอยู่แล้วก็ควรจะดูแลรักษา ใช้งานให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องมาเตรียมฟันปลอมใหม่กันบ่อยๆ ไงคะ สุขสันต์ดีปีใหม่ค่ะ
- อ่าน 19,147 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้