• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหัว : สัญญาณเตือนด้วยความรัก

ปวดหัว : สัญญาณเตือนด้วยความรัก


พูดถึงปวดศีรษะหรือปวดหัว

หลายคนคงรู้สึกขยาดหรือระอากับอาการนี้เต็มที่ แต่ท่านทราบไหมว่า อาการปวดหัวเป็นสัญญาณเตือนของร่างกายเพื่อให้เรารู้ตัวว่า ร่างกายได้เกิดภาวะไม่สมดุลขึ้นแล้ว อาจเครียดเกินไป ทำงานความความคิดมากเกินไป หรือมีอาการผิดปกติของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ในทางการแพทย์ได้มีการทำแบบสอบถามคน 1 แสนคนว่าแต่ละปีปวดหัวกี่คน

คำตอบที่พบ คือ 1 แสนคน มีคนปวดหัว 8 หมื่นคน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน ประมาณว่าจะพบคนปวดหัว 48 ล้านคน ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่ปวดหัวก็จงสบายใจได้ว่าคุณมีเพื่อนร่วมปวดหัว 48 ล้านคน คนไม่ปวดหัวกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปเสียแล้ว จาก 1 แสนคนที่กล่าวข้างต้นและพบผู้ปวดหัว 8 หมื่นคน

เมื่อสอบถามว่า สองสัปดาห์ที่ผ่านมาปวดหัวกี่คน พบว่า มีเพียง 2 หมื่นคนเท่านั้น และเมื่อถามต่อไปว่า ปวดจนถึงขนาดที่ต้องกินยามีกี่คน ก็พบว่ามีเพียง 1 หมื่นคน และใน 1 หมื่นคนที่กินยาจะต้องไปพบแพทย์ทั่วไปมีประมาณ 2 พันคน จำนวน 2 พันคนที่พบแพทย์นั้นจำเป็นต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะหรือประสาทแพทย์มีเพียง 200 คน

ใน 200 คนที่พบผู้เชี่ยวชาญพบว่า เป็นเนื้องอกในสมองหรือมะเร็งเพียง 10 คนเท่านั้น จะเห็นว่า ใน 1 แสนคน เราพบผู้ปวดหัวที่พบเนื้องอกในสมองหรือมะเร็งเพียง 10 คน หรือประมาณร้อยละ 0.0001 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก ท่านที่ปวดหัวและกลัวว่าจะเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง คงจะใจชื้นได้ว่าใช่จะเป็นกันได้ง่ายๆ เสียเมื่อไร

การบริหารกล้ามเนื้อคอแก้ปวดหัว

ก้มคอ ใช้มือกดที่หน้าผากต้านกับความพยายามที่จะก้มศีรษะลง

เงยหน้า เอาฝ่ามือประสานเหนือท้ายทอย กดมาด้านหน้า ขณะที่พยายามจะเงยศีรษะไปด้านหลัง

ตะแคงคอ ใช้มือซ้ายวางที่ศีรษะเหนือหูซ้าย ต้านกับความพยายามที่จะตะแคงหน้าให้หูซ้ายไปจรดไหล่ และใช้มือขวาวางที่ศีรษะเหนือหูขวาทำแบบเดียวกัน

 

หันหน้า  ใช้มือซ้ายออกแรงยังที่หน้าหูซ้ายขณะที่พยายามหันไปทางซ้าย แล้วทำสลับกันโดยใช้มือขวายันหน้าหูขวา ขณะที่หันหน้าไปทางขวา

ใช้มือด้านการเคลื่อนไหวของศีรษะในทิศทางตรงกันข้าม (แรงด้านพอประมาณ) เกร็งไว้ 5-10 วินาที 10 ครั้ง วันละ 2-3 เวลา

อาการปวดหัวเกิดจากอะไร

คนที่ปวดหัวบางคนอาจคิดว่าเกิดความผิดปกติขึ้นที่เนื้อสมองหรือกะโหลกศีรษะจึงทำให้เกิดอาการปวดหัว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ อาการปวดนั้นเกิดจากการที่หลอดเลือดขยายตัว หรือกล้ามเนื้อหดตัวหรือเกร็งตัว หรือมีการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มกะโหลก หรือประสาทบริเวณผิวหนังอักเสบ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้

อาการปวดหัวที่พบทั่วไป

ปวดหัวที่พบส่วนมากเกิดจากความเครียด ทำงานวุ่นกันทั้งวันเดี๋ยวก้มหน้า เดี๋ยวหันหน้า เดี๋ยวทำหน้าเครียด กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอจึงหดตัวและเกร็ง เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดทั้งวันในที่สุดการหดตัวของกล้ามเนื้อก็เหมือนเกลียวเชือก พอถึงตอนเย็นก็เลยทำให้เกิดอาการปวดหัว บางคนก็ปวดขมับทั้ง 2 ข้าง ถ้าปวดไม่มากเพียงกล้ามเนื้อบีบตัว ก็ปวดตื้อๆ

ลักษณะที่ปวดจากกล้ามเนื้อส่วนใหญ่จะปวดตื้อๆ ซึ่งบางคนบอกว่าปวดตื้อๆ เหมือนกับเอาที่คาดผมของวัยรุ่นมารัดหัวไว้ ซึ่งจะปวดตลอดแนวรอบหัว ถ้าปวดจากหลอดเลือดมักจะปวดตุบๆ อาการดังกล่าวคุณสามารถรักษาตนเองได้ไม่ยาก โดยใช้วิธีนวดคลึงบริเวณที่ปวด ก็จะช่วยได้มากหรือใช้น้ำอุ่นๆ มาประคบบริเวณที่ปวดก็จะรู้สึกดีขึ้น เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลาย หายจากการหดเกร็ง คนในเมืองมักจะปวดแบบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เพราะชีวิตต้องเผชิญกับความเครียดตลอดเวลา ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และสิ่งแวดล้อม

ถ้ายิ่งมีใครมาทักว่าปวดเรื้อรังอย่างนี้อาจเป็นเนื้องอก ก็จะไม่สบายใจ เลยยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ พวกปวดหัวเรื้อรังแล้วไม่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น มักเกิดจากความเครียดของกล้ามเนื้อเท่านั้น อาการปวดหัวที่พบบ่อยอีกลักษณะหนึ่ง ก็คือ ปวดจากกระดูกคอ เนื่องจากโต๊ะที่นั่งทำงานขีดๆ เขียนๆ นั้นโดยทั่วไปจะเป็นแนวราบ ต้องก้มคอเวลาเขียนหนังสือหรืออ่านหนังสือ ทำให้เกิดอาการปวดตื้อๆ ที่ท้ายทอย บางคนปวดร้าวข้างบนหัว เมื่อปวดบ่อยๆ จะรู้สึกมึนๆ ตื้อ ไม่สดชื่น กรณีถือได้ว่าเกิดจากความเครียดที่กล้ามเนื้อต้นคอเป็นสาเหตุสำคัญ

วิธีแก้ไขอาจทำได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง โดยใช้มือต้านกับท่าก้มหัว ท่าเงยหัว ท่าเอียงคอไปทางซ้าย เอียงไปทางขวา (ดังภาพ) สำหรับผู้ที่ปวดหัวแล้วไม่มีสัญญาณอันตรายอื่นใดปรากฏก็อาจนวด คลึง พักผ่อน ออกกำลังกาย และกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน ก็น่าจะเพียงพอ กรณีที่ปวดหัวเนื่องจากไข้ตัวร้อน จะปวดหัวตุบๆ ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดขยายตัวเพราะฤทธิ์ของไข้ตัวร้อน ดังนั้นถ้าลดไข้ได้ อาการปวดหัวก็จะทุเลาลง สำหรับโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้ก็ต้องรักษาต้นเหตุและขจัดไปตามอาการต่อไป

ปวดหัวที่พบบ่อยในผู้หญิง

ปวดหัวที่พบบ่อยในผู้หญิง คือ อาการปวดในลักษณะที่เรียกว่า ไมเกรน เป็นการปวดหัวชนิดที่มักจะเป็นๆ หายๆ เป็นประจำ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการเป็นไมเกรนประมาณร้อยละ 7-10 และโดยปกติผู้หญิงมักจะเป็นมากกว่าผู้ชายโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เท่า โดยมักจะปวดหัวข้างเดียว บางรายเริ่มปวดแบบตุบๆ แล้วก็คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการตามัวตาพร่าร่วมด้วย ระยะเวลาที่มีอาการในแต่ละครั้งอาจนานเป็นชั่วโมง แต่ถ้านอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาจะรู้สึกดีขึ้น บางคนอาจจะเป็นนาน 5-10 ชั่วโมง แต่เมื่อตรวจร่างกายมักพบว่าปกติ อาการปวดจากโรคนี้มักเป็นๆ หายๆ ไม่เป็นทุกวัน อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง แต่ที่สำคัญ คือ ปัจจัยที่เสริมให้เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดไมเกรน ได้แก่ อาการอดนอน การดื่มสุราหรือเครียดกับงานมาก มีความวิตกกังวลสูง โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบพบว่า เด็กนักเรียนผู้หญิงมักเป็นกันมาก ส่วนระยะระยะใกล้มีระดูจะปวดศีรษะเพราะฮอร์โมนเพศหญิง หรือยาคุมกำเนิดก็อาจเป็นปัจจัยเสริมทำให้ปวดศีรษะได้ เช่นกัน

ในคนที่เป็นไมเกรนนั้นพบว่า คนกลุ่มนี้มีการขยายตัวของหลอดเลือดซึ่งมีปฏิกิริยาไวกว่าคนธรรมดา คนธรรมดาก็มีการขยายตัวอยู่ระดับหนึ่ง แต่นี่ขยายตัวมากกว่าคนธรรมดาก็เหมือนคนที่เป็นโรคหืด คือ หลอดลมบีบตัวมากกว่าคนธรรมดา คนธรรมดาก็บีบ แต่บีบไม่มากเท่าคนเหล่านี้

การแก้ไขและป้องกันที่ได้ผล คือ การออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้มาก ถ้าปวดไม่รุนแรง กินยาพาราเซตามอลก็จะดีขึ้น หรือถ้ายังไม่หายปวดกินยาแอสไพรินก็ได้ผล นอกจากบางรายแพทย์อาจจะต้องให้ยากเป็นกรณีพิเศษ บางคนอาจต้องหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน เช่น บางคนแพ้กล้วยหอมก็ทำให้ปวดศีรษะ บางคนแพ้ช็อกโกแลต หรือบางคนก็แพ้เหล้า เป็นต้น

เด็กเล็กเมื่อปวดหัวต้องระวัง

เวลาซักประวัติอาการปวดหัวของเด็ก ถ้าเด็กบอกว่าปวด เรามักจะเชื่อถือได้มากกว่าผู้ใหญ่เพราะเด็กไม่มีการเสแสร้ง ส่วนใหญ่ในช่วง 6 ปีแรก เด็กจะไม่ปวดหัวเพราะว่าเด็กเล็กยังไม่มีความเครียด อาการปวดไมเกรนจึงยังไม่เกิด สำหรับปัจจัยเสริมที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศก็ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเด็ก ในเด็กเล็กผู้ปวดหัวแล้วมีไข้อาจเป็นไข้สมองอักเสบ หรือเด็กไปหกล้มหัวกระแทกแล้วไม่มาบอกผู้ใหญ่อาจทำให้มีเลือดคั่งในสมองได้ ดังนั้น ถ้าเด็กมีอาการปวดหัวผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบเด็กอายุ 10-11 ขวบมีอาการปวดหัวมากขึ้น เพราะความเครียดจากการเรียนหนังสือ ถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนตลอด 7 วัน ครูจริงจังเกินไป อีกทั้งต้องตื่นแต่เช้า นั่งรถเมล์ที่เบียดเสียดยัดเยียดไปบนถนนที่รถติดเป็นแพ ไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เด็กในเมืองเครียดได้ง่าย ในขณะที่เด็กต่างจังหวัดโอกาสปวดหัวจากความเครียดจะน้อยกว่า จึงพบว่าปัจจุบันเด็กปวดหัวในขณะที่อายุยังน้อยกว่าในอดีต

สัญญาณเตือนภัยจากการปวดหัว

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจว่าอาการปวดหัวที่พบบ่อย เป็นอาการปวดที่ไม่ค่อยมีอันตรายโดยเฉพาะปวดๆ หายๆ เรื้อรังยิ่งไม่น่าเป็นอันตราย ที่น่าเป็นห่วง คือ พวกที่ปวดเฉียบพลันรุนแรง แบบชนิดที่ไม่เคยปวดมาก่อน หรือพวกที่ปวดแล้วมีอาการอาเจียน ตามัว ตาพร่า คอแข็ง ตาเข ปวดหัวแทบระเบิด ซึมไม่รู้สึกตัว หรือพวกที่มีประวัติเคยเป็นหูน้ำหนวก เป็นไซนัสอักเสบแล้วมีอาการปวดรุนแรง อย่างนี้ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

นวดแก้ปวดหัว

1. ใช้นิ้วมือคลึงวนไปมาบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง

2. ประสานมือเข้าด้วยกันบริเวณท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดพร้อมกัน แล้วค่อยๆ เพิ่มแรงกด


ปวดหัวกับความดันเลือดสูง

ในทางการแพทย์ได้มีการทำการวิจัยพบว่า คนที่มีความดันเลือดสูงมีอุบัติการหรือความถี่ของการปวดหัวเท่ากับคนปกติ ไม่มีความแตกต่างแต่ ดังนั้น คนที่ปวดหัวบ่อยจึงไม่จำเป็นต้องมีความดันเลือดสูง และคนที่มีความดันเลือดสูงก็ไม่จำเป็น ต้องปวดหัวเสมอไป การที่จะรู้ว่าความความดันเลือดหรือไม่ ต้องวัดความดันเลือด แต่อาการสำคัญของคนที่มีความดันเลือดสูง ก็คือ มักมีอาการนำด้วยเรื่องเวียนหัวมากกว่า คนที่มีความดันเลือดสูงแล้วปวดหัวนั้นมักเกิดจากความดันที่ขึ้นสูงทันทีทันใด เช่น ความดันเลือดเคย 120/80 อยู่ๆ แล้วขึ้นเป็น 200/120 เป็นต้น แต่ถ้าปกติ 120/80 ขึ้นเป็น 150/90 อาจไม่ปวดหัวก็ได้

ปวดบริเวณผิวหนัง

บางคนเคยปวดบริเวณหนังศีรษะ คือลูบศีรษะไม่ได้เลย ลูบปั๊บปวดแปลบๆ ไปทั่วศีรษะ อาการเช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากประสาทผิวหนังติดเชื้อไวรัส คนที่เป็นมักกลัวกันมาก เพราะลูบหัวตัวเองไม่ได้ บางคนเอี้ยวหัวนิดเดียวก็ปวดแปลบ อาการที่เป็นดูเหมือนรุนแรง แต่หากเป็นเช่นนี้โดยปกติแม้ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะหายเอง

ปวดหัวที่ไปเกี่ยวข้องกับตา หู ฟัน โพรงไซนัส

ปัจจุบันเราใช้สายตากันมากขึ้น อ่านหนังสือมาก การอ่านหนังสือเป็นการบีบกล้ามเนื้อตา ยิ่งตัวเล็กเท่าไหร่ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาทำงานหนักขึ้น หลายคนจึงมักพบว่า เมื่ออ่านหนังสือติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง จะรู้สึกปวดรอบๆ ลูกตา คือ กล้ามเนื้อบริเวณรอบตาปวดเกร็ง จึงทำให้เกิดการปวดหัว หรือบางคนก็คิดว่าเป็นโรคตา ดังนั้น ผู้ที่ใช้สายตามากๆ ควรพักสายตาโดยผ่อนคลายด้วยการมองระยะไกลๆ เช่น มองท้องฟ้า ซึ่งเป็นการมองอย่างไม่มีจุดหมายไปไกลๆ มองไปที่ต้นไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้หูอักเสบ หรือปวดฟันก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากเส้นประสาทหูและเส้นประสาทฟัน มิใช่เกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อ เช่น ที่ตา ส่วนโพรงไซนัส ที่กะโหลกด้านหน้าของเราจะมีโพรงอากาศซึ่งภายในมีเยื่อบุโพรงอยู่ ถ้าเกิดติดเชื้ออักเสบ เยื่อบุโพรงนี้ก็จะมีหนองเกิดขึ้น ทำให้เกิดแรงดันในโพรงไซนัสก็ทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์กับปวดหัว

ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า ในจำนวนคน 1 แสนคน พบ 8 หมื่นคนที่ปวดหัว และพบเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งเพียง 10 ราย ดังนั้น ถ้าคนที่ปวดหัวทุกคนในจำนวน 8 หมื่นคนจากประชากร 1 แสนคน ไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งค่าเอกซเรย์ประมาณ 4,000 บาทต่อคน ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายร่วม 320 ล้านบาท เงินจำนวนมหาศาลนี้จะสูญเสียไปเปล่าๆ หากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จึงควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งตรวจเท่านั้น โดยทั่วๆ ไปแพทย์จะใช้วิธีการส่องตรวจตาโดยดูผ่านรูม่านตาเข้าไป ก็จะดูรู้ว่าความดันในสมองสูงหรือไม่ ถ้าสูงก็อาจส่งตรวจในกรณีที่จำเป็น ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งสับสนนะครับ เรื่องความดันในสมองกับความดันเลือดนั้นคนละอย่างกัน การวัดความดันเลือดเป็นการวัดที่แขน แต่การวัดความดันในสมองนั้นวัดโดยส่องดูตาโดยผ่านรูม่านตา บ้านที่มีเจ้าของเป็นผู้มีความรอบคอบ มักจะติดสัญญาณเตือนภัยไว้ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณกันไฟ กันขโมย

ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน ธรรมชาติไม่เพยงแต่สร้างสรรค์ระบบต่างๆ ให้เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากยังสร้างระบบ ‘เตือนภัย’ ให้แก่ร่างกายด้วย เช่น เมื่อมีอาการไข้ ตัวร้อน นั้นก็เพื่อให้เรารู้ว่าร่างกายเกิดผิดปกติแล้ว เราควรให้ความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ในกรณีของอาการปวดหัวก็คงไม่ต่างจากอาการไข้ที่ร่างกายส่งสัญญาณมาให้สมองและร่างกายรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ตั้งแต่อาการปวดหัวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากความเครียดไปจนถึงเป็นอาการบ่งชี้ของโรคที่ร้ายแรง ดังนั้น ขอเพียงใส่ใจแต่อย่ากังวลจนเกินเหตุกับสัญญาณเตือนด้วยความรักตามธรรมชาติเช่นนี้เลย...

ข้อมูลสื่อ

176-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 176
ธันวาคม 2536
บทความพิเศษ
นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์