• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เอดส์กับสุขภาพช่องปาก (ตอนที่ 1)

เอดส์กับสุขภาพช่องปาก (ตอนที่ 1)


เอดส์เป็นโรคที่รู้กันว่ามีอันตรายมากจึงไม่มีใครอยากเป็น เพราะเป็นแล้วตายไม่มีทางรักษา ในปัจจุบันเป็นที่สรุปกันว่าเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า เอชไอวี (HIV) ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องหรือเสียไป โรคนี้ยังมีความน่ากลัวในแง่ที่ว่า ระยะฟักตัวของมันนานถึง 5-10 ปี ดังนั้นในผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้ออาจไม่มีอาการแสดงออกเลย ทำให้ตัวผู้ติดเชื้อ ตลอดจนคนที่อยู่ใกลคียงไม่ได้เฉลียวใจว่ามีการติดเชื้อแล้ว ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วไม่แสดงอาการอะไรเลย

ในกรณีที่เริ่มแสดงอาการบางอย่างแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง เช่น มีตุ่มน้ำเหลืองโตโดยไม่มีสาเหตุนานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป 2-3 แห่ง หรือมีอาการเป็นไข้สูงเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันนานกว่า 3 เดือน น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ท้องเสียเป็นระยะๆ อ่อนเพลีย มีเหงื่อออกตอนกลางคืน มีการติดเชื้อโดยไม่พบสาเหตุ อาการเหล่านี้แสดงถึงอาการที่น่าจะสัมพันธ์กับเอดส์ ควรไปตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนขึ้น และหากมีอาการที่รุนแรงกว่านี้ เช่น มีโรคติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วยหรือมีเนื้องอกบางอย่างก็จัดว่าเป็นอาการของเอดส์อย่างเต็มขั้น

เมื่อพูดถึงเอดส์ คนทั่วไปมักไม่รู้ว่าเอดส์ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในช่องปากด้วย มักจะคิดถึงแต่อาการทางกายอื่นๆ เท่านั้น ที่จริงแล้วตั้งแต่เริ่มมีรายงานผู้ป่วยเอดส์ อาการในช่องปากเป็นส่วนหนึ่งที่มีการกล่าวถึงเสมอ เพราะไม่ใช่เพียงผู้มีอาการของเอดส์เต็มขั้นเท่านั้นที่มีอาการผิดปกติในช่องปาก ผู้ที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ และในปัจจุบันพบว่า ผู้ที่มีผลเลือดบวกต่อเชื้อเอดส์ก็มักแสดงอาการที่ผิดปกติไปจากคนปกติเกิดขึ้นในปาก ดังนั้นอาการบางอย่างของความผิดปกติในช่องปากจึงใช้เป็นเครื่องแสดงถึงภาวะที่น่าจะมีการติดเชื้อเอดส์ได้อีกด้วย

ปัญหาความผิดปกติในช่องปากที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอดส์มีตั้งแต่อาการเป็นโรคที่อาจพบในคนทั่วไป เช่น โรคปริทันต์ แต่ทว่ามีความรุนแรง และบางงรายมีลักษณะเฉพาะมากกว่า การติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย การมีแผลในปากไปจนถึงการมีเนื้องอกบางอย่าง หรือมะเร็งในช่องปาก ทั้งนี้สามารถแยกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มที่ติดเชื้อรา

2. กลุ่มที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

3. กลุ่มที่ติดเชื้อไวรัส

4. กลุ่มที่เป็นเนื้องอกเกิน

5. กลุ่มที่มีความผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

1. กลุ่มที่ติดเชื้อรา เชื้อราชนิดที่มีการติดเชื้อภายในปากที่ค่อนข้างมาก ได้แก่ เชื้อราแคนดิดา ซึ่งพบในอัตราสูงในช่องปากของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังพบได้ในกลุ่มที่มีเลือดบวกต่อเชื้อไวรัสเอดส์อีกด้วย การติดเชื้อแคนดิดาที่บริเวณหลอดอาหารของผู้ป่วย จัดเป็นการติดเชื้อจำพวกเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic Infection) เพราะปกติเชื้อราแครดิดาสามารถอยู่ได้ในช่องปากของคนปกติโดยไม่ทำให้เกิดโรค อาการดังกล่าวอาจติดเชื้อเอดส์ได้ แต่ทั้งนี้การติดเชื้อราในช่องปากยังมีสาเหตุเกี่ยวข้องหลายอย่าง นอกเหนือจากการติดเชื้อเอดส์ เช่น การมีประวัติการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมานานและไม่มีการดูแลสุขอนามัยช่องปากที่ดีพอ เป็นต้น

ลักษณะอาการแสดงการติดเชื้อรามีได้หลายอย่าง ซึ่งแล้วแต่ชนิดของการติดเชื้อ และในผู้ป่วยเอดส์ การติดเชื้อมักเป็นชนิดเรื้อรังมากกว่าจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน การติดเชื้อราในผู้ป่วยประเภทนี้มักพบได้บ่อยที่บริเวณเพดานปาก ลำคอ และบนลิ้น บางรายอาจพบได้ที่กระพุ้งแก้มด้านใน นอกจากนี้อาจมีอาการอักเสบที่บริเวณมุมปากร่วมด้วย ซึ่งสามารถใช้ยารักษาได้ทั้งระบบและเฉพาะที่ โดยทั่วไปขณะที่ได้รับยาผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้น เมื่อหยุดยาอาการต่างๆ มักจะซ้ำขึ้นใหม่ เพราะภูมิคุ้มกันที่บกพร่องนั่นเอง

2. การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย คือ ลักษณะเหงือกอักเสบเป็นแผลเน่าเปื่อยทั่วไป (เรียกว่าเป็นชนิด Acute necrotizing ulcerative gingivitis หรือ ANUG) ผู้ป่วยจะมีกลิ่นปากและเลือดออกขณะแปรงฟัน และพบแผลเน่าเปื่อยบริเวณขอบเหงือกระหว่างฟัน เหงือกมีสีแดงจัด บวม มักพบบริเวณฟันหน้า บางครั้งพบว่า กระดูกข้างใต้บริเวณที่เป็นถูกทำลายไปด้วย ซึ่งมักพบไม่ตอบสนองต่อการรักษาอีกโรคหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือ โรคปริทันต์ ซึ่งพบในผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ที่มีเชื้อเอดส์ มักมีอาการรุนแรงกว่าที่พบในคนทั่วไป เหงือกและกระดูกรองรับฟันถูกทำลายอย่างรวดเร็วและรุนแรง มักไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ครั้งนี้ขอหยุดไว้เพียงแค่นี้ก่อน ครั้งต่อไปจะเล่าให้ฟังถึงการติดเชื้ออื่นๆ พร้อมกับมีภาพประกอบให้ชัดเจนขึ้น จะเห็นได้ว่ามีมีหลายโรคหลายอาการที่แสดงออกในช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคเอดส์ ตัวผู้ป่วยเองจึงต้องหมั่นตรวจดูหรือสังเกตความผิดใดๆ ที่สงสัย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเอดส์โดยไม่รู้ตัวต่อไป

ข้อมูลสื่อ

173-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536
หมอปุ้ย