• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตรวจร่างกาย ก่อนแต่งงาน

ตรวจร่างกาย ก่อนแต่งงาน


การแต่งงานหรือการมีชีวิตคู่นั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสำคัญต่อชีวิตของคู่หญิง-ชายมากนัก เนื่องเพราะก่อนแต่งงานต่างฝ่ายต่างเคยใช้ชีวิตตามวิถีที่ตนพอใจมาโดยตลอด แต่ครั้นเมื่อต้องมาใช้ชีวิตคู่ ความแตกต่างในชาติกำเนิด เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของแต่ละครอบครัว อุปนิสัยส่วนตัว พันธุกรรม โรคภัยไข้เจ็บประจำตัว และอื่นๆ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ได้ก่อนแต่งงาน เพราะความแตกต่างเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายครอบครัวต้องล่มสลาย แม้แต่เรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเช่น การนอนกรนของพ่อเจ้าคุณสามีอาจสร้างความรำคาญให้แก่ภรรยาโดยไม่รู้ตัวการใช้เครื่องใช้ร่วมกันในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่มีวัฒนธรรมนี้มาแต่เดิมหรือแม้แต่การชอบชนิดหรือรสชาติของอาหารที่แตกต่างกัน เหล่านี้ก็ทำให้เกิดปัญหา “บ้านแตก” ได้

“บทความพิเศษ” ฉบับนี้ จึงขอพาท่านผู้อ่านมาพบกับเรื่องราวบางส่วนซึ่งมีความจำเป็นต่อการเริ่มต้นชีวิตคู่ในอนาคต นั่นคือ การตรวจร่างกายก่อนแต่งงาน

ตรวจร่างกายเพื่อ..คนที่คนรัก

ทุกคนรู้ดีว่าการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวอย่างราบรื่นโดยไม่มีอุปสรรคนั้น คงเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุนี้คู่รักทุกคู่จึงควรเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับปัญญาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังเช่นที่ภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” สุขภาพกายและจิตมีความสำคัญต่อการเริ่มต้นชีวิตคู่ ในที่นี้จะขอพูดถึงเฉพาะสุขภาพกายก่อน ด้วยทั้งสองต่างก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาหรือเธอมีสิ่งใดที่จะอุปสรรคต่อการเริ่มต้นชีวิตคู่หรือไม่ นอกจากจะจูงมือกันไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย

กรณีนี้เมื่อมีการร้องขอให้อีกฝ่ายหนึ่งไปตรวจ ข้างฝ่ายที่ถูกขออาจจะคิดว่าคนรักของตนไม่ไว้ใจหรือไร จึงต้องให้ไปตรวจร่างกายก่อน จนถึงขนาดบางคู่ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจจุดนี้ได้ ก็อาจจะแหนงแคลงใจ พร้อมๆ กับคิดว่าหากไม่ไว้ใจกันก็อย่าแต่งไปโน่นเลยก็มี นั่นเป็นลักษณะการมองเหตุการณ์แบบคนที่มีจิตใจคับแค้น เพราะถ้าหากคุณเปิดใจให้กว้างคุณจะรู้สึกว่าเป็นการดีเสียอีกที่มีการตรวจร่างกายกันก่อนที่จะรวมใจรวมกายเป็นหนึ่งเดียว หากไม่เช่นนั้นแล้ว อะไรๆ ที่เคยเป็นจุดด้อยของคุณคนเดียว ก็จะเพิ่มขยายจำนวนแตกหน่อผลไปสู่คนที่คุณรักด้วย ถ้าไม่รู้ตัวและป้องกันไว้ก่อน

หากมองโลกในแง่ดี คุณจะเห็นข้อดีของการตรวจร่างกายก่อนการแต่งงาน อาทิ

- เป็นการแสดงความจริงใจต่อกัน เพราะการยอมไปตรวจร่างกายเป็นการบ่งบอกถึงความรักที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และแสดงให้เห็นว่า คุณพร้อมที่จะตรวจร่างกายเพื่อเธอ (เขา) และหากพบโรคใดที่อาจติดต่อไปถึงเธอ(เขา)หรือลูก ก็พร้อมที่จะรักษา เพื่อป้องกันไว้ก่อน

- เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างครอบครัว คือ เป็นการตรวจเพื่อหาว่าคู่รักขงอคุณมีโรคติดต่อที่จะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันรักษาไว้ก่อนเพราะคุณเองก็คงไม่อยากเห็นลูกน้อยที่จะเกิดมาต้องมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งพิการเป็นแน่

แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

เมื่อตกลงใจจะไปพบแพทย์ด้วยกัน นอกจากแพทย์จะตรวจร่างกายโดยทั่วๆ ไปให้แล้ว ยังจะตรวจเลือดให้ด้วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะแฝงอยู่ คือ

1. กลุ่มเลือด (Blood groub) เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นเลือดกลุ่ม A,B,AB และ O

2. ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hematocrit,Hemoglobin) เพื่อดูว่ามีโลหิตจางหรือไม่ หากมีภาวะโลหิตจาง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุต่อไป

3. ซิฟิลิส (Syphilis) หรือที่นิยมเรียกว่า เลือดบวก จัดว่าเป็นกามโรคชนิดหนึ่ง อาจไม่เคยมีอาการใดๆ เลยก็ได้ แต่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจเลือด

4. เริม โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ ยังไม่มียาขนาดใดที่จะรักษาเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสให้หายขาดได้

5. ตับอักเสบไวรัสบี (HbsAg,Ab)

- หากพบว่า มีเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็จะได้ดูแลตนเอง และป้องกันมิให้แพร่เชื้อกระจาย

- หากพบว่า ไม่เคยได้รับเชื้อตับอักเสบไวรัสบี ก็ควรฉีดวัคซีนตับอักเสบไวรัสบี

- หากพบว่า มีภูมิคุ้มกันแล้วก็จะเกิดความสบายใจได้

6. เชื้อไวรัสเอดส์ (AIDS-HIV) สำหรับการตรวจหาเชื้อเอดส์นี้แล้วแต่ความสมัครใจของคู่สมรสว่าต้องการตรวจหรือไม่ แต่คนที่รู้ตัวว่าอยู่กลุ่มเสี่ยง (หญิงอาชีพพิเศษ พวกรักร่วมเพศ) ก็ควรที่จะตรวจไว้ก่อนดีกว่า นั่นเพราะทุกคนทราบดีว่ามัจจุราชที่มีชื่อ ว่า “เอดส์” นั้น น่าสะพรึงกลัวเพียงใด ไม่ว่าจะร่วมเพศร่วมเลือดกับใครที่มีเชื้อเอดส์นี้ คุณก็มีโอกาสเป็น “สมาชิกใหม่” ได้ทั้งนั้น

7. ตรวจร่างกายทั่วไป แพทย์จะทำการวัดความดันเลือด เอกซเรย์ปอด (แต่ไม่จำเป็นหากไม่มีประวัติเกี่ยวกับโรคปอดของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด) และตรวจหาโรคบางอย่างที่สงสัยหรืออาจจะเป็นเฉพาะราย เช่น โรคทางพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย คือ ธาลัสซีเมีย และปัญญาอ่อน (ดาวน์ซินโดรม)

ว่าที่คุณแม่เตรียมตัวให้พร้อม

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือสิ่งจำเป็นจะต้องตรวจทั้ง ชาย-หญิง และโดยเฉพาะเพศหญิง ซึ่งต้องทำหน้าที่ “แม่” ในอนาคต ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ คือ

หัดเยอรมัน

ถ้าแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างมีครรภ์ เชื้อไวรัสในเลือดจะทำอันตรายต่ออวัยวะของระบบต่างๆ เช่น เป็นต้อกระจก หูหนวก โรคหัวใจ หรือ บางรายอาจะเป็นปัญญาอ่อน ก่อให้เกิดความพิการ ถ้ารุนแรงอาจจะแท้งหรือตายตั้งแต่แรกคลอด ถ้าแม่ติดเชื้อตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์อ่อนเดือน จะพบความพิการได้มากในเดือนแรกมีโอกาสพบทารกพิการ ประมาณร้อยละ 50-80 เดือนที่ 2 มีโอกาสพบความพิการร้อยละ 20-35 เดือนที่ 3 มีโอกาสพบร้อยละ 6-15 เดือนที่ 4 ร้อยละ 1-5

ถ้าคุณไม่เคยเป็นหรือไม่เคยฉีดวัคซีน ป้องกันโรคนี้มาก่อน ก็ต้องรีบตรวจหาภูมิคุ้มกันว่าเคยเป็นหรือยัง หรือฉีดวัคซีนเสียก่อนจะสวมชุดเจ้าสาวหรือก่อนตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนควรคุมกำเนิดไว้ก่อน 3 เดือน(บางรายได้รับวัคซีนหัดเยอรมันแล้วมีครรภ์ พบว่า วัคซีนไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์) ดังนั้น หากคุณต้องการความปลอดภัยสำหรับลูกอันเป็นที่รัก และเพื่อความสบายใจสำหรับตัวคุณเอง ก็อย่าละเลยหรือมองข้ามวัคซีนหัดเยอรมันไปเสีย

ปัญหาเฉพาะคุณผู้หญิง

หากเกิดกรณีเช่นนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

- เลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ มานานผิดปกติเกิน 7 วัน ปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน (ปวดท้องเมนส์)

- ปวดท้องน้อย คลำพบก้อนในช่องท้อง

- ตกขาว หรือสิ่งผิดปกติออกทางช่องคลอด

- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น บ่อยมากขึ้นๆ ไม่สะดวก รู้สึกขัดๆ

- เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน

- เมื่อวางแผนไว้ว่าต้องการจะมีบุตร

ถ้าคุณมีปัญหาดังกล่าวข้างต้น ข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะมากกว่านั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยอาจจะตราจภายในเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกซึ่งพบได้บ่อยๆ หรือเนื้องอกหรือมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน อ่านแล้วอย่าเพิ่งกลัวการแต่งงานเสีย เพราะการรู้จักโรค รู้จักการป้องกัน ก็เสมือนเป็นภูมิคุ้มกันให้เราสุขภาพดี ถึงแม้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคจะยังไม่มียารักษาใดที่รักษาให้หายขาด หรือมีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังมีทางอื่นช่วยได้หากรู้ล่วงหน้า ก็โดยการตรวจร่างกายก่อนแต่งงาน ทั้งนี้เพื่อมิให้โรคถ่ายทอดไปสู่คู่สมรสทางเพศสัมพันธ์ หรือสู่ลูกน้อยในครรภ์ทางเลือด

เพศกับชีวิตคู่

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ดูเหมือนไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่า “ความรัก” คนในวัยนี้มันจะมองความรักว่าเป็นสิ่งที่ทำให้โลกสดใส หัวใจสดชื่น มีความสุข รู้สึกอบอุ่นและอยากให้มีใครสักคนคอยอยู่ใกล้ๆ ให้ความช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน สิ่งที่ตามมากับความรักเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการมีสัมพันธ์ทางเพศเพราะเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความรักวิธีหนึ่ง แต่หลายๆ คนก็พบว่า ตนเองมีปัญหาในการแสดงความรักวิธีนี้

อันที่จริงถ้าเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ เรื่องเพศก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเราที่อาจจะมิได้ลงตัวราบรื่นเสมอไป ในช่วงหนึ่งของชีวิตคู่ใครๆ ก็อาจประสบปัญหาทางเพศได้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากเกิดปัญหาขึ้นมา คนใกล้ชิดของคุณนั่นแหละที่จะช่วยได้ ควรพูดกันอย่างตรงไปตรงมาค้นหาสาเหตุของปัญหา ถ้าพูดอ้อมไปอ้อมมา ก็หาสาเหตุไม่พบ ขนาดเรื่องอื่นๆ ที่มีการพูดตรงๆ ยังเสียเวลาแก้อยู่ตั้งนาน แล้วเรื่องเซ็กส์จะพูดอ้อมได้อย่างไร

ถึงวันนี้การอยู่ร่วมกันมิใช่โดยอาศัยเพียงแค่ความรักที่มีต่อกัน หรือความคิดที่ว่า ความรักเท่านั้นที่จะผูกพันชีวิตคู่ให้ยืนยาวได้ตลอดไป แต่ต้องประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกันดังที่กล่าวมาแล้ว
การเรียนรู้และเข้าใจจิตเวทเรื่องเพศ ความเหมือนความต่างของเพศ การรู้จักใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน การปรับตัวเข้าหากันทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีความอดทน มีความเมตตากรุณาต่อกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นคุณค่าที่ดี ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจอันดีตลอดไป

  • ซิฟิลิส

ซิฟิลิสจัดเป็นโรคที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่ง อาการที่พบ คือ แผลมีลักษณะสะอาด ก้นแผลเรียบ ติ่มน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดไม่เจ็บ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เชื้อโรคจะลุกลามเข้าทางหลอดเลือด ทำให้มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล มีผื่นขึ้น (ออกดอก) ไม่คันไม่ปวด หากปล่อยทิ้งไว้อีก จะมีอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด ผมร่วง และเชื้อลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้ทั่วร่างกาย

การตรวจเลือดจะบอกได้แน่นนอนว่าเป็นซิฟิลิสหรือไม่ ส่วนใหญ่หญิงที่จะตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิสก่อน เพราะเชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังทารกในครรถ์ ทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้

  • เริม

โรคนี้เป็นๆ หายๆ ยังไม่มียาขนานใดที่จะรักษาเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสให้หายขาดได้ อาการเริ่มแรกของโรคเริมจะเป็นตุ่มเล็กๆ ใสๆ แล้วแตกเป็นแผลเจ็บ หากมีการร่วมเพศในช่วยที่โรคกำเริบจะติดต่อไปสู่คู่สมรสได้ และถ้าแม่มีโรคเริมกำเริบที่ช่องคลอดขณะใกล้คลอดก็อาจติดทารกขณะคลอดได้ ทำให้ทารกเป็รโรคเริมขั้นร้ายแรงได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแทน

  • ตับอักเสบไวรัสบี

อันว่าตับอักเสบไวรัสบีนั้น เป็นโรคติดต่อหรือสามารถถ่ายทอดถึงลูกได้ โรคนี้อาจทำให้เกิดจับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง ในระยะยาวอาจทำให้โรคตับแข็ง มะเร็งตับ ส่วนเด็กที่ได้รับเชื้อตั้งแต่แรกเกิดอาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบ มะเร็งของตับเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ผู้ติดเชื้อวัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะหายและมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่บางคนจะยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงออก และเป็น “พาหะ” ที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น

  • เอดส์

โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือดที่ร้ายแรง มีอันตรายถึงชีวิต และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยาที่จะรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสเอดส์เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเม็ดเลือดขาวของร่างกายซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันโรค ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคเสื่อมลง ง่ายต่อการเกิดโรค ติดเชื้อแทรกแทรกช้อนและมะเร็งบางชนิด และสุดท้ายผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตจากโรคแทรกช้อนเหล่านั้น สำหรับแม่ที่ติดเชื้อ อาจติดต่อถึงลูกขณะตั้งครรภ์ และเด็กมักจะตายในเวลาต่อมา จึงนับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง

  • ธาลัสซีเมีย

จากการสำรวจพบว่า คนไทย 18 ล้านคนเป็นพาหะโรคนี้โดยไม่รู้ตัว!  ธาลัสซีเมียเป็นโรคซีดชนิดหนึ่งที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เกิดขึ้นโดยการถ่ายทอดจากพ่อและ/หรือแม่ทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเหลีย ไม่เติบโตตามวัย เจ็บป่วยบ่อยๆ ซีด ตับ-ม้ามโต บางครั้งจำเป็นต้องให้เลือดบ่อยๆ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคแสดงอาการ (เป็นโรค) เท่ากับร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 และมีโอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะถึงร้อยละ 50 หรือ 1 ใน 2 ถ้าพ่อหรือแม่เป็นพาหะเป็นเพียงคนเดียว โอกาสที่ลูกจะเป็นเท่ากับร้อยละ 50 หรือ 1 ใน 2 โอกาสที่จะมีลูกปกติเท่ากับร้อยละ 50 หรือ 1 ใน 2 การซักประวัติครอบครัวและการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษของแพทย์จะช่วยให้ทราบว่าเป็นพาหะของโรคนี้หรือไม่

  • ปวดท้องเมนส์

ผู้หญิงหลายคนต้องพบกับความทุกข์ทรมานทุกๆ รอบเดือน แต่นั่งคงไม่กระไรนัก หากอาการปวดท้องเมนส์ยังเป็นเสมือน “ลางร้าย” สำหรับคนที่อยากมีลูกได้ในบางครั้งอีกด้วย รู้จักกับอาการนี้กันก่อนดีกว่า จะได้ไม่ต้องกลัวเกินเหตุ

ปวดท้องเมนส์คืออะไร

เป็นอาการปวดหน่วงๆ ถ่วงที่ท้องน้อยขณะมีรอบเดือน ปวดเป็นระยะๆ บางทีก็ปวดตลอด หรือปวดร้าวไปที่หลัง ต้นขา หรือสะโพก อาจรู้สึกปวดหรือถ่วงๆ บริเวณช่องคลอดและมดลูก บางครั้งจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดเมื่อยตามตัวทั่วไป เป็นไข้

ทำไมถึงปวด

มดลูกประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่บีบรัดและคลายตัวได้เป็นจังหวะๆ ขณะมีรอบเดือนกล้ามเนื้อมดลูกจะบีบรัดตัวแรงกว่าในช่วงปกติ ทำให้รู้สึกปวดได้ การบีบรัดของกล้ามเนื้อมดลูกนี้เกิดจากการกระตุ้นของสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งมีอยู่ที่มดลูกและส่วนอื่นบางแห่งของร่างกาย หากมีการกระตุ้นทำให้บีบรัดตัวแรงๆ และบ่อยๆ ก็จะขัดขวางการไหลของเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อมดลูก เกิดภาวะขาดเลือดชั่วขณะทำให้เกิดความเจ็บปวดซึ่งก็คือ “ปวดท้องเมนส์”

การปวดท้องเมนส์มี 2 แบบ คือ ปฐมภูมิ (Primary) และทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea)

แบบปฐมภูมิ พบได้บ่อยกว่า เป็นผลจากการบีบรัดตัวของมดลูก ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ มักเริ่มต้นเป็นในวัยรุ่น หรืออาจจะเป็นในช่วงหลังจากคลอดบุตร เมื่ออายุมากขึ้น จะปวดน้องลงหรือเหมือนเดิม แต่บางทีก็เป็นมากขึ้น

แบบทุติยภูมิ ปวดท้องเมนส์ที่เป็นผลมาจากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอก ภาวะติดเชื้อ มีเลือดประจำเดือนตกค้างในอุ้งเชิงกราน หรือมีโรคของมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ มักเป็นหลังจากที่เคยมีประจำเดือนปกติมาก่อน ระยะเวลาปวดท้องอาจอยู่นานกว่า 2-3 วันตามปกติปวดท้องน้อยแบบนี้อาจปวดในช่วงอื่นที่มีไข่ช่วงระยะมีประจำเดือนก็ได้ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์

สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

1. โรคเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) อาจพบได้ที่อุ้งเชิงกราน รังไข่ ลำไส้ เมื่อถึงแต่ละรอบเดือนก็จะมีเลือดออดเหมือนเยื่อบุมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูกตามปกติ เลือดที่ออกจะสะสมรวมกันเป็นตุ่มเป็นก้อน บวมเจ็บ โรคนี้จะมีอาการปวดท้องเมนส์หลายๆ วันก่อนมีรอบเดือน บางครั้งก็มีเลือดออกกะปริดกะปรอย โรคนี้สัมพันธ์กับการมีบุตรยากและเจ็บปวดบริเวณช่องคลอดหรือท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย

2. อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease –PID) มักเป็นผลมาจากการอับเสบติดเชื้อกามโรค ปวดนานอยู่หลายวัน อาจเกิดก่อนหรือหลังมีรอบเดือนก็ได้

3. เนื้องอกของมดลูก (Leiomyoma)

4. ใส่ห่วงยางอนามัย อาจทำให้เกิดปวดท้องน้อยได้

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะปวดท้องเมนส์แบบใดก็ตาม ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์-สูตินรีแพทย์ อย่ามามัวอดทนทรมาน เสียการเสียงาน เสียความรู้สึกอยู่เลย แพทย์มีทางแก้ไขรักษาให้คุณ

  • โรคปัญญาอ่อน

หากจะถามถึงสาเหตุของโรคปัญญาอ่อน (ดาวน์ซินโดรน) นั้น ก็คงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่อาจพอสรุปได้ว่ามีปัจจัยที่สัมพันธ์กับความผิดปกติของโครโมโซม คือ อายุของแม่ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นสาเหตุที่สำคัญของการให้กำเนิดทารกที่มีลักษณะปัญญาอ่อน ดังนี้

แม่อายุ 20 ปี พบ 1 ต่อ 1,925

แม่อายุ 30 ปี พบ 1 ต่อ 85

แม่อายุ 35 ปี พบ 1 ต่อ 365

แม่อายุ 40 ปี พบ 1 ต่อ 110

แม่อายุ 45 ปี พบ 1 ต่อ 32

แม่อายุ 48 ปี พบ 1 ต่อ 16

โดยภาพรวมแล้วความพิการ-ปัญญาอ่อนเป็นผลจากโครโมโซนที่ผิดปกติ ปัจจุบันนี้การตรวจหาสาเหตุเมื่อมีความพิการ-ปัญญาอ่อนสามารถทำได้หลายๆ แห่ง เพื่อค้นหาสาเหตุและป้องกันมิให้เกิดภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้น ควรมีการตรวจโครโมโซมในกรณีต่อไปนี้

1. มารดาที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

2. เคยมีประวัติครอบครัวว่ามีคนในครอบครัวมีความผิดปกติ

3. ตัวเตี้ยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพี่น้องคนอื่นๆ

4. การเจริญทางเพศช้าผิดปกติเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว

5. เพศหญิงที่ไม่เคยมีประจำเดือนเมื่อถึงวัยอันควร

ข้อมูลสื่อ

173-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536
บทความพิเศษ
นพ.วิวัฒน์ ศุภดิษฐ์