• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รัก ชื่อนั้นสำคัญยิ่งนัก

“เห็นดงรักริมคลอง ทั้งสองฟาก ยิ่งรักมากมัวจิตพิศวง...”

ข้อความข้างบนนี้คัดมาจากนิราศพระแท่นดงรัง ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งโดยเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพักสร) ในสมัยรัชกาลที่ 3 กว่าร้อยปีมาแล้ว

จากข้อความเพียง 2 บรรทัดนี้ บอกเล่าถึงสภาพชนบทสองฟากคลองในสมัยโน้น ซึ่งรกร้างว่างเปล่า มีต้นรักขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมาก ยิ่งทำให้ความรักเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่าชื่อของต้นรักมีผลต่อความรู้สึกของกวี และคนไทยทั่วไปให้นึกถึงความรักเสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปีแล้ว แต่ความรู้สึกของคนไทยที่ต่อต้นรักก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ยังคงนึกถึงความรักเหมือนเดิม เห็นได้ชัดเจนจากพวงมาลัยที่คล้องให้บ่าวสาวในวันแต่งงานจำเป็นต้องมีดอกรักเป็นส่วนสำคัญเสมอ

คนไทยมองต้นรักคู่กับความรักมานานเป็นร้อยๆ ปี จนทำให้มีน้อยคนจะทราบว่าต้นรักไม่ใช่ต้นไม้ดั้งเดิมของไทย และชื่อเดิมของต้นรักนั้นมีความหมายตรงกันข้าม คือ แปลว่า ไม่รัก ดังนั้นฐานะของต้นรักในท้องถิ่นดังกล่าวจึงแตกต่างจากต้นรักในประเทศไทยมาก นี่แสดงให้เห็ฯความสำคัญของชื่อได้อย่างชัดเจน

                                            

รัก : นักเดินทางผู้ประสบความสำเร็จ
รักเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calotropis gigantean R. Br. อยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae พุ่มรักมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปทางด้านข้างพอๆ กับส่วนสูง เมื่อโตเต็มที่สูงราว 3 เมตร ลำต้นอ่อนปกคลุมด้วยขนสีขาวละเอียด

ใบมีขนาดใหญ่รูปมนรีสีเขียวปนเทา มีขนละเอียดปกคลุม เมื่อกระทบแสงจะสะท้อนเป็นเสีเหลืองนวล ใบกว้างราว 10-13 เซนติเมตร ยาวราว 20-25 เซนติเมตร

ดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือ โคนก้านใบใกล้ส่วนยอด ดอกมีสีขาวหรือม่วง (หรือขาวอมม่วงก็มี) มีกลีบดอก 5 กลีบ ตรงกลางดอกมีส่วนหนึ่งยื่นขึ้นมารูปร่างคล้ายมงกุฎ มี 5 แฉก ส่วนนี้นิยมแยกเอามาใช้ร้อยพวงมาลัย

ผลของรักมีรูปร่างกลมยาว เมื่อยังอ่อนเปลือกสีเขียว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วแตกออก เมล็ดเล็กๆ ที่อยู่ภายในมากมายจะปลิวไปตามลมได้ไกลๆ เพราะมีปุยติดอยู่กับเมล็ด

รักเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะสภาพดินไม่สมบูรณ์และความแห้งแล้งจึงมักพบรักขึ้นเองตามธรรมชาติได้ทั่วไปในพื้นที่ซึ่งปล่อยให้รกร้างและบริเวณข้างถนนและลำคลอง

เชื่อกันว่ารักมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิม อยู่ที่อินเดีย บางทีอาจรวมพื้นที่บางส่วนของจีน ทิเบต และอิหร่านด้วย ซึ่งเป็นเขตร้อนที่ค่อนข้างแห้งแล้ว ดินเลว รักทีพบในเมืองไทยคงมาจากอินเดีย เพราะคนไทยเรียกชื่อต้นรักคล้ายกับอินเดียมาก คือในอินเดีย เรียกว่า อรัก (อะรัก แปลว่าไม่รัก) คนไทยคงฟังไม่ถนัดจึงเรียกว่า รัก ทำให้ความหมายกลายเป็นตรงข้าม แต่เป็นความหมายที่ดี รักในเมืองไทยจึงอยู่ในฐานะพิเศษ เป็นที่รักและใกล้ชิดคนไทยในพิธีกรรมต่างๆ มากที่สุดชนิดหนึ่ง ถือเป็นไม้มงคลที่คนไทยแทบทุกคนเคยเกี่ยวข้องด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

จากต้นไม้ซึ่งไม่มีใครรักในถิ่นกำเนิดดั้งเดิม (อินเดีย) กลายมาเป็น ต้นไม้แห่งความรัก ที่คนไทยใช้แทนความรักอย่างเป็นทางการ นับว่าต้นรักเป็นนักเดินทางที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาพืชจากต่างแดนที่เดินทางมาสู่ประเทศไทย

ชื่อที่ใช้เยกต้นรักในประเทศไทยคือ รัก รักดอก ภาคกลาง) รักขาว รักซ้อน รักเขา (เพชรบูรณ์) ปอเถื่อน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Giant Indian Milkweed. Crown Flower จะเห็นว่าภาษาอังกฤษเรียกตามลักษณะดอกที่คล้ายมงกุฎ หรือลักษณะที่มีน้ำยาสีขาวเหมือนน้ำนมตามส่วนต่างๆ ของลำต้น และยังบอกอีกว่าเป็นวัชพืชและมาจากอินเดีย

สำหรับหมอพื้นบ้านชาวไทย เรียกต้นรักที่มีดอกสีม่วงต้นธุดงค์
ต้นรักที่เป็นพืชดั้งเดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้น เป็นต้นไม้ใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับมะม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melanorrhoea usitata Wall. ชื่อเรียกในภาษาไทยคือ รักหลวง และรักใหญ่ ในลำต้นมียางสีดำ ใช้ประโยชน์ในการลงพื้นหรือทาสิ่งต่างๆ เรียกว่าลงรัก เช่น รองพื้นแล้วปิดด้วยทองคำเปลว เรียกว่าลงรักปิดทอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้ทำงานฝีมือที่เรียกว่า เครื่องเขิน และทาผ้า หรือเครื่องจักสานกันน้ำซึมได้ด้วย

รักในชีวิตคนไทย
หมอพื้นบ้านไทยใช้ส่วนต่างๆ ของรักเป็นสมุนไพรรักษาโรคหลายชนิด เช่น
ใบ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คุดทะราด
ยาง แก้ริดสีดวงในลำไส้ ขับพยาธิไส้เดือน
ดอก แก้กลาก เกลื้อน
ผล แก้รังแค

ในทางไสยศาสตร์นิยมใช้รากต้นรักที่มีดอกซ้อนสีขาวมาแกะเป็นรูปพระปิดตา (พระควัมปติ หรือภควัม) เป็นรูปนางกวัก หรือรูปเด็กขนาดเล็กนำมารวมกับรูปเด็กที่แกะจากรากมะยม รวมเรียกว่า รักยม แล้วแช่ในขวดเล็กๆ ที่ใส่น้ำมันจันทน์ นับเป็นของขลังที่ชายไทยในชนบทภาคกลางสมัยก่อนนิยมพกติดตัวเวลาออกจากบ้าน

สำหรับใบของรักนั้น ก็นำมาใช้ทำเสน่ห์ให้คนรักได้ โดยใช้ใบต้นรักซ้อนสีขาวเช่นเดียวกัน
ในงานแต่งงานของคนไทยภาคกลาง นอกจากใช้ดอกรักร้อยเป็นพวงมาลัยสวมให้เจ้าบ่าว เจ้าสาวแล้วยังใช้ใบรักรองก้นขันใส่สินสอดและขันใส่เงินทุนที่ให้แก่คู่สมรสอีกด้วย

ดอกรักนับเป็นสินค้าเกษตรที่คนไทยต้องการตลอดปี เพราะใช้ในการร้อยพวงมาลัยเกษตรกรบางแห่งปลูกต้นรักเอาไว้เก็บดอกมาร้อยพวงมาลัยขายเอง ซึ่งมักพบว่าปลูกคู่ไปกับมะลิลา เพราะใช้ประกอบเป็นพวงมาลัยที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดและมักปลูกต้นจำปีด้วย เพราะนอกจากจะเป็นดอกไม้ยอดนิยมสำหรับนักร้อยพวงมาลัยแล้ว ทั้งรักมะลิลาและจำปี ยังให้ดอกได้ตลอดปีอีกด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

272-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 272
ธันวาคม 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร