• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟักทอง : สุดยอดผักผลโตแต่โบราณ

ฟักทอง : สุดยอดผักผลโตแต่โบราณ

 

…คนชั้นต่ำอึดอยู่อึดกิน
 บนดินแดนอีสานอดอยาก
 เก็บหมากไม้ หมากอึ หมากแตง
 เอามาแกงกินแลงต่างข้าว…
                          

 

บทเพลงที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงชื่อ “เซิ้งอีสาน” ของวงคาราวาน ซึ่งออกเผยแพร่ครั้งแรกช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ บรรยายถึงความยากลำบากของชาวอีสานในขณะนั้น เช่น คนจนต้องอดอยากถึงขนาดเก็บผลไม้ ฟักทอง และแตงกวามากินแทนข้าวเย็น (เพราะไม่มีข้าวปลากิน)

ผู้อ่านหลายท่านคงนึกไม่ออกว่า การกินผลไม้ ฟักทอง หรือแตงกวา แทนข้าวจะเป็นความอดอยากหรือเดือดร้อนที่ตรงไหน เพราะมิได้ขาดแคลนหรือไม่มีอาหารกินเช่นบางประเทศสักหน่อย การจะเข้าใจถึงความรู้สึกของชาวอีสานตามเนื้อเพลงนี้ เราต้องทราบว่า คนไทยไม่เคยประสบกับภาวะอดอยากถึงกับไม่มีอาหารกินมาก่อนเลยตลอดระยะเวลาที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ อย่างมากที่สุดก็แค่เกิดภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” คือ หาข้าวได้ยากและหมากมีราคาแพงเท่านั้น หรือเมื่อเกิดความแห้งแล้งทำนาไม่ได้ผล คนไทยก็จะเข้าป่าไปเก็บหัวเผือก มันป่า กลอย หรือเล็ดไผ่ (ขุยไผ่) มากินแทนข้าว ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้คนไทยจะถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ของชีวิตเลยทีเดียว เพราะคนไทยเป็นแม่โพสพหรือข้าวนั้นไม่เคยจะแยกจากกันมาก่อน และอาหารที่แท้จริงของคนไทยก็คือข้าวนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากคำถามหรือคำทักทายของคนไทยที่ว่า “ไปไหนมา-กินข้าวแล้วหรือยัง” เป็นต้น หรือแม้แต่คำว่า “หิวข้าว” ของคนไทยก็หมายถึง หิวอาหารนั่นเอง

หากทราบถึงภูมิหลังของคนไทยดังกล่าวแล้ว ก็จะเข้าใจว่าคนอีสานนั้นเดือดร้อนและรู้สึกว่าตัวเองอดอยากขนาดไหน เมื่อต้องกินผลไม้ ฟักทอง และแตงกวา เป็นอาหารเย็น
ในเนื้อเพลงบทนี้ นอกจากจะบอกถึงความรู้สึกของชาวอีสานแล้ว ยังให้ข้อมูลด้วยว่ายามที่ขาดแคลนข้าวนั้น ชาวอีสานมิได้เก็บเผือก มัน หรือกลอยตลอดจนเมล็ดไผ่จากป่ามากินแทนข้าว แต่กินผลไม้ ฟักทอง และแตงกวาแทน แสดงว่าแม้จะเพาะปลูกข้าวไม่ได้ แต่ก็ยังปลูกผลไม้ (บางชนิด) และผักบางชนิดได้ โดยเฉพาะแตงกวาและฟักทอง

รู้จักฟักทอง : ผักพเนจรผลโต

  • ฟักทองเป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae เช่นเดียวกับพืชจำพวกบวบ ฟัก และแตงชนิดต่างๆ นั่นเอง
  • ฟักทองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucurbita moschata Decne เป็นพืชล้มลุก เถายาว มีขนสีขาวตามลำต้นและใบ มีมือจับคล้ายตำลึง ดอกขนาดใหญ่สีเหลืองเข้ม มีดอก ๒ เพศ แยกกันอยู่บนต้นเดียวกัน ผลมีขนาดตั้งแต่เท่าไข่ไก่ไปจนถึงกว่าร้อยกิโลกรัม นับเป็นผักที่มีผลโตที่สุดในโลก ผิวของผลสีเขียว เขียวอมเหลือง เหลืองแสด หรือสีครีม เนื้อในผลสีเหลืองอมเขียว เหลืองแก่หรือสีแสด มีโพรงในผล มีเมล็ดขนาดใหญ่แบนจำนวนมาก บางพันธุ์ผลเป็นพูโดยรอบ บางพันธุ์ผลแบนแป้น ผลกลม ผลทรงกระบอกมน ฯลฯ บางพันธุ์ผิวเรียบ บางพันธุ์ก็ขรุขระมาก เช่น พันธุ์คางคก เป็นต้น
  • ชื่อภาษาอังกฤษคือ Pumpkin ภาคกลางเรียก ฟักทอง ภาคเหนือเรียก มะฟักแก้ว ภาคใต้เรียก น้ำเต้า ภาคอีสานเรียก หมักอึ ฟักทองมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้  ชาวพื้นเมืองรู้จักใช้ประโยชน์จากฟักทองมาหลายพันปีแล้ว นักวิชาการถือว่าฟักทองเป็นผักโบราณชนิดหนึ่ง เพราะแพร่หลายไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของฟักทองก็คือ มีขี้ผึ้งธรรมชาติหุ้มผิวของผลอยู่เช่นเดียวกับฟักเขียว ทำให้เก็บเอาไว้ได้นานมาก สะดวกในการขนส่ง นอกจากนี้ยังทนทานต่อดินฟ้าอากาศ และโรคแมลง จึงเป็นพืชสำคัญของเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย (Slash and Burn or Swidden Cultivation) มาตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน รวมถึงเกษตรกรในเขตร้อนที่ยากจนและผลิตเพื่อยังชีพเป็นหลักอีกด้วย

เพลงลูกทุ่งที่โด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทยเพลงหนึ่งของชาย เมืองสิงห์ ศิลปินแห่งชาติ คือ “มันยกร่อง” มีเนื้อตอนหนึ่งว่า “มันยกร่อง ฟักทอง แตงไทย แม่สาวหน้ามล ทำไมเป็นคนหลายใจ…
ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเป็นคนหลายใจก็สามารถปลูกฟักทองได้ดี เพราะฟักทองปลูกง่ายและให้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าแก่ผู้ปลูกอย่างแน่นอน

                                                       *************************

อาหาร

ฟักทองในฐานะผัก

นักวิชาการจัดฟักทองเอาไว้ในจำพวกผักผล เพราะใช้ประโยชน์จากผลฟักทองมากกว่าส่วนอื่นๆ แต่ในประเทศไทยโดยเฉพาะชาวอีสานใช้ส่วนยอดอ่อนและดอกของฟักทองเป็นผักที่แพร่หลายอย่างหนึ่งด้วย ส่วนยอดอ่อนของฟักทองประกอบด้วยใบอ่อนและลำต้นใช้ต้มหรือปิ้งให้สุกเป็นผักจิ้มได้ดี หรือใช้ต้มแกงเป็นผักอย่างหนึ่งก็ได้เช่นเดียวกัน ส่วนดอกนั้นนิยมเก็บดอกตัวผู้มาเป็นผักเพราะไม่ให้ผล ส่วนดอกตัวเมียหากผสมพันธุ์ไม่ติดดอกร่วงจากต้นก็เก็บมาเป็นผักได้เช่นเดียวกัน

ผลฟักทองที่ผสมพันธุ์แล้ว จะนำมาใช้เป็นอาหาร ๒ ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงยังเป็นผลอ่อน (อายุประมาณ ๔o-๖o วัน) และผลแก่(อายุ ๑๒o-๑๘o) วัน หรือช่วงหลังผสมเกสรประมาณ ๕-๗ วัน สำหรับประเภทใช้ผลอ่อน และ ๓๕-๕o วัน สำหรับประเภทใช้ผลแก่ ผลอ่อนนิยมใช้เป็นผัก ส่วนผลแก่ใช้ได้ทั้งเป็นผักและอาหารอย่างอื่นในประเทศไทยนั้นนิยมเก็บฟักทองในช่วงแก่จัดมากกว่าผลอ่อน

ผลแก่ของฟักทองมีผิวแข็งและเคลือบด้วยขี้ผึ้งธรรมชาติ (คนไทยเรียกขี้ผึ้งนี้ว่า นวล) บางพันธุ์มีผิวขรุขระมาก เช่น พันธุ์คางคก ก่อนนำไปหระกอบอาหารมักปอกผิวนอกออกเสียก่อน คนไทยนิยมฟักทองเนื้อละเอียดแน่นไม่เละง่ายเมื่อถูกความร้อน นิยมกันว่า ฟักทองพันธุ์คางคกมีเนื้อที่ดีที่สุด

นอกจากใช้ประกอบอาหารคาว (เป็นผัก) แล้ว ฟักทองยังใช้กินแทนข้าวเมื่อยามจำเป็นได้อีกด้วย เพราะมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมาก โดยเฉพาะสีเหลืองซึ่งเป็นแคโรทีน (Carotene) หรือ โปรวิตามินเอ (Pro Vitamin A) จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้เมื่อถูกย่อย ฟักทองที่ใช้กินแทนข้าวนี้อาจจะใช้ต้ม เผา ปิ้ง หรือหลาม (ใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วเผา) ก็ได้ อาจกินเปล่าๆ หรือจิ้มเกลือ จิ้มน้ำตาล หรือจิ้มมะพร้าวขูดก็แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน

ฟักทองยังใช้ทำขนมหวานได้หลายตำรับ ที่รู้จักกันดีก็คือ ฟักทองสังขยา แกงบวดฟักทอง หรือฟักทองกวน เป็นต้น

                                         *********************************

สมุนไพร

แพทย์แผนโบราณของไทยใช้เนื้อในเมล็ดฟักทองดิบเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน และใช้รากฟักทองเป็นยาบำรุงกำลัง ในต่างประเทศก็ใช้เมล็ดฟักทองถ่ายพยาธิไส้เดือนเช่นเดียวกัน

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ส่วนสีเหลืองของเนื้อในผลฟักทองนั้น ใช้เป็นสีผสมอาหารต่างๆ เช่น เส้นบะหมี่เหลืองที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและเนื้อฟักทอง ขนมบัวลอยก็ใช้เนื้อฟักทองผสมแป้งให้มีสีเหลืองเป็นต้น

ในบางท้องถิ่นใช้ผลฟักทองเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เพราะปลูกง่ายและมีคุณค่าทางอาหารสูง
ฟักทองยังใช้ประดับประดาหรือประกอบพิธีกรรมอีกด้วย เช่น ฟักทองบางพันธุ์ มีทรงผลแปลกๆ และสีสวยงามใช้เป็นสิ่งของประดับสถานที่ได้ บางพันธุ์มีขนาดเล็กและสวยงาม ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น ฟักทองสีเงิน และฟักทองสีทอง ขนาดวางในฝ่ามือได้ ซึ่งมีขายทั่วไปในกรุงเทพฯ  ขณะนี้ ฟักทองบางพันธุ์ใช้เจาะเป็นรูปหน้าคนที่เรียกว่า Jack-O-Lantern แล้วนำโคมไฟไปใส่ไว้ในผล ใช้ในเทศกาลวันฮัลโลวีน (Halloween)

พูดถึงพิธีกรรมแล้วก็ขอกล่าวถึงความเชื่อของคนไทยในอดีตที่เรียกว่า “ธรณีสาร” คือสิ่งที่เป็นอัปมงคล พึงหลีกเลี่ยงและแก้ไข มีอยู่ข้อหนึ่งกล่าวว่า “ฟักทองขึ้นร้าน กลายเป็นนาคี” คือหากฟักทองเลื้อยขึ้นร้านแล้ว มีลักษณะคล้ายพญานาค ถือว่าเป็นธรณีสาร แสดงว่าปกติคนไทยปลูกฟักทองกับพื้นดินไม่ขึ้นร้านเหมือนบวบหรือมะระ

 

                                   ************************************************

 

 

ข้อมูลสื่อ

209-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 209
กันยายน 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร