• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะเจ็บป่วย ในระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะเจ็บป่วย ในระหว่างตั้งครรภ์
 

การใช้ยารักษาโรค
_____________________________________________________________________

คำถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาชนิดใดปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ และยาชนิดใดไม่ควรใช้ในขณะตั้งครรภ์?

ยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่งให้หรือยาที่ซื้อกินเอง ล้วนแล้วแต่ไม่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้น การเลือกใช้ยาในขณะตั้งครรภ์จึงมักจะเลือกใช้ในกรณีจำเป็นจริงๆ และมีผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อทารกในครรภ์น้อยที่สุด ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้ยาคุณต้องมั่นใจว่าเป็นยาที่ให้ความปลอดภัยสูงและแพทย์ผู้สั่งยาทราบว่าคุณกำลังตั้งครรภ์

ยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์ จะจัดแบ่งไว้เป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความปลอดภัยสูง กลุ่มที่อาจจะมีผลต่อทารกในครรภ์ และกลุ่มที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งยาบางชนิดจะมีคำเตือนที่ชัดเจนว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้ยาคุณควรพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้

๑. ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางทารก

๒. ยานั้นควรเป็นยาที่มีใบอนุญาตจากองค์การควบคุมอาหารและยา

และถ้าคุณมั่นใจว่ายานั้นปลอดภัย ควรกินยานั้นจนครบขนาดและตามคำสั่งแพทย์ ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะกลัวฤทธิ์ข้างเคียงของยา ไม่กินให้เต็มขนาดจนทำให้การรักษาไม่ครบถ้วน แทนที่การรักษาจะได้ผล โรคก็จะก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ คุณอาจจะเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยในการใช้ยา โดย

๑. ปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาถึงปริมาณยาต่ำที่สุดของการรักษาและการใช้ยาในเวลาสั้น

๒. อ่านฉลากกำกับยาให้ละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น เช่น การกินยาก่อนอาหารในช่วงที่ท้องว่าง หรือควรกินยาพร้อมอาหาร ถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกร

๓. พยายามศึกษาวิธีรักษาแบบอื่นๆที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้  แทนการกินยาแก้แพ้เป็นประจำทุกวัน

๔. กินยาตามเวลา และตามวิธีที่ควรจะเป็น เช่น เคี้ยวก่อนกลืน หรือไม่ควรกินยาพร้อมน้ำผลไม้

เป็นต้น
 

สมุนไพร
_____________________________________________________________________

คำถาม : ฉันคิดว่าไม่ต้องการใช้ยารักษาโรคในขณะตั้งครรภ์ และจะใช้สมุนไพรแทน คุณว่าเป็นผลดีกว่าไหมคะ?

สมุนไพร ก็คือ ยานั่นเอง และบางชนิดจะออกฤทธิ์แรงกว่ายาที่ใช้รักษาโรค ตัวอย่างเช่น สมุนไพรใช้ทำแท้ง สมุนไพรบางชนิดจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเดิน อาเจียน ใจสั่น เป็นต้น สมุนไพรเป็นยาที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณได้แน่ หรือรุนแรงในบางครั้ง นอกจากนี้ การใช้อาจจะมีการปนเปื้อนของสารอื่นๆ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ การใช้ยาสมุนไพรจึงควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน

สิ่งที่พึงปฏิบัติเพื่อมีสุขภาพที่ดี
การเจ็บป่วยในขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่อันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตจองมารดาและทารก การใช้ยาบางอย่างก็อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ วิธีที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงภาวะความเจ็บป่วยโดยการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโรค ตามแนวทางที่พึงปฏิบัติ ดังนี้

๑. ก่อนการตั้งครรภ์ควรได้รับภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็นให้ครบถ้วน โดยเฉพาะหัดเยอรมัน ถ้าไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนมาก่อนควรจะได้รับการตรวจสอบเลือดว่ามีภูมิต้านทานโรคนี้บ้างหรือไม่ และถ้าไม่มีคุณควรจะระวังตนเองที่จะไม่สัมผัสโรค

๒. เสริมสร้างความต้านทานโรคของร่างกาย ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้มากขึ้น ออกกำลังกายตามสมควร

๓. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดผู้ที่เป็นหวัด หรือสัมผัสตัวผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด ไม่กินอาหารร่วมกับผู้ที่มีอาการไอ เจ็บคอ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่กลับจากนอกบ้านและก่อนกินอาหาร พยายามไม่ใช้มือจับต้องใบหน้า ก่อนที่จะล้างให้สะอาด เป็นต้น

๔. ถ้าสมาชิกในบ้านเจ็บป่วย เช่น บุตรหลาน สามี ควรแยกห้องนอนชั่วคราว และให้ผู้อื่นดูแลผู้ป่วย ไม่ควรกินอาหารร่วมจาน ชาม หรือ ดื่มน้ำร่วมแก้วกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วย ควรจะระวังล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่จับต้องผู้ป่วย อย่าให้ผู้ป่วยไอ จามรดหน้า และงดเว้นการกอดจูบ สัมผัสโดยตรง

๕. ในกรณีที่บุตรของคุณหรือเด็กในบ้าน มีไข้ออกผื่น ควรให้แพทย์ตรวจดูโดยเร็วและควรระวังไม่สัมผัสผู้ป่วยเหล่านี้โดยตรง

๖. หลีกเลี่ยงภาวะอาหารเป็นพิษ ด้วยการกินอาหารที่เตรียมใหม่ ๆ และสะอาด ไม่ควรกินอาหารที่ไม่แน่ใจว่าสะอาดเพียงพอ หรือหมดอายุ เก็บรักษาอาหารในตู้เย็นให้ถูกวิธี เลือกภาชนะที่ใส่อย่างเหมาะสม ปรุงอาหารและเตรียมอาหารอย่างระมัดระวังเรื่องความสะอาด

๗. ดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้างให้แข็งแรง และรักษาความสะอาด ให้วัคซีนตามเวลา

๘. ไม่ใช่สิ่งของเครื่องใช้ปะปนกับผู้อื่น

ข้อมูลสื่อ

220-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
ครอบครัว
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล