• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “เหน็บชา”

เรื่อง “เหน็บชา”


พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า “เหน็บชา” ว่าเป็นคำนาม หมายถึง ชื่อโรคชนิดหนึ่ง ทำให้รู้สึกชาตามเนื้อตัว และให้ความหมายของคำว่า “ชา” ว่าเป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง อาการที่อวัยวะเป็นเหน็บ เช่น มือชา เท้าชา จะเห็นว่า คำหลายคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะอยู่ในลักษณะเช่นนี้ จนทำให้ไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำนั้น

ในที่นี้ คำว่า “เหน็บชา” จะหมายถึงอาการเหน็บชาเป็นสำคัญ ถ้าใช้หมายถึงโรค จะใช้คำว่า “โรคเหน็บชา” ในทีนี้ อาการ “ชา” หมายถึงอาการที่อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่สามารถรับความรู้สึกได้ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับความรู้สึกที่ได้จากการสัมผัส เช่น รู้สึกว่ามีอะไรมาแตะหรือมาสัมผัส สิ่งที่มาสัมผัสนั้นร้อนหรือเย็น แหลมหรือทู่ เรียบหรือขรุขระหรืออื่นๆ ถ้าลิ้นชา อาจหมายความว่าไม่รู้รสด้วย เป็นต้น

ถ้าความรู้สึกต่อการสัมผัสอย่างหนึ่งอย่างใดเสียไป เรียกว่าชาต่อความรู้สึกนั้น เช่น ผิวหนังชาต่อความร้อนเย็น ชาต่อความรู้สึกสัมผัส ชาต่อความรู้สึกเจ็บ หรือชาจนไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นต้น ส่วนอาการ “เหน็บ” หมายถึง อาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับอาการที่นั่งทับขาตนเองเป็นเวลานานๆ เช่น เวลานั่งพับเพียบนานๆ ชาและเท้าที่ถูกพับและถูกทับนานๆ จะเกิดการเจ็บปวดและชา จนบางครั้งอาจจะอ่อนแรงจนเหยียดไม่ออก และลุกขึ้นยืนไม่ได้ ต้องใช้มือช่วย เป็นต้น

อาการเหน็บและชา อาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ เป็นอาการเหน็บหรืออาการชา หรืออาจเกิดร่วมกัน เป็นอาการเหน็บชาก็ได้ ส่วนอาการ “ซู่ หรือ “ซู่ซ่า” ที่ปรากฏเมื่อเวลาขนลุกนั้น ในที่นี้ไม่ถือว่าเป็นอาการเหน็บชา นอกจากว่าจะมีอาการเหน็บชาเกิดร่วมด้วย ดังเช่นในกรณีที่นั่งพับเพียบนานๆ แล้วเหยียดขาออก อาการ “ซุบซู่” ที่เป็นอาการหดห่อตัวอย่างคนกำลังจับไข้และรู้สึกหนาว ในที่นี้ก็ไม่ถือว่าเป็นอาการเหน็บชาเช่นเดียวกัน นอกจากว่าจะมีอาการเหน็บชาเกิดร่วมด้วย

อาการ “ซึม” หรืออาการเหงาหงอย ไม่เบิกบาน และอาการ “ซึมกะทือ” หรืออาการซึมเซา ง่วงเหงา ก็ไม่ถือว่าเป็นอาการเหน็บชาเช่นเดียวกัน อาการ “เป็นเหน็บไปทั้งตัว” หรือปวดเมื่อยทั่วตัว หรือเข็ดตัวก็ไม่ถือว่าเป็นอาการเหน็บชาเช่นเดียวกัน


คนไข้รายที่ ๑ หญิงไทยอายุประมาณ ๕๐ ปี เดินเข้ามาในห้องตรวจ

หญิง : “สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันเป็นอะไรไม่รู้ มันชาซู่ทั้งตัวเป็นพักๆ เป็นมา ๒-๓ เดือนแล้วค่ะ”

หมอ : “สวัสดีครับ แล้วอาการเป็นมากขึ้น น้อยลง หรือคงเดิมครับในระยะ ๒-๓ เดือนนี้”

หญิง : “รู้สึกว่าเดือนนี้จะเป็นมากขึ้นค่ะ”

หมอ : “แล้วคุณมีอาการอะไรอื่นอีกมั้ย”

หญิง : “รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย หายใจไม่อิ่ม และนอนไม่ค่อยหลับหรือหลับไม่สนิทค่ะ”

หมอ : “อาการทั้งหมดนี่เป็นพร้อมกันหรือครับ”

หญิง : ไม่ค่ะ บางทีก็เป็นหลายๆ อาการ บางทีก็เป็นอาการเดียว อย่างช่วงนี้มีอาการชาซู่ทั้งตัวค่อนนข้างมาก แล้วบางครั้งก็ตามด้วยอาการร้อนวูบขึ้นมาด้วยค่ะ”

หมอ : “คุณอ้วนขึ้นหรือผอมลง กินอาหารได้ตามปกติมั้ย อุจจาระปัสสาวะและประจำเดือนเป็นอย่างไร”

หญิง : “รู้สึกอ้วนขึ้นนิดหน่อยค่ะ เพราะพอรู้สึกอ่อนเพลีย ก็กลัวว่าอาจเป็นเพราะได้อาหารไม่พอจึงกินเพิ่มขึ้นค่ะ ส่วนอุจจาระปัสสาวะก็ปกติดี แต่ประจำเดือนคงกำลังจะหมดกระมังคะ เพราะไม่มา ๒ เดือนแล้ว และก่อนครั้งสุดท้ายมันก็มาๆหยุดๆ มา ๖ เดือนแล้ว”

หมอ : “ครับ ถ้าอย่างนั้น ขอตรวจร่างกายคุณก่อน”

หมอตรวจร่างกายของคนไข้อย่างคร่าวๆ ไม่พบความผิดปกติใดๆ เพราะประวัติของคนไข้คนนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว

หมอ : “หมอตรวจร่างกายคุณแล้ว ไม่พบความผิดปกติใดๆ อาการของคุณเข้าได้กับภาวะประจำเดือนหมดหรือกำลังจะหมด ซึ่งไม่มีอะไรที่จะต้องตกใจหรือกังวล ยิ่งตกใจมากหรือกังวลมาก ยิ่งมีอาการมากและบ่อยขึ้น ถ้ากังวลน้อยอาการก็น้อยลง คุณควรออกกำลังให้มากขึ้น พบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงให้มากขึ้น กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กๆทอดกรอบ (กินทั้งก้าง) ปลาป่น กุ้งแห้ง เป็นต้น ถ้าคุณชอบนม และดื่มนมได้โดยไม่ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องอืด คุณก็อาจดื่มนมได้ แต่นมจะให้แคลเซียมน้อยกว่าปลาทอดกรอบ ปลาป่น และกุ้งแห้งหลายเท่าในปริมาณที่เท่ากัน”

หญิง : “แล้วดิฉันต้องกินยาฮอร์โมนมั้ยคะ”

หมอ : “ถ้าคุณมีอาการมาก จนไม่ดีขึ้นด้วยการออกกำลัง การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และการใช้ยาคลายกังวลซึ่งจะช่วยให้คุณหลับได้สนิทแล้ว คุณคงต้องใช้ยาฮอร์โมนช่วย อย่างไรก็ตาม หมอบางคนอาจจะแนะนำให้ใช้ยาฮอร์โมนเพื่อป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม และอาการอื่นๆ แต่การใช้ยาฮอร์โมนจะทำให้คุณต้องมาตรวจหามะเร็งของมดลูก ของเต้านมและอื่นๆ บ่อยขึ้น เพราะยาฮอร์โมนประเภทนี้จะทำให้เป็นมะเร็งพวกนี้ได้ง่ายขึ้น คุณอยากใช้ยาฮอร์โมนหรือ”

หญิง : “ดิฉันขอลองปฏิบัติตนตามที่หมอแนะนำก่อน ยังไม่อยากใช้ยาฮอร์โมนแต่อยากขอยาแก้อาการหงุดหงิดง่าย และอาการนอนไม่ค่อยหลับด้วยค่ะ”


อาการชาซู่ตามตัวของคนไข้รายนี้ เป็นอาการ “ซู่” หรือ “ซู่ซ่า” มากกว่าจะเป็นอาการ “ชา” เมื่อร่วมกับอาการอื่น ๆ รวมทั้งอาการร้อนวูบ (hot flush) ที่เกิดในหญิงที่ใกล้หมดประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนแล้ว ทำให้การวินิจฉัยโรค หรือภาวะประจำเดือนหมด หรือกำลังจะหมด (menopausal syndrome) เป็นไปได้ง่ายโดยอาศัยประวัติเท่านั้น ถ้าร่วมด้วยการตรวจร่างกายที่พบว่าร่างกายปกติ การวินิจฉัยภาวะประจำเดือนหมด ก็เป็นที่แน่นอน และสามารถรักษาได้ง่ายๆ ดังที่อธิบายไว้ในตัวอย่างคนไข้แล้ว

ข้อมูลสื่อ

219-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540