• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามเจ็บฉุกเฉิน (ต่อ)

" เจ็บ " ในที่นี้หมายถึง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุภยันตราย แมลงสัตว์กัดต่อย และการได้รับสารพิษ รวมทั้งการแพ้ยา และการเป็นพิษจากยาด้วย
"ฉุกเฉิน " ในที่นี้หมายถึง เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนและจะต้องรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือพิการ หรือต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
"การช่วยตนเองและช่วยกันเอง " ในที่นี้หมายถึง คนที่เกิดอาการเจ็บฉุกเฉินรู้จักวิธีช่วยตนเอง เพื่อกำจัดหรือบรรเทาอาการเจ็บฉุกเฉินนั้น  ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะ และกำลังวังชาพอที่จะช่วยตนเองได้ หรือถ้าไม่สามารถช่วยตนเองได้  คนที่อยู่ใกล้ๆ หรือพบเห็นการเจ็บฉุกเฉินนั้น รู้จักช่วยผู้ที่เจ็บฉุกเฉิน ตามสมควร เพื่อช่วยชีวิตหรือลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้
ฉ. แผลถูกกัด (คน, หมา, แมว, สัตว์ป่า)
(๑) ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้ง
(๒) ทำแผลแบบแผลสดทั่วไป (ข้อ ก. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๕)
(๓) ไปโรงพยาบาลเพื่อฉีด ยากันบาดทะยัก และ/หรือกันโรค กลัวน้ำ และกินยาปฏิชีวนะ
ช. แผลถูกตะขาบ แมงมุม แมงป่องกัด
(๑) ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่
(๒) ทาแผลด้วยแอมโมเนีย ครีมเพร็ดนิโซโลน หรือครีมไตรแอมซิโนโลน
(๓) ยกส่วนที่ถูกกัดให้สูง และใช้น้ำแข็งประคบ
(๔) ถ้าปวดมาก กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
(๕) ถ้ามีอาการอื่น (เป็นพิษ) รีบส่งโรงพยาบาล พร้อมกับ ซากสัตว์ที่กัด ถ้าจับได้
ซ. แผลถูกแมลงต่อย (ผึ้ง ต่อ แตน หมาร่า มดตะนอย)
(๑) ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่เบาๆ
(๒) ใช้หลอดดูดนมกล่องที่เล็กและแข็ง หรือปลายด้ามปากกาลูกลื่น หรือไส้ปากกาลูกลื่นที่มีรูตรงกลางครอบจุดที่ถูกกัด แล้วกดลงเพื่อให้เหล็กในโผล่ออกมา แล้วจึงดึงเหล็กในออก
(๓) ผ่าหัวหอมแดง เอาด้านที่ผ่าถูบริเวณที่ถูกต่อย หรือบีบมะนาวใส่บริเวณที่ถูกต่อย แล้วใช้ถ่านไม้วางทับ
(๔) ทาแผลด้วยแอมโมเนีย ครีมเพร็ดนิโซโลน หรือครีมไตรแอมซิโนโลน
(๕) ยกส่วนที่ถูกต่อยให้สูง และใช้น้ำแข็งประคบ
(๖) ถ้าปวดมากกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
(๗) ถ้ามีอาการอื่น (เป็นพิษ) รีบส่งโรงพยาบาล พร้อมกับซากสัตว์ที่ต่อย ถ้าจับได้
ญ. แผลถูกเงี่ยงปลาทะเล (ปลากระเบน ปลาดุก ปลากด ฯลฯ)
(๑) เอาเงี่ยงที่หักคาอยู่ออก ถ้ามี
(๒) ใช้น้ำและสบู่ฟอกถูไปมา เพื่อขจัดพิษและสิ่งสกปรก
(๓) แช่น้ำร้อนที่สุดที่จะทนได้ เพื่อบรรเทาอาการปวด (ห้าม ใช้น้ำแข็ง)
(๔) ทำแผลแบบแผลสดทั่วไป (ดูข้อ ก. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๕)
(๕) ถ้าปวดมาก ให้ยาแก้ปวด
(๖) ถ้ามีอาการพิษอื่นๆ รีบ ส่งโรงพยาบาล
ด. แผลถูกแมงกะพรุนไฟ หอยเต้าปูน และปะการังพิษ
(๑) ใช้น้ำทะเล หรือน้ำเกลือราดบริเวณนั้นมากๆ ห้ามใช้น้ำจืด ห้ามถูหรือขยี้ เพราะจะทำให้ถุงพิษแตก
(๒) ใช้แป้งหรือผงทรายโรย บริเวณนั้น แล้วใช้มีดโกน หรือมีดคมๆ ขูดเอาถุงพิษที่หลงเหลืออยู่ออก
(๓) ใช้ใบและรากผักบุ้งทะเล ตำหรือขยี้จนแหลกพอก หรือใช้น้ำส้มสายชู เหล้า (แอลกอฮอล์ ๔๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์) แอมโมเนียเจือจาง (น้ำปัสสาวะ) ราด แล้วทาด้วยครีมเพร็ดนิโซโลน หรือครีมไตรแอมซิโนโลน
(๔) กินยาแก้ปวด ถ้าปวดมาก
(๕) ถ้ามีอาการมาก หรือไม่ดีขึ้น ส่งโรงพยาบาล
ต. แผลถูกหอยเม่นตำ
(๑) พยายามดึงเอาหนามออกให้หมด ถ้าเอาออกไม่หมดให้ใช้ก้อนหินหรือไม้ทุบบริเวณที่หนามตำอยู่ เพื่อให้หนามแตกละเอียด ร่างกายจะได้ทำลายหนามนั้นได้เร็วขึ้น จะได้ปวดน้อยลงและหาย ปวดเร็วขึ้น
(๒) ถ้าปวด กินยาแก้ปวด
ถ. แผลถูกปลิงหรือทากกัด
(๑) ถ้าปลิงหรือทากยังกัดติดอยู่ ห้ามดึงตัวทากหรือปลิงออก เพราะฟันหรือเขี้ยวของมันอาจหักและฝังติดอยู่ข้างใน จะทำให้แผลหายช้าและเจ็บนาน ให้ใช้ไฟ เช่น ไฟบุหรี่ ธูปติดไฟ ไม้ขีดติดไฟไปจี้ตัวมัน หรือใช้เกลือป่นโรยลงบนตัวมัน หรือใช้น้ำส้มสายชู เหล้า หรือน้ำมันราดตัวมัน มันจะปล่อยตัวจากจุดที่กัด อยู่แล้วจึงทำแผล
(๒) แผลที่ปลิงหรือทากกัด ให้ทำแผลเหมือนแผลสดทั่วไป (ดูข้อ ก. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๕)
ท. แผลงูกัด
(๑) ถ้าเห็น ให้สังเกตลักษณะของงูที่กัด และถ้าตีงูได้ให้เก็บซากงูไว้
(๒) ดูลักษณะแผล ถ้าแผลเป็นรอยถลอก หรือเป็นแผลเล็กๆ เรียงกันเหมือนรอยปากจะไม่ใช่งูพิษ แต่ถ้าเป็นรอยคล้ายเข็มแทง ลึก ๑-๒ รู จะเป็นงูพิษ (ดูรูป)

ถ้าไม่ใช่งูพิษ ให้ทำแผลแบบแผลสดทั่วไป (ดูข้อ ก. ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๕)
ถ้าเป็นงูพิษ หรือสงสัยให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
(๓) ให้ผู้ที่ถูกกัดอยู่นิ่งๆ (นั่งพัก นอนพัก) ทำใจให้สบาย ไม่ตื่นเต้นตกใจ ให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่ต่ำ จะทำให้พิษงูซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง และน้อยลง
(๔) ใช้เชือกมัดรอบแขนหรือขา เหนือจุดที่ถูกกัดประมาณ ๑-๒ ฝ่ามือ มัดพอให้ปลายมือหรือปลายเท้าเป็นสีแดงเข้ม (สีม่วงแดง) และคลำชีพจรที่ข้อมือหรือหลังเท้าได้
ห้ามขันชะเนาะ หรือมัดแน่นจนมือ/เท้าขาวซีด หรือคลำชีพจรที่ข้อมือหรือหลังเท้าไม่ได้
หลังมัดนาน ๑๐-๑๕ นาที ควรคลายเชือกไปมัดในที่ใหม่สูงจากที่เดิมประมาณ ๑ ฝ่ามือ
(๕) ห้ามใช้มีดกรีดปากแผล ห้ามบีบเค้นบริเวณแผล เพราะจะทำให้แผลช้ำ ติดเชื้อ สกปรก และทำให้พิษกระจายเร็วขึ้น
(๖) ห้ามดื่มเหล้า ยาดองเหล้า และยากล่อมประสาท
(๗) รีบพาไปโรงพยาบาล
(๘) ถ้าหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจ

(ยังมีต่อ)


 

ข้อมูลสื่อ

285-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 285
มกราคม 2546
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์