• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขนมเพื่อสุขภาพเด็กไทย

ขนมและอาหารว่างที่วางจำหน่ายในปัจจุบันหลายรายการ
มีสารอาหารบางประเภทเกินความจำเป็น

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญยิ่งทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ สำหรับประเทศไทย จากที่เคยมีปัญหาเด็กขาดสารอาหารหรือภาวะทุพ-โภชนาการ สภาพการณ์ในวันนี้กลับแปรเปลี่ยน เมื่อเด็กไทยเริ่มประสบปัญหาภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กไทยในปัจจุบันกินอาหารเกินกว่าพลังงานที่จำเป็นต้องนำไปใช้ 

วัยเด็กเป็นช่วงวัยสำคัญที่ต้องใช้พลังงานสูง  ในการเจริญเติบโต ขนมและอาหารว่างจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเด็ก ถึงกระนั้นเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในเรื่องการใช้เงินเพื่อเป็นค่าขนมของเด็ก พบว่า เด็กใช้เงินซื้อขนมถึงประมาณปีละ ๑๖๑,๕๘๐ ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับร้อยละ ๑๕.๗ ของงบประมาณแผ่นดิน

นอกจากตัวเลขเงินอันมหาศาลแล้ว จำนวนพลังงานที่เด็กได้รับจากการกินขนมและอาหารว่าง ยังเท่ากับ ๑ ใน ๔ ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายของเด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากอาหารมื้อหลักลดน้อยลง

การจะป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงจะต้องมีการควบคุมพฤติกรรมการกินของเด็ก หากยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายขนม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  จึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการผลิตและจำหน่ายขนมสำหรับเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กไทยได้กินขนมที่มีคุณภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ดังต่อไปนี้

๑. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์
ก. ปรับปรุงสูตรขนมปัจจุบัน

ขนมและอาหารว่างที่วางจำหน่ายในปัจจุบันหลาย รายการ มีสารอาหารบางประเภทเกินความจำเป็น เพื่อให้มีรสชาติสอดคล้องกับรสนิยมและความต้องการของตลาด การปรับปรุงสูตรเพียงเล็กน้อย ลดสารอาหาร ที่ไม่จำเป็นบางประเภทลง เช่น เกลือ (โซเดียม) ก็จะสามารถทำให้ขนมและอาหารว่างดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อแนะนำได้ กรณีขนมไทยควรส่งเสริมการพัฒนาสูตรขนมไทยที่มีส่วนผสมที่ให้รสหวานน้อยลง
ข. การสร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือก
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ทดแทนขนมและอาหารว่างที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพ แม้ในระยะต้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค แต่น่าจะสามารถเปิดตลาดสินค้าเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง และคาดว่าน่าจะสามารถขยายโอกาสทาง การตลาดได้ในอนาคต หากผู้บริโภคได้รับความรู้และข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้โดยพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีสารอาหารต่างๆ ในปริมาณที่พอเหมาะสอดคล้องกับคำแนะนำ โดยมุ่งที่จะผลิตขนมและอาหารที่ให้สารอาหารครบถ้วนแต่ให้พลังงานต่ำ  

๒. ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์
ปัจจุบันผู้ผลิตพยายามส่งเสริมการขายด้วยการเพิ่มปริมาณและขนาดของบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการกินของเด็กซึ่งยังไม่สามารถควบคุมการบริโภคของตนได้  ต้องอาศัยผู้ปกครองที่เอาใจใส่จัดแบ่งขนมและอาหารว่างให้แก่เด็กในปริมาณ ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สารอาหารจากขนมและอาหารว่างในปริมาณที่พอเหมาะใน ๑ วัน
ผู้ผลิตอาจสนับสนุนให้เด็กสามารถกินขนมและอาหารว่างในปริมาณที่เหมาะสมได้โดย
ก. บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ควรมีขนาดบรรจุเพียงพอสำหรับการกิน ๑ คนให้หมดในครั้งเดียว (๑ หน่วยบริโภค) โดยให้พลังงานไม่เกิน ๑๕๐ กิโลแคลอรี
ข. บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ ภายในแยกเก็บ เป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับการกิน  ๑ คนให้หมดในครั้งเดียวเช่นเดียวกัน  
การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากจะสามารถคงความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์แล้ว ผลิตภัณฑ์บางประเภทยังสามารถใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก เป็นอาหารว่างสำหรับกินคู่กับกาแฟในกลุ่มผู้ใหญ่ได้อีกด้วย  
    
๓. ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการที่เหมาะสม
เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับข้อมูลสุขภาพด้านอาหารที่เหมาะสม ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้แก่ประชาชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหาร แม้ว่าในปัจจุบัน การให้ข้อมูลโภชนาการจะไม่ถือเป็นมาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม แต่หากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเห็นความสำคัญของฉลากโภชนาการ ก็จะสามารถช่วยให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยทางหนึ่ง 
แต่เนื่องจากข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ การปรับเปลี่ยน หรือการนำเสนอรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมในด้านความรู้ และเป็นแนวทางในการเลือกผลิตภัณฑ์ขนมหรืออาหารว่างที่เหมาะสมได้

 

ข้อมูลสื่อ

322-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ