• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แคฝรั่ง : ไม้ดอกสารพัดประโยชน์จากแดนไกล

                                                          

ต้นฉบับต้นไม้ใบหญ้าตอนนี้ เขียนในวันวาเลนไทน์ (๑๔กุมภาพันธ์) ซึ่งน่าจะยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) แต่อากาศที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี กำลังร้อนอบอ้าว หลังจากที่ฝนหลงฤดูตกลงมาในวันมาฆบูชา (๑๓ กุมภาพันธ์) ค่อนข้างมาก อาจนับได้ว่าเป็น "ฝนชะช่อมะม่วง" แต่ก็เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูร้อนด้วย

     ต้นไม้หลายชนิดในบริเวณที่ดินของมูลนิธิเริ่มผลิดอกเบ่งบาน แข่งกับช่อมะม่วงและช่อสะเดา บางต้นถูกทอดทิ้งอยู่เนิ่นนานโดยไม่มีใครเหลียวแลก็พลอยออกดอกมาอวดกับเขาด้วย ทำให้มองเห็นความงามที่ถูกมองข้ามมาตลอดปีได้ในที่สุด
     ไม้ดอกที่ผู้เขียนเลือกมานำเสนอในฉบับนี้ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาต้นไม้ที่ถูกปลูกไว้บริเวณรั้วรอบที่ดิน และไม่ได้รับความสนใจเลยตลอดปีที่ผ่านมา จนกระทั่งออกดอกงดงามสะพรั่งไปทั้งต้น จึงทำให้ผู้ผ่านไปมาต้องเหลียวมองทุกครั้ง ซึ่งหลายคนลืมชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ไปแล้วก็มี นั่นก็คือต้นแคฝรั่ง
    
แคฝรั่ง: อาคันตุกะจากอีกซีกโลก
     แคฝรั่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gliricidia  Sepium  อยู่ในวงศ์ PAPILIONOIDEAE (LEGUMINOSAE) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง สูงราว ๑๐เมตร (๕-๑๕เมตร) ลำต้นค่อนข้างตรง กิ่งก้านสาขาน้อย เปลือกหุ้มลำต้นสีเทาอ่อน (ขี้เถ้า) เมื่อต้นแก่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด
     ใบ เป็นใบรวมแบบขนนก ออกเป็นคู่ย่อยเรียงตัวแบบตรงข้ามกันไปตามก้านใบ มีใบย่อยรวม๑๑-๑๕ใบต่อก้านใบรวม ขนาดใบย่อยกว้าง ๑-๒ เซนติเมตร ยาว ๓-๕ เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบทู่ หน้าใบสีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวนวล มีขนสั้นละเอียดนุ่มปกคลุม ใบอ่อนสีน้ำตาล ขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบจะร่วงหล่น (ผลัดใบ) ช่วงฤดูหนาวเดือนตุลาคม-ธันวาคม
     ดอก ออกเป็นช่อตามโคนก้านใบและตาดอกที่ลำต้น ช่อยาว ๕-๑๒ เซนติเมตร ดอกสีชมพู-ขาว รูปร่างคล้ายผีเสื้อ เช่นเดียวกับดอกถั่วอื่นๆ ออกดอกช่วงผลัดใบแล้วราวเดือนธันวาคม-พฤษภาคม 
     ผล แคฝรั่งเป็นฝักแบน เมื่อแก่เปลือกฝักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล/ดำ โคนและปลายฝักแหลม เมื่อแก่ฝักจะแตกทั้ง ๒ ด้าน มีเมล็ดแบนรูปไข่สีดำ ๓-๘ เมล็ด/ฝัก ฝักแก่ราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
     ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของแคฝรั่งอยู่ในเขตร้อนทวีปอเมริกา บริเวณประเทศเม็กซิโก โคลัมเบีย เวเนซุเอลา ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นไม้ประดับประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว จึงไม่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ เพราะเข้ามาในประเทศไทยหลังจากนั้น
     ชื่อที่เรียกในประเทศไทยคือแคฝรั่ง ส่วนในภาษาอังกฤษเรียก Mother of Cocoa, Quick Stickและ Madre de Cocoaในภาษาเสปน
  
ประโยชน์ของแคฝรั่ง
     เนื่องจากแคฝรั่งมีดอกเป็นช่อเต็มต้นสีชมพู-ขาว งดงามสะดุดตาจึงถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับในตอนแรก ต่อมามีผู้พบคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ของแคฝรั่งมากขึ้น จึงถูกนำไปปลูกในวัตถุประสงค์อื่นๆ ด้วย
     ในฐานะไม้ประดับ แคฝรั่งออกดอกหลังผลัดใบจึงแลเห็นดอกสะพรั่งเต็มต้นงดงามเป็นพิเศษ ทั้งยังปลูกง่ายในดินทุกชนิด ทนทานต่อโรคแมลงและดินฟ้าอากาศจึงนำไปปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไป ไม่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษเลย
     ในบริเวณถิ่นกำเนิดดั้งเดิม แคฝรั่งถูกนำไปปลูกเป็นพี่เลี้ยงต้นโกโก้ดังชื่อในภาษาอังกฤษ (Mother of cocoa) และภาษาเสปน (Madre of Cocoa) นั่นเอง  เนื่องจากแคฝรั่งเป็นพืชตระกูลถั่วสามารถเปลี่ยนอากาศเป็นปุ๋ยไนโตรเจน (ไนเทรต) ให้ดินได้ จึงทำให้พืชที่ปลูกร่วมด้วยเจริญเติบโต นอกจากนั้นยังช่วยบังแดดบังลมรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันโรคและแมลงฯลฯ เช่นเดียวกับทองหลางที่ปลูกร่วมกับทุเรียนนั่นเอง นอกจากนั้นใบของแคฝรั่งยังใช้เป็นปุ๋ยพืชสดและอาหารสัตว์ได้ดี เมื่อตัดต้น-กิ่งของแคฝรั่งออกจะแตกกิ่งก้านใหม่ได้ดีเช่นเดียวกัน ต่างจากพืชบางชนิด เช่น กระถิน ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน แต่แตกกิ่งก้านได้ไม่ดีเมื่อถูกตัดฟัน
     ดอกของแคฝรั่งนอกจากจะงดงามแล้ว ยังใช้กินเป็นผักได้เช่นเดียวกับดอกแคบ้าน นอกจากนั้นยังมีน้ำหวานในดอกที่ใช้เลี้ยงผึ้งได้ น้ำผึ้งปริมาณมากและคุณภาพดีมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
     งานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของแคฝรั่งพบว่า ใบ ฝัก เมล็ด และรากมีสารที่เป็นพิษต่อหนู แต่ไม่เป็นพิษต่อสัตว์อื่น เช่น วัว ควาย  นอกจากนั้นยังใช้ก้าน ใบ และเปลือกเป็นยาฆ่าแมลงได้ด้วย
     แคฝรั่งนอกจากปลูกง่ายโตเร็ว แข็งแรงทนทานแล้วยังขยายพันธุ์ได้ง่ายอีกด้วย ทั้งการเพาะเมล็ดและตัดกิ่งปักชำ
     จากคุณประโยชน์ด้านต่างๆ ของแคฝรั่งเท่าที่ทราบในปัจจุบัน เช่น ไม้ประดับ อาหารคน (ผัก) อาหารสัตว์ พืชพี่เลี้ยง บำรุงดิน ปุ๋ยพืชสด ฆ่าแมลง กำจัดหนู ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแคฝรั่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์จริงๆ แม้แคฝรั่งจะเดินทางมาจากแดนไกลและเพิ่งมาถึงเมืองไทยได้ไม่นานนัก แต่สามารถปรับตัวให้เป็นประโยชน์สำหรับคนไทยได้มากมาย จึงน่าจะยินดีให้แคฝรั่งโอนสัญชาติเป็นไทย และช่วยกันปลูกแคฝรั่งกันมากขึ้นเช่นเดียวกับที่คนไทยยอมรับแคบ้าน ซึ่งเป็นต้นไม้จากต่างแดนเช่นเดียวกัน
     
                                                              

ข้อมูลสื่อ

323-027
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร