• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การะเกด : ความหอมในกลิ่นอายชาตินิยม

"เจ้าการะเกด               เจ้าขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัง
ชักกริชออกแกว่ง        ว่าจะแทงฝรั่ง
เมียห้ามไม่ฟัง              เจ้าการะเกดเอย"
 
        Ž

บทเพลงที่ยกมาข้างบนนี้ มาจากหนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก (ฉบับสอน) ของหอพระสมุดวชิรญาณ รวบรวมโดยหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นบทเพลงกล่อมเด็กที่แพร่หลายอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ ในขณะนั้น

สำหรับบทเพลงที่ยกมานี้ ชื่อ "เจ้าการะเกด" สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายช่วงที่ฝรั่งเข้ามามีบทบาทในพระราชวังหลวง ซึ่งน่าจะเป็นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้แต่งเพลงบทนี้คงสะท้อนความไม่พอใจฝรั่งของคนไทยบางส่วนในสมัยนั้นออกมา ตัวเอกของเรื่อง คือ "เจ้าการะเกด" นั้น คงเป็นชายสูงศักดิ์ มิใช่ชายไทยธรรมดา เพราะมีทั้งกริชและม้าเทศ รวมทั้งจะไปถึงท้ายวังอีกด้วย

จุดหลักของบทเพลงนี้ อยู่ที่เจ้าการะเกด ขี่ม้าเทศแกว่งกริชจะไปแทงฝรั่งที่ท้ายวัง ความตั้งใจจะไปแทงฝรั่งของเจ้าการะเกดนั้นรุนแรง ขนาดเมียห้ามไม่ฟังเลยทีเดียว แสดงว่าฝรั่งในสมัยนั้นคงมีพฤติกรรมสร้างความเจ็บแค้นให้คนไทยบางกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง

วงดนตรีไทยวงหนึ่งของไทยนำชื่อ "การะเกด" มาตั้งเป็นชื่อวง เพื่อแสดงความเป็นชาตินิยม เพราะสมาชิกผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยกลุ่มนี้ มีลักษณะเป็นคนไทยที่ภูมิใจในความเป็นไท (อิสระ) และรู้สึกว่าคนไทยกำลังถูกฝรั่งรุกรานอีกครั้งในรูปแบบใหม่ เช่น ด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมยิ่งขึ้นทุกขณะ

การะเกด : ไม้ไทยดั้งเดิมที่เคยรุ่งเรือง
การะเกดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pan-danus tectorius Blume อยู่ในวงศ์ Pandanaceae เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น รูปทรงคล้ายต้นเตย สูง ๓-๗ เมตร ใบเรียวยาวคล้ายใบสับปะรด ขอบใบเป็นหนามห่างๆ เป็นใบเดี่ยวเรียงวนรอบลำต้นเป็นเกลียว มีกิ่งก้านสาขามาก รากงอกจากลำต้นส่วนบนหยั่งลงถึงพื้นดินช่วยค้ำยันลำต้น ใบสีเขียวยาว ๑-๒ เมตร ปลายใบเรียว แหลม

ดอกเป็นช่อตั้งออกตามกลางยอด กาบหุ้มดอกสีเหลืองนวล หุ้มเกสรอยู่ภายในอย่างมิดชิด กลิ่นหอมเย็น ติดผลมีก้านยาว รูปร่างคล้ายผลสับปะรด ห้อยลงมาข้างต้น เมื่อแก่จัดผลมีผิวสีแดง กินได้ รสคล้ายผลสับปะรด

การะเกดชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ริมลำธาร ลำห้วย เป็นไม้พื้นบ้านชนิดหนึ่งของไทย และเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย คนไทยในอดีตรู้จักคุ้นเคยและนิยมชมชอบการะเกดกันมาก จะเห็นได้จากวรรณคดี ไทยแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ลงมา เช่น ลิลิตพระลอ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างมีบทชมสวนชมป่าบรรยายถึงต้นการะเกดกันทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังนิยมนำมาตั้งชื่อกันอีก ด้วย ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ บรรยายไว้ว่า

"การะเกด : ดอกไม้สีเหลือง กลิ่นหอมดี ดูงาม ต้นเท่าด้ามพาย ใบเป็นหนาม ขึ้นอยู่ที่ดินเปียกริมน้ำ"
แสดงว่าดอกการะเกดเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยสมัยนั้น

ปัจจุบันมีการะเกดอีกชนิดหนึ่งได้รับการ นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ คือการะเกดด่างเป็นการะเกดที่มีใบสีเหลืองเป็นทางยาว แลดูงดงามกว่าการะเกดที่มีใบสีเขียว การะเกดด่างเป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศ ที่มีผู้นำเข้ามาปลูกไม่นานนัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus variegatus Miq. มีใบสวยงาม แต่ไม่มีดอกหอมเหมือน การะเกด (ไทย)
ชื่อการะเกดในภาษาอังกฤษคือ Screw Pine เพราะรูปร่างคล้ายกัน แต่ใบวนเป็นเกลียว ชื่ออื่นๆคือ ลำเจียกหนู (กรุงเทพฯ) เตยด่าง เตยหอม (ภาคกลาง)

ประโยชน์ของการะเกด
ตามตำราสรรพคุณสมุนไพรของไทย ระบุสรรพคุณทางยาของการะเกดเอาไว้ว่า
ดอก : รสสุขุมหอม แก้โรคในอก เจ็บอก บำรุงหัวใจ แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ
ยอด : ใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มหลังคลอดบุตรใหม่ๆ
ดอกของการะเกดมีกลิ่นหอมชื่นใจ ใช้อบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม นำไปเคี่ยวกับน้ำมันใส่ผมในสมัยก่อน
นอกจากดอกที่มีกลิ่นหอมแล้ว การะเกดยังเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะมีรูปทรงเฉพาะตัวที่งามแปลกตา เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ นอกจากนี้ ยังปลูกง่าย ทนทาน อายุยืนยาว หาพันธุ์ได้ไม่ยาก

ใบการะเกดนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้สอยต่างๆ ได้ดี เช่น เสื่อ กระสอบ หมวก กระเป๋า เป็นต้น เป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดี และหาได้ง่าย
และเหนือสิ่งอื่นใด การะเกดเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทเพลงชาตินิยมเก่าแก่ที่สุด

ข้อมูลสื่อ

312-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร