กระดูกพรุนป้องกันได้อย่างไร
คอลัมน์นี้นำเสนอทิศทางการวิจัย และผลงานการวิจัยปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในบ้านเรา เพื่อให้ผู้อ่านรู้เท่าทันปัญหาและนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ทั้งนี้ โดยความเอื้อเฟื้อจาก "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย" (สกว.) และ "มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ"
กระดูกและฟันจะแข็งแรงได้อย่างไร
ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจหรือรู้ว่าจะทำให้กระดูก และฟันแข็งแรงได้อย่างไร เราคงจะต้องมีความรู้พื้นๆก่อน ถ้าเป็นงานวิจัยก็ต้องบอกว่า เป็นงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งได้ทำกันมามากมายแล้ว จนรู้ว่าส่วนประกอบของกระดูกมี อะไรบ้าง และกลไกของร่างกายในการสร้างกระดูกเป็น อย่างไร
ในวิชาสุขศึกษาเราเคยได้ยินว่า กระดูกจะแข็งแรง ต้องกินอาหารที่มีแคลเซียม กระดูกจึงเป็นแหล่งสะสมแคลเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ประมาณร้อยละ ๙๙ ของแคลเซียมทั้งหมดในร่างกายอยู่ที่กระดูกและฟัน ตัวกระดูกนั้นประกอบด้วยโครงสร้าง ๒ ส่วน ส่วนแรกคือ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งเป็นโปรตีน อีก ส่วนหนึ่งคือแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญคือแคลเซียมและฟอสฟอรัสนี่แหละที่ทำให้กระดูกแข็งแรง แคลเซียมที่ไป สะสมและทำให้กระดูกแข็งนี้ ไม่ใช่ว่าจะสะสมไปเรื่อยๆ เนื่องจากกระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา แคลเซียมจึงมีการเคลื่อนที่เข้าและออกจาก กระดูก เพื่อรักษาระดับแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ ปกติ และสร้างกระดูกใหม่ทดแทนกระดูกเก่า ปริมาณ มวลกระดูกจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ดังภาพนี้
ภาพนี้อธิบายได้ว่าช่วงอายุใดจะมีปริมาณมวลกระดูกเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่า ช่วงวัยทารกและวัยหนุ่มสาว อัตราการสร้างกระดูกจะมากกว่าการสลายกระดูก ผลก็คือมวลกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงสุด ช่วงอายุระหว่าง ๒๐-๓๕ ปี ผู้หญิงจะมีมวลกระดูกค่อน ข้างน้อยกว่าของผู้ชายในวัยเดียวกัน แต่การวิจัยในระยะหลังพบว่าปริมาณมวลกระดูกสูงสุดอาจเกิดก่อนอายุ ๒๐ ได้ แปลว่าถ้าร่างกายสามารถสะสมมวลกระดูก ได้มากเท่าใดในช่วงอายุยังน้อยๆ ต่อไปเมื่อมีอายุมากขึ้น แม้ว่าจะมีการสูญเสียมวลกระดูกจากการสลาย ก็ยังมีมวลกระดูกเหลืออยู่มากกว่า และเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน น้อยกว่าผู้ที่มีมวลกระดูกสะสมไว้น้อย
ทีนี้ก็มาถึงคำว่าโรคกระดูกพรุน จะเหมือนหรือต่างจากโรคกระดูกอ่อนหรือเปล่า โรคกระดูกอ่อนเกิดจากการได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอเป็นเวลา นานตั้งแต่วัยเด็กและหนุ่มสาว มีผลต่อการเสริมสร้างกระดูก ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ กระดูกจะบิดงอและหักง่าย แต่ถ้าการขาดแคลเซียมไม่รุนแรงแต่ เรื้อรังมานาน ปริมาณมวลกระดูกจะต่ำกว่าที่ควร ทำให้ ร่างกายต้องดึงแคลเซียมที่สะสมในกระดูกออกมาใช้ มวล กระดูกก็จะค่อยๆ ร่อยหรอบางลง เขาเรียกว่าภาวะโรค กระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนนี้ถือว่าเป็นภัยเงียบ เช่นปวดบริเวณกระดูกสันหลัง หรือกระดูกหัก ทั้งนี้เพราะแร่ธาตุในกระดูกลดลง และมีความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่เป็นโครงสร้างของกระดูก ทำให้กระดูกเปราะและหักง่าย บริเวณที่พบว่าหักบ่อยได้แก่ กระดูกข้อมือ กระดูก สะโพก และกระดูกสันหลัง โรคนี้พบบ่อยในหญิงวัยหมด ประจำเดือน และผู้สูงอายุ ถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามว่าแล้ว ทำไมผู้หญิงจึงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย คำตอบก็คือ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ตอนหมดประจำเดือนแคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกมาก กว่าปกติ การศึกษาอุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักที่ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าสูงถึง ๑๖๒ ครั้งต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนที่มีอายุเกิน ๕๐ ปีขึ้นไป
เราจะทราบได้อย่างไรว่า ระดับแคลเซียมแค่ไหน พอ เราบริโภคแคลเซียมเพียงพอหรือไม่ จะตรวจได้อย่างไร ตรวจจากเลือดได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ เพราะ ร่างกายจะพยายามรักษาระดับแคลเซียมในเลือดให้ปกติอยู่เสมอ โดยดึงมาจากกระดูก อาการตะคริวหรือชาที่ปลายมือปลายเท้า เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระดับแคลเซียมในเลือดต่ำเกินไป และถ้าลดลงมากๆ อาจถึง ขั้นชัก และเสียชีวิตได้ เวลาเรากินอาหารที่มีแคลเซียม เข้าไป วิตามินดีเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์ของลำไส้เล็กสร้างโปรตีน เพื่อทำหน้าที่จับแคลเซียมส่งผ่านเข้าสู่กระแสเลือดแคลเซียมก็จะถูกดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็กเป็นส่วนใหญ่
การบริโภคแคลเซียมให้เพียงพอกับความต้องการ ของร่างกายตลอดชีวิต โดยเฉพาะการพยายามสร้างมวลกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยเด็ก จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคกระดูกพรุน วัยทารกและวัยรุ่นมีความต้องการแคลเซียมมากกว่ากลุ่มอายุอื่น เพราะกำลังเจริญเติบโต สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นม ลูกก็มีความต้องการ แคลเซียมเพิ่มขึ้นด้วย ผลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ผลตรงกันว่าเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มปริมาณ แร่ธาตุในกระดูก และความหนาแน่นกระดูกได้
ถ้าอยากมีกระดูกที่แข็งแรงต้อง ทำอย่างไรบ้าง กระดูกที่แข็งแรงไม่ใช่เพราะแคลเซียมเท่านั้น กระดูกต้องการสารอาหารหลายชนิด รวม ทั้งโปรตีน ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ วิตามินซี วิตามินเคเป็นต้น ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงตาม ธรรมชาติ เช่น นม เต้าหู้ ฯลฯ ส่วนนม เสริมแคลเซียม หรือยาเม็ดเสริมแคลเซียม นั้น ราคาก็แพง สารอาหารอื่นก็ไม่มี แล้ว เราจะไปเสียเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมไปทำไม ในเมื่อเรามีอาหารตามธรรมชาติ ให้เลือกมากมาย
ในโอกาสต่อๆ ไป มาดูว่าผลงานวิจัย แนะนำอาหารไทยอะไรบ้างที่มีปริมาณแคลเซียมสูง
- อ่าน 3,137 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้