เด็กไทยกับนิสัยการกิน
โรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน กลายเป็นโรคที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนา แล้วและที่กำลังพัฒนา มีรายงานว่าประมาณร้อยละ ๕๕ ของประชากรผู้ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกามีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กทุก ๔ คน จะเป็นเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน ๑ คน สำหรับประเทศไทยเองก็พบว่ามีประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุ
โรคอ้วนเมื่อเกิดขึ้นกับใครมักทำให้เกิดผลเสีย ต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจได้ เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ ขาโก่ง เหนื่อยง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียด หรือมีปัญหาทางอารมณ์ และซึมเศร้า นอกจากนี้ ในเด็กที่เป็นโรคอ้วนยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการ เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ ๒ โรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือด สูง ดังนั้น โรคอ้วนจึงมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และสังคม ซึ่งนับเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัว การ ป้องกันการระบาดของโรคอ้วนจึงมีความสำคัญและ จำเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อมก็นับว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อย ค่านิยมของพ่อแม่ที่คิดว่าเด็กอ้วนสมบูรณ์เป็น เด็กแข็งแรง และน่ารักน่าเอ็นดู รวมทั้งการสนับสนุน และต้องการให้ลูกเจริญอาหาร กินให้มากและกินให้หมด ก็มีส่วนสนับสนุนให้เด็กอ้วนด้วย นอกจากนี้ ลักษณะอาหารที่เด็กและครอบครัวเลือกกิน ตลอดจน รูปแบบการดำเนินชีวิตและกิจกรรมที่ปฏิบัติในชีวิต ประจำวัน ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้ เด็กอ้วนมากขึ้น
จากการศึกษาและทบทวนเอกสารวิชาการสามารถสรุปลักษณะพฤติกรรมการบริโภค และวิถีชีวิต ตลอดจนลักษณะการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เด็กอ้วนหรือมีภาวะโภชนาการเกิน ได้ดังนี้
วัยทารก (๐-๑ ปี) เด็กที่ได้รับนมผสมจะมีโอกาสเกิดภาวะโภชนาการเกินมากกว่าเด็กที่ได้รับ นมแม่ถึงร้อยละ ๒๐ มารดาที่เลี้ยงทารกด้วยนมผสม มักให้ทารกดูดนมบ่อยและปริมาณมากเกินความต้องการ ซึ่งพบว่าเด็กที่ได้รับขวดนมใส่ปากทุกครั้งที่ร้องไห้หรือโยเย มีแนวโน้มที่จะมีภาวะโภชนาการเกิน นอกจากนี้ มีรายงานว่าลักษณะการ ดูดนมของทารกมีความสัมพันธ์กับปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย ทารกที่ดูดนมแรง เร็ว และแต่ละมื้อมีระยะเวลาในการดูดนมนานมีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าถึงร้อยละ ๒๑ เมื่อเด็กอายุ ๒ ปี เด็กที่ได้รับอาหารเสริมเร็วก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกิน
วัยเด็กเล็ก (๑-๕ ปี) เด็กวัยนี้นับเป็นวัยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะโภชนาการเกินได้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการเพียงพอที่จะเลือกอาหารที่มีคุณภาพ ให้กับร่างกาย พบว่าเด็กวัยนี้ ประมาณ ๑ ใน ๓ มักเลือกกินอาหารที่ตัวเองชอบ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยง ดูเองก็มักจัดหาอาหารที่เด็กชอบให้กินเป็นประจำ อาหารที่เด็กวัยนี้ชอบมักเป็นอาหารที่มีรสหวาน รวมทั้งขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม คุกกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกอม นอกจากนี้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมักใช้ขนมหรืออาหารที่เด็กชอบเป็นรางวัลแก่เด็ก หรือเป็นสิ่งโน้มน้าวให้เด็กเชื่อฟังและปฏิบัติตาม โดยทั่วไปลักษณะบริโภคนิสัยของเด็กวัยนี้มักสัม-พันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของครอบครัว ถ้าครอบครัวใดชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง พลังงานสูง เด็กมักชอบและได้รับอาหารประเภทนั้นด้วย
เด็กวัยเรียน (๕-๑๒ ปี) จากการศึกษาพบว่าอาหารที่เด็กวัยนี้บริโภคส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เด็กวัยนี้ชอบกินอาหารที่ปรุงโดย วิธีการทอดน้ำมัน รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ อาหารมื้อหลักของเด็กวัยนี้คืออาหารมื้อเย็นและมักมีปริมาณมากกว่ามื้ออื่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กมีเวลามากที่สุด นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังชอบกินอาหารว่าง รวมทั้งอาหารว่างหลังมื้อเย็นหรือก่อนนอน โดยอาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ขนมกรุบกรอบ ขนม ปัง ขนมหวาน น้ำแข็งใส ไอศกรีม น้ำอัดลม ซึ่งจากลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวของเด็กวัยนี้ ทำให้เด็กมีโอกาสอ้วนได้ง่าย เด็กวัยนี้ยังได้รับอิทธิพลจากสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น โทรทัศน์ โปสเตอร์ รวมทั้ง ตัวแบบอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นอาหารหรือของกินเล่น บางอย่างโฆษณาโดยใช้เด็กเป็นตัวแบบ หรือดาราที่ เด็กชื่นชอบซึ่งทำให้เด็กๆ ถูกโน้มน้าวมากขึ้น และ ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เด็กวัยนี้ยังถูกชักจูงได้ง่ายจากรูปลักษณะภายนอกของอาหาร ที่พ่อค้าแม่ค้าทำให้ดูน่ากินยิ่งขึ้น โดยที่ส่วนประกอบ ส่วนใหญ่ของอาหารเหล่านั้นคือ แป้ง ไขมัน และเกลือ ซึ่งส่งเสริมให้เด็กอ้วนได้ง่ายและยังอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
เด็กวัยรุ่น (๑๒ ปีขึ้น) เด็กวัยนี้มักนิยมกินอาหารตามแฟชั่น ได้แก่ อาหารจานด่วน อาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ อาหารว่างของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักเป็นขนมขบเคี้ยว โดนัท คุกกี้ น้ำอัดลม น้ำหวาน ซึ่งทำให้อ้วนได้ง่าย เด็ก วัยนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่กับเพื่อน และเมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็มักใช้อาหารเป็นสื่อ ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อน รวมทั้งโฆษณาและสื่อต่างๆ
จะเห็นว่าลักษณะพฤติกรรมการบริโภคและบริโภคนิสัยของเด็กรวมทั้งลักษณะการเลี้ยงดูมีส่วนส่งเสริมให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ง่าย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของคนปัจจุบันสุขสบายขึ้น มีเครื่องทุ่นแรงและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องล้างจาน รวมทั้งอุปกรณ์สร้างความบันเทิง และผ่อนคลายความ เครียด ได้แก่ โทรทัศน์ วิดีโอ ซีดี ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งล้วนแต่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ทำให้ใช้พลังงานลดลงไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น บางครอบครัวอาจเข้าใจผิดซื้อหาเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกมส์ต่างๆ มาให้เด็กเล่น เพื่อต้องการให้เด็กเล่นอยู่กับบ้านและอยู่ในสายตา จึงมีส่วนทำให้เด็กมีกิจกรรมการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวลดลง
- อ่าน 15,166 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้