ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ๑ ใน ๕ ของเด็กไทยจะเป็นโรคอ้วน
ขณะที่เด็กในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ร้อยละ ๑๒ อ้วนแล้วเมื่อมีอายุเพียงแค่ ๒ ขวบ
จากผลสำรวจระดับประเทศ ๒ ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน ๕ ปี มีเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ขวบ อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐ ไม่เว้นแม้แต่เด็กในโรงเรียนอนุบาลที่มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ตามมาติดๆ
ในช่วง ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา มิใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องรับมือกับปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็ก ในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาเด็กอ้วน ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าในอดีต ๒ ถึง ๓ เท่าตัว
แม้หลายฝ่ายจะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจากพฤติกรรมการกินที่บิดเบี้ยว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รอบตัวเด็กที่มีเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้โรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก
อ้วน : พันธุกรรมหรือพฤติกรรมการกิน
แม้จะมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่า โรคอ้วนเกิดจากพันธุกรรม หรือมีสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ล้นเกินกันแน่
คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่พบโรคอ้วนในเด็กสูงมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น น่าจะเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิถีชีวิตผู้คนในสังคม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่มีอยู่แล้ว กลายเป็นโรคชัดเจนมากขึ้น และเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุน้อยลงด้วย
ยิ่งการเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันส่งเสริมการกินอาหารที่ทำลายสุขภาพ และขัดขวางการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก รวมไปถึงความขาดแคลนพื้นที่ทางสังคม ทั้งสถานที่ในการออกกำลัง และทำกิจกรรมในด้านอื่นๆ นอกจากการกิน - ดื่ม - ช็อป ล้วนแล้วแต่เป็นตัวการที่ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับกับการใช้จ่ายพลังงานออกไป อันนำมาสู่ปัญหาของความอ้วนในบั้นปลาย
โรคอ้วนนั้นเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายระบบในวัยเด็ก เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจ โรคกระดูกและข้อเสื่อม โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ รวมทั้งปัญหาทางด้านจิตใจและสังคม
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในภายภาคหน้าเด็กอ้วนจะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงอ้วนถึงร้อยละ ๓๐-๘๐
ความเสี่ยงจากข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องประมาณการตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกันใหม่ เพราะเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาประชากรที่ไม่ได้คุณภาพ เจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคเสื่อมเรื้อรังอื่นๆ
โรงเรียนทำเด็กอ้วน!
๘ ชั่วโมงต่อวัน
๕ วันต่อสัปดาห์
๘ เดือนต่อปี
นี่คือปริมาณเวลาที่เด็กโดยส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน
สภาพสังคมสมัยใหม่ที่ผลักเด็กออกจากอ้อมอกของครอบครัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โรงเรียนต้องก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการดูแลเด็ก และเยาวชนมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้เด็กถูกส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็กเล็กตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ กินอาหารมื้อเที่ยงที่โรงเรียน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องกินอาหารมื้อเช้าที่โรงเรียนด้วย
นอกเหนือจากเรื่องวิชาความรู้ เด็กยังได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ อีกมากมายในเชิงสังคมและการดำรงชีวิต ทั้งทางตรงในหลักสูตรและทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวบุคคล สถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ จากกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้ โรงเรียนจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้ง ทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ปัญญา และจริยธรรม รวมทั้งพฤติกรรมด้านต่างๆ ที่จะปลูกฝังเป็นนิสัยของเด็กต่อไปในอนาคต
เมื่อโรงเรียนมีความสำคัญต่อการก่อรูปนิสัยการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก มากขนาดนี้ แล้วในปัจจุบันมีอะไรบ้างที่แวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่ภายในโรงเรียน?
จากการสำรวจโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศจำนวน ๓๔๒ โรง ผลวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า ร้อยละ ๓ ของโรงเรียนไม่มีน้ำดื่มให้เด็กดื่มฟรี
จริงอยู่ว่ายังมีโรงเรียนอีกจำนวนร้อยละ ๙๐ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายนี้ หากเพียงแค่เงื่อนงำของน้ำดื่มที่หายไป ก็น่าจะทำให้เราได้ตระหนักถึงภัยเงียบบางประการที่กำลังคืบคลานเข้าสู่สถานศึกษา โดยไร้ซึ่งมาตรการป้องกัน
เพราะน้ำดื่มมิใช่เพียงบริการขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนจะต้องจัดไว้ให้กับเด็ก และเอาเข้าจริงๆ แล้ว น้ำดื่มในโรงเรียนก็ไม่ได้หายไปเปล่าๆ โดยไร้ร่องรอย
ถึงแม้การมีน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบขายในโรงเรียน จะเป็นเหมือนฉันทานุมัติทางอ้อมว่าโรงเรียนเห็นชอบกับการบริโภคสิ่งเหล่านี้ หากข้อมูลที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ เครื่องดื่มที่โรงเรียนอนุญาตให้ขายแก่นักเรียนนั้น ร้อยละ ๑๒ มีบริษัทน้ำอัดลมประมูลขายผูกขาดเพียงเจ้าเดียว (เฉพาะในกรุงเทพฯ และจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และประมาณร้อยละ ๕๐ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตขนมและน้ำอัดลมในการจัดกิจกรรมของโรงเรียนอีกด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนได้ดีถึงอำนาจของตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่รุกเร้าเข้ามาใกล้ทุกขณะ ซึ่งเราต่างก็ตระหนักกันดีว่าพลังของมันจะสามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการกินอันไร้ขีดจำกัดได้อย่างน่าหวาดหวั่นเพียงใด
ขับเคลื่อนมาตรการ...Guide Line for Future Health
เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศและตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ได้ประสานกับสถาบันวิชาการ สนับสนุนให้จัดทำมาตรฐานอาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียน มาตรฐานการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับเด็กในโรงเรียน มาตรฐานการจัดอาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน และคำแนะนำเรื่องขนมและอาหารว่างสำหรับเด็ก ๒ ขวบขึ้นไป
ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะโภชนาการเกิน พร้อมทั้งจัดกระบวนการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จัดทำร่างข้อเสนอมาตรการและนโยบายโรงเรียนสำหรับควบคุมและป้องกันโรคอ้วนในเด็กนักเรียน
มาตรการควบคุมและป้องกันโรคอ้วนในเด็กนักเรียน
• เด็กนักเรียนทุกคนต้องได้รับอาหารกลางวันที่ได้มาตรฐานทางโภชนาการ
• อาหารกลางวันของเด็กต้องมีผักทุกมื้อและได้ปริมาณตามที่แนะนำ
• มีผลไม้เป็นอาหารว่างอย่างน้อย ๓ วันต่อสัปดาห์
• มีน้ำเปล่าที่สะอาดให้เด็กได้ดื่มอย่างพอเพียง
• ห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียน
• เครื่องดื่มในโรงเรียนต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ ๕
• ขนมและอาหารว่างที่ขายในโรงเรียนต้องมีประโยชน์เป็นไปตามมาตรฐาน
• ห้ามขายขนมกรุบกรอบ/ขนมซองที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง
• เพิ่มโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายในโรงเรียน โดยให้เด็กออกกำลังกายเต็มที่ในชั่วโมงพลศึกษาอย่างน้อย ๓๐ นาทีต่อครั้ง
• จัดกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพิ่มจากชั่วโมงพละอีกวันละ ๑๕ นาที
• โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากโฆษณาอาหาร ขนมและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์และโรงเรียนต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัท ห้ามเครื่องขายอัตโนมัติ (Vending Machine) ในโรงเรียนระดับอนุบาลและประถม
• เฝ้าระวังการเติบโตและภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนเป็นประจำ พร้อมทั้งแจ้งผลภาวะโภชนาการของเด็กให้ผู้ปกครองทราบและให้คำปรึกษาแนะนำปัญหาอ้วน
• ให้ข้อมูลความรู้แก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนเพื่อให้มีพฤติกรรมบริโภคและพฤติกรรมสุขภาพอื่น เช่น ติดป้าย/สัญลักษณ์รายการอาหารที่ได้มาตรฐาน
• มีการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม
- อ่าน 3,559 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้