บนเส้นทางหนังสือ (๒๑)
ฉบับที่แล้วเริ่มต้นบทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่อง "คุณค่าพื้นฐานทางจิตวิญญาณ"
ในฐานะชาวพุทธ ระบบการปฏิบัติทางจิตวิญญาณของท่านทะไล ลามะ มีลักษณะพิเศษที่เป็นพุทธ...หมอคัตเลอร์จึงถามท่าน ดังต่อไปนี้...
"ท่านจะกรุณากล่าวถึงประโยชน์ของการปฏิบัติจิตตภาวนาดังกล่าวต่อชีวิตประจำวัน ได้ไหมครับ" หมอคัตเลอร์ขอร้องท่านทะไล ลามะ
ท่านทะไล ลามะ เงียบไปพักใหญ่แล้วตอบว่า "แม้ประสบการณ์ของอาตมาจะมีเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่อาตมาอาจกล่าวได้แน่นอนก็คือโดยการฝึกตนในทางพุทธ จิตใจของอาตมาสงบเย็นลงมาก นั่นเป็นการแน่นอนทีเดียว แม้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นช้าๆ ทีละเซนติเมตร เซนติเมตร" ท่านหัวเราะ "อาตมาคิดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติของอาตมาที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น แม้จะเป็นการยากที่จะชี้ให้ชัดถึงเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ อาตมาคิดว่ามันเกิดจากการตระหนักรู้ แม้ไม่ใช่การตระหนักรู้โดยสมบูรณ์ แต่ก็เป็นความรู้สึกหรือการรับรู้ถึงธรรมชาติพื้นฐานของความจริง และโดยการเพ่งใจไปที่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และคุณค่าของความเมตตากรุณาและการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์
"ตัวอย่างเช่น แม้เมื่อคิดถึงเรื่องจีนคอมมิวนิสต์ผู้ซึ่งก่อให้เกิดภยันตรายอันยิ่งใหญ่ต่อคนทิเบต จากการฝึกอบรมแบบพุทธ อาตมาก็ยังไม่มีความเมตตากรุณาแม้กระทั่งผู้ก่อความทุกข์ให้เรา เพราะอาตมาเข้าใจว่าตัวผู้กระทำเองก็ตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้นของเหตุปัจจัยบางอย่าง เนื่องจากคิดอย่างนี้และจากการปฏิญาณตนมุ่งสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์และพันธสัญญาต่อหน้าที่ แม้มีคนก่อเรื่องร้าย อาตมาก็ไม่สามารถคิดว่าเพราะอย่างนั้นเขาจะต้องได้รับการตอบแทนในทางไม่ดี หรือไม่ควรจะมีความสุข คำปฏิญาณเพื่อพระโพธิสัตว์สภาวะช่วยให้อาตมามีทัศนะอย่างนี้ ซึ่งมีประโยชน์มาก ดังนั้น อาตมาจึงชอบคำปฏิญาณนี้ เรื่องนี้ทำให้อาตมารำลึกถึงครูสวดอาวุโสท่านหนึ่งซึ่งอยู่ที่วัดนัมกยาล เขาถูกคนจีนจับขังคุกในฐานะนักโทษการเมืองและอยู่ในค่ายกักกันใช้แรงงานเป็นเวลา ๒๐ ปี ครั้งหนึ่งอาตมาถามท่านว่าในคุกอะไรเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดของท่าน น่าแปลกใจมากที่ท่านตอบว่าอันตรายที่สำคัญที่สุดของท่านคือถ้าจะต้องสูญเสียความเมตตากรุณาต่อคนจีนที่จับกุมท่าน!
"มีเรื่องเล่าแบบนี้มากทีเดียว เช่น เมื่อ ๓ วันก่อนอาตมาพบพระรูปหนึ่งซึ่งติดคุกจีนอยู่หลายปี ท่านบอกอาตมาว่าท่านอายุ ๒๔ ปี เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์คนทิเบตลุกขึ้นต่อสู้การรุกรานของจีน เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๙ ท่านเข้าไปร่วมกับกองกำลังทิเบตที่นอบุลิงกา เขาถูกจีนจับและส่งไปขังคุกร่วมกับพี่น้องอีก ๓ คนที่ถูกฆ่าตายที่นั่น พี่น้องอีก ๒ คนก็ถูกฆ่า ตาย พ่อแม่ของท่านตายในค่ายกักกันใช้แรงงาน แต่ท่านบอกกับอาตมาว่า เมื่อท่านอยู่ในคุก ท่านได้คิดทบทวนความเป็นมาของชีวิตของท่านจนถึงขณะนั้น ท่านสรุปว่าแม้ว่าท่านจะใช้ชีวิตทั้งหมดในการเป็นพระอยู่ที่วัดเดรปุง จนถึงเวลานั้นท่านไม่คิดว่าท่านเป็นพระที่ดี ท่านเป็นพระที่โง่เขลา และในขณะนั้นท่านปฏิญาณว่าไหนๆ ก็อยู่ในคุกแล้ว ท่านจะพยายามเป็นพระที่ดี ดังนั้น ด้วยการปฏิบัติแบบพุทธ และด้วยการอบรมจิตอย่างนี้ แม้กายจะเจ็บปวด แต่ใจท่านเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้เมื่อถูกทรมานและถูกทุบตีอย่างหนัก ท่านก็สามารถมีชีวิตรอดได้และมีความสุขโดยมองว่าเหตุการณ์นั้นเป็นการชำระล้างกรรมในทางไม่ดีของท่าน
"ดังนั้น โดยตัวอย่างเหล่านี้ เราสามารถที่จะเห็นคุณค่าของมิติทางจิตวิญญาณในชีวิตประจำวันของเรา"
ท่านทะไล ลามะ ได้เพิ่มส่วนผสมสุดท้ายของการมีชีวิตที่เป็นสุข นั่นคือ มิติทางจิตวิญญาณ โดยคำสอนของพระพุทธองค์ ท่านทะไล ลามะ และคนอื่นๆ อีกมากได้พบหลักการที่ทรงคุณค่า ที่ทำให้ท่านทนและก้าวพ้นความเจ็บปวดและความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต และอย่างที่ท่านทะไล ลามะ แนะนำศาสนาใหญ่ๆ ทุกศาสนาสามารถช่วยให้บุคคลมีชีวิตที่เป็นสุขขึ้น พลังแห่งศรัทธาที่แพร่สะพัดอย่างกว้างขวางโดยศาสนาต่างๆ เหล่านี้ได้เข้าไปถักทอในสายใยชีวิตของผู้คนเป็นล้านๆ คน ศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้งได้ช่วยพยุงชีวิตมนุษย์จำนวนนับไม่ถ้วนในยามยาก ในบางครั้งพลังแห่งศรัทธานี้ก็ทำหน้าที่อยู่อย่างเงียบๆ แต่บางครั้งก็เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ เราทุกคนในบางช่วงขณะของชีวิต ก็เคยเห็นพลังแห่งศรัทธานี้ช่วยใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว หรือเพื่อน หรือคนรู้จัก บางครั้งพลังศรัทธาที่ช่วยพยุงชีวิตก็เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ หลายคนก็รู้เรื่องการผจญชีวิตของเทอร์รี่ แอนเดอร์สัน ชาวบ้านธรรมดาๆ ผู้ถูกลักพาตัวบนท้องถนนเมืองเบรุตเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๕ เขาถูกเอาผ้าห่มคลุมตัว แล้วถูกผลักเข้าไปในรถ และถูกจับเป็นเชลยอยู่ ๗ ปีโดยกลุ่มเฮซบอลเลาะ ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง จนถึง ค.ศ. ๑๙๙๑ เขาถูกขังอยู่ในห้องใต้ดินขนาดเล็กที่เปียกชื้นและสกปรก ถูกเอาผ้าปิดตาและจองจำด้วยโซ่เป็นระยะเวลานาน ถูกโบยตีเป็นประจำ ในที่สุดเมื่อเขาถูกปล่อยออกมา โลกก็หันมามองเขา และพบว่าเขามีความสุขอย่างเหลือหลายที่กลับมาสู่ครอบครัวโดยมีความขมขื่นและเกลียดชังผู้ลักพาตัวเขาน้อยอย่างน่าประหลาดใจ เมื่อนักข่าวถามว่า ทำไมเขาจึงเข้มแข็งอย่างนั้น เขาตอบว่า ศรัทธาและการสวดภาวนา เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาทนทานต่อความยากลำบากได้
โลกเต็มไปด้วยตัวอย่างของวิถีทางที่พลังศรัทธาในศาสนาช่วยให้มนุษย์ทนทานอยู่ได้ ในยามยากลำบาก และจากการสำรวจอย่างกว้างขวางเมื่อเร็วๆ นี้ยืนยันว่าศรัทธาในศาสนา ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่เป็นสุขขึ้น การสำรวจโดยนักวิจัยอิสระและองค์กรที่สำรวจความคิดเห็น (เช่นบริษัทกัลลัพ) พบว่า คนที่มีศรัทธาในศาสนาตอบว่าเขารู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจกับชีวิตมากกว่าคนที่ไม่นับถือศาสนา การศึกษาไม่เพียงแต่พบว่าศรัทธาเป็นเครื่องทำนายถึงคำตอบว่าตนเองมีความสุข แต่ศรัทธาในศาสนาอย่างเข้มแข็งยังช่วยให้บุคคลเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า เช่น ปัญหาความชรา วิกฤติการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ก่อความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง นอกจากนั้นสถิติยังแสดงว่าครอบครัวที่มีศรัทธาในศาสนาอย่างแข็งแรง มีอัตราพฤติกรรมเสี่ยงต่ำ เช่น การเกะกะเกเร การติดสุรา หรือสารเสพติดอื่น และการหย่าร้าง มีหลักฐานว่าศรัทธามีประโยชน์ต่อสุขภาพ แม้กับคนที่ป่วยหนัก จริงๆ แล้วมีงานวิจัยเป็นร้อยๆ ชิ้นที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธาในศาสนากับอัตราตายต่ำและสุขภาพดี ในการวิจัยชิ้นหนึ่ง สตรีสูงวัยที่มีศรัทธาในศาสนา ภายหลังการผ่าตัดข้อสะโพกสามารถเดินได้ไกลกว่าผู้ไม่มีความเชื่อในศาสนา และมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่า
การศึกษาโดยรอนนา คาซา ฮาร์ริส และมารี อมันดา ดิว แห่งศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจที่มีความเชื่อในศาสนาอย่างแข็งแรงสามารถเผชิญกับสภาวะหลังผ่าตัดได้ดีกว่าและมีสุขภาพกายและใจดีกว่า ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งโดยนายแพทย์โทมัส ออกซ์แมน และคณะ ที่โรงเรียนแพทย์ดาร์ทเมาช์ พบว่าคนไข้ที่อายุเกิน ๕๕ ปีที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ ผู้นับถือศาสนาเป็นสรณะ มีอัตราการรอดชีวิตสูงเป็น ๓ เท่าของผู้ไม่นับถือศาสนา ประโยชน์จากศรัทธาในศาสนาบางทีก็มาในรูปผลผลิตโดยตรงของความเชื่อในศาสนาบางศาสนาโดยจำเพาะ เช่น ชาวพุทธจำนวนมากสามารถอดทนต่อความทุกข์ได้เพราะเชื่อในกฎแห่งกรรมในทำนองเดียวกัน ผู้มีศรัทธามั่นคงในพระผู้เป็นเจ้าสามารถทนทานต่อความยากลำบากเพราะความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความรักของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าที่แผนของพระองค์อาจไม่เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์ในปัจจุบัน แต่พระองค์ผู้ทรงมีปัญญาญาณในที่สุดก็จะเผยให้เห็นความรักของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ ด้วยศรัทธาในคำสอนของพระคัมภีร์ไบเบิล มนุษย์อาจพึงพอใจในพระวจนะในบทโรมัน 8 : 28 ที่ว่า "สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เพื่อประโยชน์สุขของผู้ที่มีความรักในพระเจ้า ผู้ที่เป็นไปตามพระประสงค์"
แม้ว่าประโยชน์ของการมีศรัทธาในศาสนาจะมีความจำเพาะตามลักษณะของศาสนาที่แตกต่างกัน แต่ก็มีพลังแห่งชีวิตทางจิตวิญญาณที่มีร่วมกัน การเข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนา ไม่ว่าของศาสนาใด ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ความเป็นชุมชน ความเอื้ออาทรถึงกันในกลุ่ม ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนอื่น รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ความเชื่อในศาสนาทำให้หาความหมายของชีวิตของตนเองได้ ความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดความหวัง ท่ามกลางความเลวร้าย ความทุกข์ทรมานและความตาย มันช่วยให้บุคคลขยายทัศนะออกไปนอกตัวตนอันคับแคบ ยามเมื่อถูกท่วมท้นด้วยปัญหาชีวิตประจำวัน
แม้ว่ามีประโยชน์หลายอย่างจากผู้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ความเชื่อในศาสนาอย่างเดียวยังไม่อาจจะประกันได้ว่ามีความสุขและสันติ ตัวอย่างเช่น ในเวลาเดียวกันกับที่เทอร์รี่ แอนเดอร์สัน นั่งอยู่ในคุก และแสดงให้เห็นถึงความงามของการมีศรัทธาในศาสนา นอกคุกนั้นเองมีความรุนแรงและความเกลียดขนานใหญ่ อันมาจากความเชื่อทางศาสนา เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ในประเทศเลบานอน มุสลิมนิกายต่างๆ ทำสงครามกับพวกคริสต์และชาวยิว ขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังอย่างรุนแรงของทุกฝ่าย นำไปสู่ความเสียหายเหนือคำบรรยาย ทั้งนี้เกิดในนามของศรัทธาในศาสนานี้เป็นเรื่องเล่าเก่าๆ ที่บอกกันมาในประวัติศาสตร์ และก็เกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ ในปัจจุบัน
เนื่องจากศรัทธาในศาสนาอาจนำไปสู่ความแตกแยกและความเกลียดชัง ผู้คนจึงอาจหมดศรัทธาในสถาบันทางศาสนา เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้ผู้นำทางศาสนาอย่างท่านทะไล ลามะ พยายามกลั่นปัจจัยที่ดีงามทางจิตวิญญาณที่นำไปใช้ได้ทั่วไปสำหรับบุคคลใดๆ เพื่อความสุข โดยไม่คำนึงถึงว่านับถือศาสนาใด หรือนับถือศาสนาหรือไม่
ดังนั้น ด้วยเสียงแห่งความเชื่อมั่นอย่างสมบูรณ์ ท่านทะไล ลามะ สรุปการพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ของท่านเกี่ยวกับชีวิตทางจิตวิญญาณที่แท้จริงดังต่อไปนี้
"ดังนั้น ในการพูดถึงการมีมิติทางจิตวิญญาณในชีวิตของเรา เราถือว่าการมีศรัทธาในศาสนาเป็นระดับหนึ่งของจิตวิญญาณ ทีนี้เมื่อพูดถึงศาสนา ถ้าเราเชื่อในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง นั่นก็เป็นการดี แต่แม้ไม่มีความเชื่อในศาสนา เราก็ยังดูแลได้ ในบางกรณีเราอาจดูแลได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป แต่นั่นเป็นสิทธิในแต่ละบุคคล ถ้าเราต้องการเชื่อนั่นก็ดี ถ้าเราไม่ต้องการเชื่อ ก็ไม่เป็นไร ทีนี้มีอีกระดับหนึ่งของจิตวิญญาณที่อาตมาเรียกว่า จิตวิญญาณพื้นฐาน นั่นคือ คุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ในความดี ความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร ไม่ว่าเราจะเชื่อในศาสนาหรือไม่เชื่อจิตวิญญาณชนิดนี้มีความสำคัญ อาตมาเองด้วยส่วนตัวแล้วถือว่าจิตวิญญาณระดับ ๒ นี้มีความสำคัญกว่าระดับ ๑ เพราะว่าไม่ว่าศาสนาใดจะดีงามสักเพียงใด ก็เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนเดียว เป็นส่วนเดียวของมนุษย์ทั้งหมดเท่านั้น แต่เราในฐานะมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัวของมนุษยชาติ เราทั้งหมดต้องการคุณค่าของจิตวิญญาณพื้นฐาน ถ้าไม่มีจิตวิญญาณพื้นฐานนี้ การคงอยู่ของมนุษย์จะยากลำบาก จะแห้งแล้งน้ำใจและก็ไม่มีใครเลยที่จะมีความสุข ครอบครัวทั้งหมดของเราก็จะเป็นทุกข์ และในที่สุดสังคมก็จะลำบาก ดังนั้น จึงชัดเจนว่าการบ่มเพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณพื้นฐานมีความสำคัญยิ่ง
" ในการบ่มเพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณพื้นฐาน อาตมาคิดว่าเราจะต้องจำไว้ว่าในประชากรประมาณ ๕ พันล้านคนบนโลกใบนี้ ประมาณ ๑ หรือ ๒ พันล้านคน เป็นผู้ที่มีความเชื่อในศาสนาอย่างแท้จริง แน่นอนว่าเมื่ออาตมาพูดถึงคนที่มีความเชื่อในศาสนาอย่างแท้จริง อาตมาไม่นับรวมคนที่บอกนับถือแต่ปาก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ปฏิบัติตามหลักศาสนา ถ้าตัดพวกนี้ออกไปอาจจะเหลือสักพันล้านคนที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าคนอีกประมาณ ๔ พันล้านคน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อในศาสนา ดังนั้น เราจะต้องหาทางช่วยคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้นับถือศาสนาให้เป็นคนดี มีจริยธรรม โดยไม่มีศาสนาใดๆ ตรงนี้อาตมาคิดว่าการศึกษามีความสำคัญยิ่งที่จะต้องสร้างคนให้มีสำนึกว่าความเมตตากรุณาเป็นคุณภาพพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีศาสนา ก่อนหน้านั้นเราเคยพูดกันอย่างยืดยาว ถึงความสำคัญของการมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ความรัก และความเมตตากรุณาที่มีต่อสุขภาพทางกาย ความสุข และสันติภาพในจิตใจ นี้เป็นประเด็นเชิงปฏิบัติไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือปรัชญาใดๆ นี่เป็นกุญแจเลยทีเดียว และอาตมาคิดว่านี้คือหัวใจของศาสนาทั้งหลาย แต่มันก็มีความสำคัญพอๆ กันสำหรับคนที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย สำหรับคนเหล่านี้เราอาจจะบอกเขาว่าไม่มีศาสนาก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีสาระ มีความรับผิดชอบที่จะทำให้โลกดีขึ้น
" โดยทั่วไป บุคคลอาจบ่งบอกศาสนาของตน โดยอาการภายนอก เช่น การแต่งกาย การมีที่บูชาในบ้าน หรือโดยการสวด แต่การแสดงภายนอกเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณที่แท้จริง ซึ่งอยู่บนฐานของคุณค่าทางจิตวิญญาณพื้นฐาน เพราะการแสดงภายนอกนั้นอาจจะยังร่วมกับจิตใจภายในที่ไม่ดี แต่จิตวิญญาณที่แท้จริงควรจะทำให้บุคคลสงบลง มีความสุขมากขึ้น และมีสันติภาพในจิตใจ
"สภาวะจิตที่เป็นคุณทั้งหลาย เช่น ความเมตตากรุณา ความอดกลั้น การให้อภัย ความเอื้ออาทร ต่างๆ เหล่านี้คือธรรมะที่แท้จริง หรือคุณสมบัติทางจิตวิญญาณ เพราะว่าคุณภาพของจิตเหล่านี้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับสภาวะจิตทางลบ ดังนั้น การฝึกอบรมจิตใจให้มีวินัยคือ ข้อสำคัญของชีวิตทางศาสนา เป็นวินัยทางจิตใจที่จะบ่มเพาะสภาวะจิตที่เป็นคุณ ดังนั้น การที่ว่าบุคคลจะดำเนินชีวิตเชิงจิตวิญญาณหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาประสบความสำเร็จในการสร้างวินัยทางจิตใจให้เป็นจิตใจที่ฝึกแล้ว และแปลงสภาวะจิตอันเป็นคุณนั้นไปสู่การกระทำในชีวิตประจำวัน"
ท่านทะไล ลามะ กำลังจะต้องปรากฏตัวต่อกลุ่มชนผู้ซึ่งบริจาคสนับสนุนชาวทิเบต ในหมู่ผู้ที่มาชุมนุมต้อนรับ หมอคัตเลอร์เห็นชายคนหนึ่งซึ่งเขาเห็นมา ๒-๓ ครั้งแล้วในสัปดาห์นั้น อายุประมาณ ๒๐-๓๐ ปี สูงและผอม หน้าตาเหมือนคนไข้ที่เคยเห็น คือ มีความกังวลใจ ซึมเศร้าขนาดหนัก กล้ามเนื้อรอบๆ ปากกระตุก เป็น "Tardive dyskinesia" หมอคัตเลอร์วินิจฉัยโรคในใจ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ในคนไข้ที่ใช้ยาแก้คลุ้มคลั่งนานๆ "เป็นคนที่น่าสงสาร" หมอคัตเลอร์คิดชั่วขณะและก็ลืมเขาไปแล้ว
เมื่อท่านทะไล ลามะ มาถึง ฝูงชนก็รุมต้อนรับท่านแน่น รปภ. ซึ่งเป็นอาสาสมัครพยายามกันฝูงชนเพื่อแหวกทางให้ท่านเดิน ชายคนดังกล่าวก็ถูกเบียดดันจนไปอยู่แถว หน้า ท่านทะไล ลามะ สังเกตเห็นเขาก็หยุดทักทาย ชายผู้นั้นรู้สึกตกใจในตอนแรก และก็พูดอย่างเร็ว ตรงข้ามกับท่านทะไล ลามะ ซึ่งพูดไม่กี่คำ หมอคัตเลอร์ไม่ได้ยินว่าคนทั้งสองพูดอะไรกัน แต่สังเกตว่าชายผู้นั้นกระสับกระส่ายอย่างเห็นได้ชัด เขาพูดบางสิ่งบางอย่าง ท่านทะไล ลามะ ไม่พูด แต่กุมมือชายผู้นั้นไว้ตบเบาๆ ยืนมองเขานิ่งๆ พยักหน้า พลาง ขณะที่ท่านกุมมือเขาและมองตาเขาอยู่ เหมือนไม่รับรู้ฝูงชนที่รายล้อมอยู่รอบๆ ดูเหมือนความเจ็บปวดและกระสับกระส่ายของชายผู้นั้นละลายหายไป น้ำตาไหลลงอาบแก้ม แม้รอยยิ้มที่แผ่บนใบหน้าของชายผู้นั้นจะมีเพียงเล็กน้อย แต่สายตาเขาบ่งบอกความสบายและดีใจ
ท่านทะไล ลามะ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าวินัยในจิตใจของตัวเองคือรากฐานของชีวิตทางจิตวิญญาณ ที่ท่านอธิบายมาโดยตลอดในหนังสือเล่มนี้ วินัยในจิตใจคือ การต่อสู้กับสภาวะจิตที่เป็นลบ เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ และบ่มเพาะสภาวะจิตที่เป็นบวก เช่น ความเอื้ออาทร ความเมตตากรุณา ความอดกลั้น ท่านชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่เป็นสุขตั้งอยู่บนฐานของความสงบ และจิตใจที่มั่นคง การฝึกวินัยทางจิตอาจรวมถึงสมาธิภาวนาที่ช่วยให้จิตใจมั่นคงและสงบ วิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณนั้นรวมถึงการทำให้จิตใจสงบ และสัมผัสส่วนลึกของจิตใจ ในตอนท้ายของชุดปาฐกถาของท่านที่เมืองทูซอน ท่านได้สอนจิตภาวนาวิธีหนึ่งที่ทำให้ความคิดสงบลง สังเกตธรรมชาติของจิต และทำให้จิตนิ่ง มองไปยังที่ประชุม ท่านพูดในลักษณะของท่านคือ แทนที่จะพูดกับคนจำนวนมากกลับเสมือนพูดกับแต่ละคนในห้องประชุม บางครั้งก็นิ่งและเพ่ง บางคราวก็มีชีวิตชีวา ออกท่าออกทาง พยักหน้า โคลงตัวไปมา
การพิจารณาธรรมชาติของจิต
"วัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัตินี้เพื่อให้รู้ธรรมชาติของจิต" ท่านเริ่มต้น
"อย่างน้อยก็ในระดับธรรมดา โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงจิต เราพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับจิต ถ้าถามว่าจิตคืออะไร เราก็เพียงแต่ชี้ไปที่สมอง หรือถ้าเราถูกถามนิยามของจิต เราก็อาจจะบอกว่าเป็นอะไรที่ "รู้" อะไรที่ "ใส" อะไรที่ "คิด" แต่ถ้าไม่เคยจับจิตได้จากการฝึกจิตภาวนา คำนิยามเหล่านี้ก็เป็นเพียงคำ สำคัญที่เราจะต้องรู้จักจิตโดยประสบการณ์ตรงไม่ใช่เป็นความคิดที่เห็นนามธรรม ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติในครั้งนี้เพื่อให้เราสามารถสัมผัสธรรมชาติของจิตได้ จนกระทั่งเมื่อคุณพูดว่าจิตมีลักษณะ "ใส" และ "คิด" ได้ คุณรู้จากประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดแบบนามธรรม
"การฝึกปฏิบัตินี้จะช่วยให้ท่านหยุดความคิดที่สะเปะสะปะ และอยู่ในสภาพนั้นได้นานๆ ขึ้นปฏิบัติไปจนรู้สึกไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น เป็นความว่างเปล่า แต่เมื่อคุณปฏิบัติต่อไปอีก จะรู้ถึงธรรมชาติของจิตที่มีลักษณะ "ใส" และ "รู้" เหมือนกับมีแก้วใสที่มีน้ำเต็ม ถ้าน้ำบริสุทธิ์ คุณมองเห็นก้นแก้วได้ แต่คุณก็รู้ว่ามีน้ำอยู่ในแก้ว ดังนั้น วันนี้ขอให้เราเพ่งภาวนาอยู่กับสภาวะไม่มีความคิด นี่ไม่ใช่สภาวะจิตด้านหรือจิตหายไป แต่สิ่งที่คุณควรทำคือตั้งใจที่จะรักษาสภาวะจิตที่ไม่มีความคิด โดยทำอย่างนี้
" โดยทั่วไป จิตของเราจะมุ่งไปรับสัมผัสสิ่งเร้าจากภายนอก ความสนใจของเราก็จะตามการรับรู้นั้นไป จิตจะอยู่กับการรับสัมผัสและความคิด หรืออีกนัยหนึ่งจิตสำนึกของเราจะไปอยู่กับการรับรู้ทางกายและการคิด ในการฝึกปฏิบัตินี้ขอให้ท่านถอยจิตเข้ามาภายใน อย่าให้ตามการรับรู้จากการสัมผัส แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ถอยจิตเข้ามาภายในเสียจนด้านและไม่มีสติ แต่ควรจะอยู่ในสภาวะตื่นตัวและมีสติเต็มที่ และก็พยายามดูธรรมชาติของจิต เป็นสภาวะของจิตที่ไม่ถูกกระทบด้วยความคิดเรื่องอดีต เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ความจำต่างๆ หรือความคิดไปในอนาคต เช่น แผนอนาคต ความคาดหวัง ความกลัว ความหวัง แต่อยู่ในสภาวะเป็นกลางตามธรรมชาติ
"นี้ก็คล้ายกับแม่น้ำที่น้ำไหลแรงซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นก้นแม่น้ำได้ แต่ถ้ามีทางใดที่ทำให้น้ำนิ่ง ก็จะเห็นก้นแม่น้ำได้ชัด ทำนองเดียวกันถ้าเราสามารถหยุดจิตไม่ให้ไหลไปตามการรับรู้สื่อต่างๆ เราก็จะเห็นจิตภายใต้ความยุ่งๆ นี้ ซึ่งมีความสงบ มีความใสกระจ่าง คุณควรจะพยายามสังเกตหรือสัมผัสสิ่งนี้...
"ระยะเริ่มต้น การทำดังนี้อาจจะยากขอให้เราเริ่มฝึกปฏิบัติกันเลย ระยะเริ่มแรก เมื่อคุณเริ่มสัมผัสกับจิตตามธรรมชาติที่อยู่เบื้องลึก คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร ที่เกิดขึ้นอย่างนี้เพราะเราคุ้นเคยกับการมีจิตที่รับรู้สิ่งภายนอกตลอดเวลา แล้วเราก็มองโลกผ่านความคิดและรูปลักษณ์ ดังนั้น เมื่อคุณถอนจิตจากสิ่งภายนอก ทำให้จิตไม่มี มันหายไป มันว่าง แต่เมื่อทำไปๆ และคุ้นเคยกับมัน จะพบว่าในเบื้องลึกนั้นมีความใสกระจ่าง สุกสกาว นั่นแปลว่าคุณเริ่มรู้จิตเดิมแท้แล้ว
"การปฏิบัติกรรมฐานอย่างลึกซึ้งจะต้องพบประสบการณ์ของความนิ่งของจิตแบบนี้...อ้อ" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะ "อาตมาควรจะเตือนว่าในการฝึกจิตแบบนี้ เนื่องจากไม่มีวัตถุภายนอกให้จิตเกาะ ผู้ปฏิบัติอาจจะหลับไปได้
"ขอให้เราลงมือปฏิบัติกัน...
"สูดลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง เพ่งจิตอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ๓ ครั้ง และเริ่มทำสมาธิภาวนา"
ท่านทะไล ลามะ ถอดแว่นตา ประสานมืออยู่บนตัก นิ่งเงียบในสมาธิ ทั้งห้องเงียบสงัด เมื่อคน ๑,๕๐๐ คน หันมาดูจิตภายในของตัวเอง สงบจากความคิด ดูธรรมชาติของจิตที่ปราศจากความคิด หลังจาก ๕ นาทีผ่านไป ท่านทะไล ลามะ เริ่มสวดเบาๆ เสียงต่ำ มีทำนองเหมือนเพลง นำทางผู้ปฏิบัติในกรรมฐาน
เมื่อจบการฝึกปฏิบัติในวันนั้น ท่านทะไล ลามะ กระพุ่มมือ โค้งให้ที่ประชุมด้วยความรักและเคารพ เดินออกไปท่ามกลางฝูงชน มือของท่านยังกระพุ่มอยู่ และโน้มศีรษะขณะที่เดินออกไป ท่านโค้งต่ำเสียจนคนที่ไกลออกไปหน่อยจะมองไม่เห็นท่าน ท่านหายไปในทะเลแห่งศีรษะของฝูงชน ในระยะไกลอาจจะเห็นแนวที่ท่านเดินออกไปจากการขยับตัวของประชาชนที่หลีกทางให้ท่าน เหมือนตัวท่านหายไปเพียงแต่รู้ว่ามีอยู่
- อ่าน 2,370 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้