• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินอย่างไรเมื่อเป็นไตวายเรื้อรังและรักษาด้วยการล้างไต

ฉบับที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องการรู้จักกินเพื่อชะลอความเสื่อมของไตให้ได้นานที่สุด แต่ถ้าเราได้พยายามดูแลรักษาร่างกายด้วยการควบคุมอาหารและการให้ยาอย่างถึงที่สุด แต่ก็ยังไม่ได้ผลจนกระทั่งไตหมดสภาพการทำงาน ไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้แล้ว การรักษาในขั้นต่อไปคือการล้างไต หรือการผ่าตัดเปลี่ยนไต  ในฉบับนี้เราจะมาคุยกันต่อว่าถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะไตวายเรื้อรังที่ต้องล้างไตแล้ว จะกินอาหารอย่างไรดี

ทำความรู้จักการล้างไต
การล้างไตคือ การทำหน้าที่แทนไตในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และพยายามที่จะรักษาสมดุลของกรดด่าง เกลือแร่ และน้ำในร่างกายไว้ให้ได้ การล้างไตสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การล้างไตด้วยน้ำยาทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis, CAPD) หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)

การล้างไตทางช่องท้อง หรือที่เรียกว่า CAPD
  วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติก  ที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง จากนั้นก็ปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องทิ้งไป ช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องจะเป็นเวลาที่ของเสียที่มีอยู่ในเลือดค่อยๆ ซึมออกมาเพื่อกำจัดออกไป

โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ ๔ ครั้ง ช่วงที่มีน้ำยาในช่องท้องของเรายังสามารถทำงานหรือมีกิจกรรมได้ตามปกติ สายพลาสติกที่ฝังไว้ในช่องท้องและน้ำยาที่อยู่ในช่องท้องจะไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวด

ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถทำได้เองที่บ้าน ไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ  แต่ก็มีข้อเสียคือ หากไม่ระมัดระวังความสะอาดโดยเฉพาะในการเปลี่ยนถุงน้ำยาอาจเกิดการติดเชื้อได้ และการล้างไตด้วยวิธีนี้ทำให้มีการสูญเสียโปรตีนจำนวนมากออกมาทางน้ำยาในแต่ละวัน ดังนั้น  อาจเกิดภาวะขาดอาหารได้ถ้ากินอาหารไม่เพียงพอ

การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการฟอกเลือด เป็นการนำเลือดจากหลอดเลือดที่เตรียมไว้ออกจากร่างกายแล้ว ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสียของเครื่องไตเทียม เลือดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าร่างกายทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง วิธีนี้ต้องทำในโรงพยาบาลเท่านั้น

โดยปกติการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมต้องทำสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง และใช้เวลาครั้งละประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง  ข้อดีของวิธีนี้ คือผู้ป่วยไม่ต้องทำเอง และใช้เวลาในการล้างไตน้อยกว่า ส่วนข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลบ่อย และไม่ได้มีการขจัดของเสียอยู่ตลอดเวลาอย่างการล้างไตผ่านทางช่องท้อง

การล้างไตจะทำวิธีไหน ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค ตลอดจนความเพียงพอของเครื่องไตเทียม โดยทั่วไปแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบทั้งข้อดีและข้อเสียของทั้ง ๒ วิธี และแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้ แต่ผู้ป่วยและญาติเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะล้างไตหรือไม่ แล้วเลือกล้างไตวิธีใด ข้อสำคัญคือการรักษาทั้ง ๒ วิธีดังกล่าวข้างต้น  ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้มีการขจัดของเสียออกจากอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นแล้วการรักษาจะไม่ได้ผล

กินอย่างไรเมื่อมีการล้างไต
คนเป็นไตวายเมื่อได้รับการรักษาโดยการล้างไตแล้ว บางคนเข้าใจผิดคิดว่าสามารถกินอาหารได้ทุกอย่างตามสบาย ไม่ต้องควบคุมอาหารอีกต่อไป เพราะคิดว่ามีเครื่องมือมาช่วยในการขจัดของเสียในร่างกาย

ข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การล้างไตไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามไม่สามารถทดแทนการทำงานของไตได้ทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะโดยปกติไตของเราจะทำงานตลอดทั้งวันไม่เคยหยุด เฉลี่ยสัปดาห์ละ ๑๖๘ ชั่วโมง

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อช่วยขจัดของเสียออกจากเลือดแทนไตผู้ป่วย  ทำงานได้เพียง ๘-๑๒ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณเท่ากับ ๖-๗ เปอร์เซ็นต์        ของชั่วโมงการทำงานของไตปกติเท่านั้น ที่เหลือประมาณกว่า ๑๕๐ ชั่วโมงเป็นช่วงเวลาที่ของเสียยังค้างสะสมในร่างกาย

ส่วนการล้างไตทางหน้าท้องที่ทำเองได้ที่บ้านทุกวันก็มีประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียเพียง ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ของไตปกติเท่านั้น

ดังนั้น ภายหลังจากการล้างไตหรือการฟอกเลือดแล้ว ยังมีของเสียตกค้างอยู่ในร่างกายอีกมากมาย คนเป็นไตวายเมื่อได้รับการรักษาโดยการล้างไต  จึงควรรู้จักควบคุมอาหาร น้ำ และเกลือแร่อย่างถูกต้องด้วย

ผู้ป่วยไตวายที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไตเทียม  หรือล้างไตผ่านทางช่องท้อง โดยทั่วไปจะมีการสูญเสียสารอาหารต่างๆ ไปพร้อมๆ กับของเสียที่ถูกกำจัดออกด้วย โดยเฉพาะการเสียโปรตีน และกรดอะมิโนที่จำเป็นกับร่างกาย ดังนั้น คนเป็นไตวายที่ต้องล้างไตไม่ต้องจำกัดโปรตีนหรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากเหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้ล้างไต ในทางกลับกันควรกินมากขึ้นด้วย

โดยทั่วไปควรได้โปรตีนประมาณ ๑.๐- ๑.๒ กรัม ต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม หรือประมาณวันละ ๑๐-๑๒ ช้อนกินข้าว ในกรณีที่แพทย์ให้กินกรดอะมิโนที่จำเป็นเสริมกับอาหารด้วยนั้น ก็อาจจะไม่ต้องกินโปรตีนมากขึ้น

โปรตีนที่กินควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงที่ได้จากเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และไข่ขาว เพราะมีไขมันน้อย ย่อยและดูดซึมได้ง่าย สำหรับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่มีหนังและไม่ติดมัน ก็สามารถกินได้

การได้โปรตีนเพียงพอหรือไม่  สามารถตรวจสอบได้จากการเจาะเลือด  และตรวจหาโปรตีนในเลือดที่เรียกว่าแอลบูมิน (albumin) ซึ่งค่าการตรวจที่ดีควรจะได้ประมาณ        ๔ มิลลิกรัม / เดซิลิตร ถ้าเจาะเลือดแล้วพบว่ามีค่าแอลบูมินต่ำกว่านี้มาก ก็ต้องพยายามกินโปรตีนมากขึ้น การขาดโปรตีนนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อซูบผอม ภูมิต้านทานโรคต่ำ สุขภาพทรุดโทรม

นอกจากนี้ร่างกายควรได้รับพลังงานโดยรวมจากอาหารหรือที่เรียกว่าแคลอรีมากเพียงพอด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายนำสารโปรตีนมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงาน โดยทั่วไปควรได้ประมาณวันละ ๓๐-๓๕ กิโลแคลอรี ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. โดยได้จากทั้งอาหารประเภทข้าวแป้งและไขมัน อาหารประเภทแป้งสามารถกินได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปัง เป็นต้น

การที่จะรู้ว่าเราได้รับพลังงานจากอาหารเพียงพอหรือไม่ ให้ดูจากน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวในที่นี้หมายถึงน้ำหนักแห้ง (dry weight) คือน้ำหนักในภาวะที่ไม่มีการบวมน้ำ ถ้าพบว่าน้ำหนักตัวลดลงเรื่อยๆ ก็แสดงว่ากินอาหารที่ให้พลังงานไม่เพียงพอ ต้องพยายามกินมากขึ้น

นอกจากนี้  ควรเลือกกินอาหารประเภทข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสีแล้ว เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสน้อยลง คนเป็นไตวายเรื้อรังมักมีปัญหาการมีฟอสฟอรัสอยู่สูง       จึงต้องจำกัดปริมาณที่กิน อาหารที่มีฟอสฟอรัสอยู่มากคือ เมล็ดพืชต่างๆ  เช่น ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ไข่แดง คนเป็นไตวายเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว เพราะการสะสมฟอสฟอรัสในร่างกายมากๆ จะมีผลต่อระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และวิตามินดี ทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลียได้ อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะสั่งยาที่สามารถจับฟอสเฟต(ฟอสฟอรัส) ให้กินร่วมไปด้วยเพื่อบรรเทาปัญหานี้

คนเป็นไตวายที่รักษาด้วยการล้างไตยังต้องจำกัดการบริโภคเกลือแร่โซเดียมและโปตัสเซียมด้วย  การได้โซเดียมหรือกินเค็มมากเกินไปจะทำให้มีน้ำสะสมในร่างกายมากตามไปด้วย เมื่อมีน้ำมากจะเกิดความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หรือหัวใจวายได้ง่าย

ผู้เป็นไตวายเรื้อรังไม่ว่าจะล้างไตหรือไม่  ต้องจำกัดโซเดียมในอาหารไม่ให้เกิน ๒๐๐๐ มก / วัน หรือคิดเป็นแกลือแกงประมาณ ๑ ช้อนชา หรือน้ำปลา / ซีอิ๊ว ไม่เกิน             ๓-๔ ช้อนชา โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้น้ำปลาหรือซีอิ๊วในการประกอบอาหารได้มื้อละ ๑ ช้อนชา และไม่ให้มีการเติมเพิ่มอีกระหว่างการกิน

คนมีปัญหาไตวายเรื้อรังไม่แนะนำให้ใช้เกลือหรือเครื่องปรุงรสที่มีการใช้สารทดแทนโซเดียม (salt substitute)  เพราะจะมีการเติมโปตัสเซียมเข้าไปแทน ซึ่งคนเป็นไตวายมักจะมีปัญหาเรื่องโปตัสเซียมในเลือดสูงอยู่แล้ว
 
การมีโปตัสเซียมในเลือดสูงมากเกินไป  จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ผลไม้ส่วนใหญ่มักมีโปตัสเซียมสูง โดยเฉพาะกล้วย แคนตาลูป ฝรั่ง ทุเรียน ลูกเกด ลูกพรุนแห้ง เป็นต้น โดยทั่วไปจึงแนะนำให้คนเป็นไตวายที่ฟอกเลือด  กินผลไม้เฉพาะตอนเช้าของวันฟอกเลือดเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและธาตุอาหารอื่นๆ พร้อมกับโปตัสเซียมที่กินเกินไปนั้น  ถูกขับออกในระหว่างการฟอกเลือดด้วย

คนเป็นไตวายที่ต้องล้างไตมักพบปัญหาเรื่องภาวะน้ำเกิน จึงต้องระวังเรื่องปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป เพราะถ้าไม่ควบคุมปริมาณน้ำ จะมีผลทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และมีอาการบวมมากขึ้น ข้อแนะนำทั่วไปให้ดื่มน้ำได้เท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวัน บวกกับอีกวันละ ๕๐๐ ซีซี ดังนั้น  หากไม่มีปัสสาวะเลยหรือมีน้อยมาก สามารถดื่มน้ำได้ไม่เกินวันละ ๕๐๐ ซีซี หรือ ประมาณ 1/2 ขวดแม่โขง ปริมาณน้ำที่กล่าวถึงนี้รวมทั้งน้ำเปล่า เครื่องดื่มทุกชนิด และอาหารทุกอย่างที่เป็นของเหลวด้วย

ดังนั้นจึงต้องระวังอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ข้าวต้ม โจ๊ก ต้มจืด ต้มยำ แกงเขียวหวาน ชา กาแฟ แตงโม สับปะรด เป็นต้น เมื่อรู้สึกกระหายน้ำควร     จิบน้ำทีละน้อย หรืออมน้ำแข็งให้ค่อยๆละลาย (ปริมาณของน้ำแข็งต้องรวมกับปริมาณน้ำที่ควรดื่มด้วย) และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำมากขึ้น

การจะรู้ว่าเราได้รับน้ำเกินไปหรือไม่ ให้ดูจากน้ำหนักตัว ถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแสดงว่ามีน้ำเกิน สำหรับคนที่ฟอกเลือดน้ำหนักสามารถขึ้นได้ไม่เกินวันละ ๑ กก. เพราะถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในวันที่ฟอกเลือดจะต้องพยายามดึงน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตะคริว ความดันเลือดต่ำลงมากได้ 

ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไตเทียม  หรือล้างไตผ่านทางช่องท้อง  ควรได้รับการตรวจเลือดสม่ำเสมอ  ว่ามีสารประเภทใดในเลือดที่สูงหรือต่ำกว่าปกติมากหรือไม่ เพื่อที่จะได้ควบคุมได้ถูกต้อง ถ้าเป็นไปได้ควรปรึกษากับนักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการ  ถึงวิธีปฏิบัติตนในเรื่องอาหารการกินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน เพราะทำให้ภาวะแทรกซ้อนลดลง และมีชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้น  


 

ข้อมูลสื่อ

324-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
เรื่องน่ารู้
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ