• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหาร สุขภาพ และมิติทางจิตวิญญาณในแดจังกึม

ไม่บ่อยครั้งนักที่ผมจะติดตามชมละครโทรทัศน์อย่างใจจดใจจ่อ จนเรียกได้ว่าหากไม่ได้ดูจะรู้สึกเหมือนชีวิตขาดอะไรไปบางอย่าง
“แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” มีสาระและแง่คิดดีๆ ที่เห็นว่า ทุกๆ คนควรจะได้ดู โดยเฉพาะคนที่เป็นหมอเป็นแพทย์ รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ ทั้งแพทย์สมัยใหม่ แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน เพราะละครเรื่องนี้สอนจิตวิญญาณของการเป็นแพทย์ได้อย่างน่าสนใจยิ่งกว่าการท่องจำจรรยาบรรณของแพทย์แบบที่เราใช้อยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบัน

สำหรับคนทั่วไป ละครเรื่องนี้ได้สอดแทรกความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพในมุมมองของคนตะวันออกได้อย่างแยบคาย แม้ว่าการนำเสนอจะถูกปรับให้เหมาะกับโลกสมัยใหม่ที่เชื่อมั่นกับวิธีคิดเชิงเหตุผลและการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์มากกว่าที่จะวางอยู่บนฐานวิธีคิดแบบดั้งเดิมไปทั้งหมดก็ตาม
      
อาหารคือยาในชีวิตประจำวัน

เมื่อแรกที่ได้ชมละครแดจังกึมโดยไม่ได้อ่านเรื่องย่อหรือรู้เค้าโครงของละครเรื่องนี้มาก่อน คิดว่าละครเรื่องนี้ต้องการอวดชาวโลกให้รู้จักกับศิลปะการอาหารชั้นสูงของเกาหลีในยุคโบราณ เพราะความละเมียดละไมและพิถีพิถันของเหล่าบรรดาซังกุงที่เรารับรู้จากตัวละครในเรื่องล้วนชวนให้คิดไปในทำนองนั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรุงแต่งเพื่อให้รสชาติอาหารเป็นที่ถูกอกถูกใจของพระราชา พระพันปี พระมเหสี พระโอรส และพระธิดา ซึ่งดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่ต่อมรับรสที่ลิ้นของผู้ทรงอำนาจในราชสำนักสัมผัสกับอาหารที่ถวายจะเป็นช่วงเวลาแห่งการชี้ชะตาความเป็นไปของเหล่าซังกุงและนางกำนัลห้องเครื่องมา จนทำให้คนดูต้องอดลุ้นไปด้วยไม่ได้ 

แต่แล้วในฉากที่ซอจังกึมต้องทำหน้าที่ปรุงอาหารให้ราชทูตจากต้าหมิงซึ่งมีปัญหาระบบย่อยอาหาร เธอซึ่งเคยพิสูจน์ฝีมือในการปรุงอาหารในฉากก่อนหน้านี้ว่าไม่เป็นสองรองใคร กลับบอกให้เรารู้ว่า รสชาติเป็นเพียงเหรียญด้านเดียวของอาหาร ในขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้ปรุงอาหารต้องรู้ว่า อาหารมีทั้งคุณและโทษ โดยเฉพาะกับ             ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว จำเป็นต้องกินอาหารให้ถูกกับโรคมากกว่าที่จะกินอาหารให้ถูกกับลิ้น

ซอจังกึมเลือกปรุงอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของราชทูตต้าหมิงแทนที่จะทำอาหารเลิศรสตามใจปากของผู้กิน แม้จะต้องฝืนทนกับอาหารที่ไม่ชอบ แต่เพราะต้องการพิสูจน์ว่า อาหารจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นจริงตามที่ซอจังกึมให้สัญญาไว้หรือไม่ 

ในที่สุดราชทูตต้าหมิงก็ประจักษ์ด้วยตนเองว่า อาหารที่เหมาะกับสภาพของร่างกายคือยาชั้นเลิศในชีวิตประจำวัน ในขณะที่อาหารที่ถูกลิ้นแต่ทำลายสุขภาพก็ไม่ผิดกับยาพิษที่ทำลายร่างกายไปทีละน้อยนั่นเอง

ดังนั้น ในแง่นี้เห็นว่าแดจังกึมบอกกับเราว่า อาหารนี่แหละคือยาในชีวิตประจำวันของเรา หากเรากินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของร่างกาย เราอาจเจ็บป่วยได้           และหากเรามีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมเช่นนั้นเป็นเวลานาน โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นย่อมยากที่จะรักษาให้หายได้โดยใช้แต่ยาเพียงอย่างเดียว
การแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาโดยการปรับพฤติกรรมการกินอาหารจึงเป็นหัวใจของการแพทย์ ไม่เฉพาะการแพทย์เกาหลีซึ่งมีรากฐานมาจากการแพทย์จีน แต่รวมถึง         การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย การแพทย์ทิเบต และการแพทย์แผนไทยของเราด้วย 

ผมจะลองขยายความเรื่องการกินอาหารให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายตามทฤษฎีการแพทย์แบบดั้งเดิมพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้
ในคัมภีร์วรโยคสารซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในตำราการแพทย์แผนไทยได้อธิบายถึง รสะลักษณะ มีเนื้อความว่า รสมี ๖ ประการ คือ รสหวาน  รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสขม และรสฝาด ซึ่งรสทั้ง ๖ นี้ จะทำให้เกิดคุณและโทษได้ 
    
ถ้ากินรสที่ถูกต้องก็เป็นคุณต่อร่างกาย ทำให้หายจากโรค 
ถ้ากินรสที่ไม่ถูกต้องก็เป็นโทษต่อร่างกายทำให้เกิดโรค 
ท่านได้กล่าวถึงคุณของรสทั้งหก ซึ่งแต่ละรสมีผลต่อธาตุภายในร่างกายที่แตกต่างกัน ส่วนที่เป็นโทษท่านกล่าวว่า 
รสเผ็ด รสขม และรสฝาด ทำให้ลมกำเริบ 
รสเผ็ด รสเปรี้ยว และรสเค็มทำให้ดีกำเริบ 
ส่วนรสหวาน รสเปรี้ยว และรสเค็มทำให้เสลดกำเริบ
 
ในตำราการแพทย์อายุรเวทได้กล่าวถึงการที่คนแต่ละคนมีธาตุเจ้าเรือนที่แตกต่างกัน เนื่องจากร่างกายมี ดี ลม เสลด ในสัดส่วนที่ต่างๆ กัน ทำให้บางคนมีลมเป็นเจ้าเรือน บางคนมีดีเป็นเจ้าเรือน บางคนมีเสลดเป็นเจ้าเรือน บางคนมีทั้งลมและดี หรือลมและเสลด หรือดีและเสลดเป็นเจ้าเรือน 

คนที่มีเจ้าเรือนแตกต่างกันนี้ต้องการอาหารและยาที่มีรสแตกต่างกัน และต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วยไม่ว่าจะเป็น ฤดูกาล (ร้อน ฝน หนาว) เวลา (เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ) ถิ่นที่อยู่ (เป็นภูเขา ป่าดง แห้งแล้ง ใกล้ทะเล ลุ่มน้ำ) เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น คนที่มีลมเป็นเจ้าเรือน ซึ่งมีลักษณะบางอย่างเด่น เช่น มีรูปร่างผอม ผิวเนื้อหยาบ ผมบาง  ช่างพูด จิตใจโลเลเปลี่ยนแปลงง่าย ทำอะไรรวดเร็ว คนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังการกินอาหารที่มีรสเผ็ด รสขม และรสฝาด (เช่น การดื่มน้ำชาเป็นประจำ) การกินอาหารหยาบ (เช่น ผัก ผลไม้ดิบ และหยาบมากเกินไป) เพราะจะทำให้ลมกำเริบได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เวลาตอนเย็น หรืออยู่ในที่ๆ มีลมเย็นและแห้ง เป็นต้น

ในตำราการแพทย์ทิเบตกล่าวไว้ว่า คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคลม เช่น มีอาการหาว ถอนหายใจและยืดแขนขาบ่อย ปวดในสะโพก บั้นเอว กระดูก และข้อต่อ อาเจียนเป็นลมเปล่า ปวดแสบท้องเวลาหิว  ควรกินอาหารจำพวก กระเทียม หอม น้ำมันจากเมล็ดพืช น้ำตาลโมลาส น้ำส้มสายชู นมร้อน เป็นต้น 

ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เสียยืดยาวก็เพราะต้องการจะบอกผู้อ่านว่า ความรู้ของคนตะวันออกที่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าอาหารอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับคนหรือผู้ป่วยประเภทใด   ไม่ใช่กำหนดจากความเชื่อที่สืบต่อกันมาโดยไม่มีฐานทฤษฎีรองรับ เพียงแต่ฐานทฤษฎีที่ว่านี้มันเป็นคนละชุดกับทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ภาษาและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อองค์ความรู้แบบดั้งเดิมนั้น มีผู้คนจำนวนน้อยที่สามารถเข้าถึงได้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงประสิทธิภาพในการใช้อายตนะภายในเพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ ทางประสาทรับรู้ของเราซึ่งทื่อลงไปทุกทีสวนทางกับการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยเราได้สารพัด

ทุกวันนี้ เรามีความรู้เกี่ยวกับ ลม ดี เสลด น้อยและแคบลงไปทุกที เรามีความไวของประสาทรับรสและดมกลิ่นซึ่งช่วยในการแยกรสของอาหารและตัวยาไม่ว่าจะเป็นส่วนของพืชและสัตว์น้อยลงไปด้วยเช่นกัน หากจำตอนที่ซอจังกึมยังเป็นเด็ก แต่สามารถแยกแยะส่วนประกอบของน้ำแกงที่ปรุงขึ้นว่ามีส่วนผสมมาจากอะไรบ้าง เราก็คงพอนึกออกว่าการชิมรสและแยกแยะรสของคนสมัยก่อนช่างพิสดารและละเอียดอ่อนเพียงใด

สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนถ่ายทอดในชีวิตประจำวันจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ใช่การถ่ายทอดแบบที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบัน คือ เน้นการทำออกมาเป็นสูตรตำรับอาหารที่ระบุปริมาตรปริมาณซึ่งชั่งตวงวัดได้อย่างแม่นยำ แต่กลับไวกับความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนน้อยลง
    
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้คนหันมาสนใจภูมิปัญญาตะวันออกมากขึ้น ทุกวันนี้เราจึงหาหนังสือที่เขียนถึงเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น หากท่านผู้อ่านสนใจที่จะศึกษาในเรื่องนี้      แนะนำให้ไปหาหนังสือ “กินตามธาตุ” ของ ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ ซึ่งเป็นหมออายุรเวทที่เอาจริงเอาจังผู้หนึ่งมาอ่านดู ก็จะเข้าใจรายละเอียดมากขึ้น 
    
จิตวิญญาณของการเป็นแพทย์
ตัดภาพไปกล่าวถึงตอนที่ซอจังกึมถูกเนรเทศไปอยู่เกาะจี้โจว เธอพบว่าหนทางเดียวที่จะสามารถกลับเข้าวังเพื่อสะสางมลทินให้กับแม่และฮันซังกุงก็คือการเรียนเป็นแพทย์  ซึ่งทำให้เธอมุมานะที่จะเป็นแพทย์ผู้มีความสามารถให้ได้ แต่ความปรารถนาที่มาจากความแค้นไม่ได้ทำให้เธอสามารถเป็นแพทย์ที่ดีได้ 

ในช่วงที่เธอสอบแข่งขันเพื่อเป็นแพทย์หญิงในวังหลวง เราจะเห็นว่าเธอถูกทดสอบอย่างหนักว่าเธอเหมาะที่จะเป็นแพทย์รักษาคนหรือไม่ รวมทั้งเรียนรู้ว่าความเป็นคนเก่งที่รู้และท่องจำตำราแพทย์ได้ ไม่เพียงพอที่จะเป็นแพทย์ที่ดีได้ 

ซินปีเพื่อนของเธอซึ่งเก่งและฉลาดน้อยกว่า แต่เป็นผู้ที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะเมื่อตอนเป็นเด็กมีสุขภาพอ่อนแอ เป็นเด็กขี้โรค เมื่อมีหมอรักษาเธอให้แข็งแรงขึ้น จึงตั้งปณิธานว่าจะต้องเป็นหมอให้ได้ เมื่อได้เป็นหมอตามที่ปรารถนาจึงคอยดูแลสอบถามอาการผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่ เรื่องราวในช่วงนี้ของเรื่อง คิดว่าช่วยสะท้อน              จิตวิญญาณของการเป็นแพทย์ที่น่าสนใจและควรเอามาเป็นแบบอย่างจริงๆ

ในสังคมแบบดั้งเดิม การเข้าสู่การเป็นหมอมีที่มาได้หลายทาง บางคนอาจเป็นหมอเพราะมีเทพมาเข้าฝันแล้วบอกให้ทำหน้าที่นี้เพื่อช่วยเหลือผู้คน บางคนเป็นหมอเพราะตัวเองเคยเจ็บป่วยจนใกล้ตาย ต่อมามีหมอใจบุญช่วยรักษาจนรอดตายมาได้ จึงปาวารณาตัวศึกษาวิชาหมอเพื่อรักษาคนอื่นต่อๆ กันไป บางคนก็เรียนวิชาหมอสืบต่อจากบรรพบุรุษ 
 
ในราชสำนักเกาหลีใช้วิธีการสอบคัดเลือกเอาคนที่มีความรู้ทางหมอในระดับหนึ่งมาเป็นหมอฝึกหัดแล้วฝึกฝนให้เป็นหมอที่เชี่ยวชาญยิ่งๆ ขึ้น 

ในการแพทย์สมัยใหม่ การเข้าสู่การเป็นหมอใช้วิธีการสอบคัดเลือกเอาคนเก่งมาเรียนเป็นแพทย์ ซึ่งแต่ละคนก็มีแรงจูงใจในการเข้าสู่การเป็นแพทย์ไม่เหมือนกัน                 แรงจูงใจที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และทำให้จิตวิญญาณของการเป็นแพทย์แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม
แม้ในแดจังกึมจะไม่ได้สอดแทรกศรัทธาความเชื่อในการเรียนวิชาการแพทย์แผนดั้งเดิม แต่ขอกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ว่า เรามีความเชื่อความศรัทธาว่าวิชาแพทย์เป็นวิชาที่มีครูบาอาจารย์  ใครนำวิชานี้ไปใช้อย่างผิดๆ เช่น ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยหลอกลวงหรือเอาเปรียบคนไข้ แทนที่จะใช้เพื่อสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ หมอคนนั้นจะไม่เจริญก้าวหน้าและมักมีอันเป็นไป 

ด้วยการมองความจริงแบบที่เห็นว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติคอยคุ้มครองดูแลผู้กระทำความดี และลงโทษผู้กระทำความชั่ว ทำให้หมอที่มีครูบาอาจารย์ไม่กล้าที่จะกระทำผิดครู 

แต่เมื่อการมองความจริงต่างไปจากเดิม ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ที่เป็นธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ วิชาการแพทย์เป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ทำให้กลายเป็นวิชาของสาธารณะที่ใครที่มีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนก็สามารถเป็นแพทย์ได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์แต่ดั้งเดิม การควบคุมทางจริยธรรมกลายเป็นเรื่องของกลุ่มวิชาชีพโดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ เราก็เริ่มเห็นจิตวิญญาณของแพทย์แกว่งไกวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากขึ้น 
    
เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูบทบาทของหมอเมืองซึ่งก็คือหมอพื้นบ้านในภาคเหนือของเรา พบว่ามีหมอเมืองกลุ่มหนึ่งกำลังฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือผู้ป่วยแบบ “ยาขอหมอวาน” กันอย่างเข้มแข็ง พบว่าสิ่งที่ทำให้หมอเมืองเหล่านี้ต้องกลับมาแสดงบทบาทหมอชาวบ้านก็คือวิกฤตการณ์เอดส์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๐ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ถูกทอดทิ้งและเป็นที่รังเกียจของสังคมและชุมชน
    
หมอเมืองได้เรียนรู้พร้อมกับผู้ป่วยว่า ความรู้ที่พวกเขาได้รับสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์บวกกับจิตใจที่ปรารถนาจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ พร้อมๆ กับมีความมั่นใจว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่เป็นทางออกให้กับระบบสุขภาพของชุมชนได้ 
    
จิตวิญญาณของหมอเมืองที่กล่าวถึงนี้ คงไม่ต่างกับจิตวิญญาณของหมอจังกึมในขณะที่เธอกำลังช่วยเหลือชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคระบาดซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีต้นตอมาจากอะไร

เธอได้ดีไม่ใช่เพียงเพราะลิ้น
ตบท้ายเรื่องด้วยการกล่าวถึงคำโฆษณาเชิญชวนของละครเรื่องนี้ที่ว่า แดจังกึม “ผู้หญิงที่ใช้ลิ้นจนได้ดี” นั้น ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าใดนัก เพราะหลังจากชมละครจนจบ คิดว่าแม้เธอจะมีประสาทรับรสที่ละเอียดอ่อน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จ
เธอได้ดีเพราะเธอมีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้คนต่างหาก และเธอก็มิได้ติดยึดกับสิ่งที่เรียกว่าได้ดีนั้นด้วย

จริงอยู่ที่ว่าในตอนแรก เธอปรารถนาจะเป็นซังกุงสูงสุดตามที่แม่ของเธอสั่งเสียไว้ก่อนสิ้นใจ แต่เมื่อเธอได้เรียนรู้จากหมอจังด๊อก หมอชองอุนแป๊ด หมอซินอิ๊กบี รวมทั้งซินปี จุดมุ่งหมายของเธอก็เปลี่ยนไป เมื่อเธอสามารถชำระมลทินที่แม่ของเธอและฮันซังกุงถูกใส่ร้ายป้ายสีได้สำเร็จแล้ว เธอก็แน่วแน่กับความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้คนเจ็บป่วยโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสรรเสริญยิ่งกว่าตำแหน่งแดจังกึมที่พระราชาทรงแต่งตั้งให้ในฐานะหมอหญิงประจำพระองค์คนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีเสียอีก เรื่องราวในละครที่สวรรค์มีตาและมองเห็นคุณค่าของเธอ จึงทำให้เธอซึ่งมีดีได้ดีสมความปรารถนาของผู้ชม  
    
ลองคิดในทางกลับกันว่า หากพระราชาในเรื่องนี้ไม่มีปัญญาและความกล้าหาญเพียงพอที่จะแหวกราชประเพณีในการแต่งตั้งผู้หญิงเป็นขุนนาง เรื่องราวของหมอหญิงที่อุทิศตนเช่นเธอก็คงไม่ได้รับความสนใจและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเกาหลี ซึ่งก็ทำให้เราอาจไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่านี้จากประวัติศาสตร์เช่นกัน
    
ดังนั้น การยกย่องสรรเสริญคนดีโดยพระราชา นอกจากจะแสดงถึงพระบารมีของพระองค์แล้ว ยังเกิดคุณประโยชน์ที่กว้างขวางต่อผู้คนที่ใฝ่ในคุณงามความดีอีกด้วย 
    
ท้ายที่สุดนี้ ทราบมาว่าที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อาจารย์ที่นั่นได้ใช้แดจังกึมเป็นสื่อการสอนจริยธรรมให้กับนักศึกษา จึงอยากเชิญชวนให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ ลองพิจารณาดูว่าจะนำกรณีของแดจังกึมไปขยายผลในการสร้างจิตวิญญาณของการเป็นแพทย์กันได้อย่างไรบ้าง
    
หากเราได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ในแดจังกึม และมีแรงบันดาลใจที่จะปลุกสำนึกทางจิตวิญญาณของการแพทย์ให้มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ก็นับได้ว่าละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ละครเรื่องหนึ่งจะสามารถทำได้แล้ว
     
     
 


 

ข้อมูลสื่อ

324-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
พฤษภาคม 2549