• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (5) อาสนะ

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (5) อาสนะ 


เราต้องตระหนักว่ากลไกตอบสนองต่ออิริยาบถ (postural reflexes) มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมมัสเซิลโทน และส่วนใหญ่ ก็ทำงานโดยการกระตุ้นของตัวรับความรู้สึกตามส่วนปลายของอวัยวะต่างๆ ในกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น ทั้งหมดนี้เกิดกับสัตว์ทั้งหลาย แต่มีข้อสังเกตสำหรับตัวมนุษย์เอง ที่วิวัฒนาการมายืน เดิน 2 ขา ที่วิวัฒนาการจนแขนและมือสามารถทำการจับ คว้า ได้อย่างซับซ้อนกว่าสัตว์ 4 ขา ทำให้สมอง cerebral cortex มีการพัฒนามากขึ้น จนไปแทรกแซงการทำงานของสมองส่วนล่างมากขึ้น ทำให้สมองส่วนล่าง สูญเสียบทบาทในการควบคุม และกลายเป็นรองไป

ดังนั้น สัตว์ชั้นที่ต่ำกว่าลิง หากได้รับบาดเจ็บที่สมองส่วนบน แต่ทาลามัสยังสมบูรณ์อยู่ ก็จะสามารถคงความเป็นปกติของมัสเซิลโทนในอิริยาบถ 4 ขาได้ สามารถเดิน 4 ขาได้เป็นปกติ แต่หากเกิดการบาดเจ็บที่สมองส่วนบนกับลิงและมนุษย์ จะทำให้อิริยาบถผิดปกติไป และไม่สามารถเดินได้

จากข้อสังเกตข้างต้น ทำให้เรามีข้อมูล ดังนี้

1. ระดับของมัสเซิลโทนนั้น ควบคุมโดยกลไกตอบสนองต่ออิริยาบถ (postural reflex) เป็นหลัก

2. กลไกตอบสนองต่ออิริยาบถเหล่านี้ ทำงานร่วมกับสมองส่วนล่าง ได้แก่ เมดัลลา (medulla) พอนส์ (pons) สมองน้อย ก้านสมอง และ เบซัลแกงเกลีย (basal ganglia)

3. รูปแบบของอิริยาบถที่กำกับโดยศูนย์สมองส่วนล่างนี้พัฒนาสืบเนื่องมาตามวิวัฒนาการ และส่วนไหนที่เด่นชัดกว่า ก็จะมีอำนาจเหนือส่วนเดิม

4. ขณะที่สัตว์ชั้นที่ต่ำกว่าลิงหากสมองส่วนที่เหนือ ทาลามัสบอบช้ำ ก็ยังสามารถเดินได้ คงอิริยาบถได้ แต่สำหรับลิงและมนุษย์หากสมองส่วนนั้นบอบช้ำ จะไม่สามารถเดินได้ ไม่สามารถคงอิริยาบถตามปกติได้ กล่าวคือ การเดิน อิริยาบถขึ้นกับความสมบูรณ์ของสมองส่วนบน

จากการพิสูจน์ข้างต้น เรามีข้อสรุป ดังนี้

1. ในคนปกติที่ระบบประสาทส่วนกลางไม่โดนทำลาย สิ่งที่มารบกวนอิริยาบถ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการกีดขวางจากศูนย์ประสาทส่วนบน โดยเฉพาะจากเปลือกสมองใหญ่ (cerebral cortex)

2. ในการฟื้นฟูกลไกอิริยาบถที่ผิดปกติให้ทำงานประสานกันเหมือนเดิม จะต้องลดการแทรกแซงของศูนย์ประสาทส่วนบนต่อศูนย์ประสาทส่วนล่างที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องอิริยาบถ

3. เมื่อระบบประสาทส่วนกลางถูกกระทบกระเทือน การแทรกแซงการทำงานของสมองส่วนล่างก็น้อยลง สมองส่วนล่างทำงานได้เป็นอิสระมากขึ้น ทำให้รูปแบบของอิริยาบถเปลี่ยนไป แต่เราก็ถือว่าอิริยาบถนั้นผิดปกติ เพราะมนุษย์ได้วิวัฒน์สูงขึ้นไปกว่าการจะให้สมองส่วนล่างควบคุมอิริยาบถโดยอิสระ

ข้อสรุปทั้ง 3 นี้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมอาสนะจึงมีท่าแปลกๆ และอธิบายว่าทำไมผู้ฝึกท่าโยคะควรจะลดความคิด ลดความพยายามในการฝึกท่า อธิบายว่าอย่างไหนดีกว่า อย่างไร และทำไมเมื่อเราเข้าสู่ท่าแล้ว นิ่งอยู่ได้ด้วยการขัดล็อกตามที่กำหนดแล้ว เราควรถอนความตั้งใจออกจากท่า ไปใส่ใจกับสภาวะอนันต์ หรือ ananta-samapatti ความตั้งใจนั้นมาจากการทำงานของสมองส่วนบน ซึ่งในที่นี้เราได้อธิบายให้เป็นที่กระจ่างว่าต้องหลีกเลี่ยงมันเพื่อให้สมองส่วนล่างได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ หรือแม้ คลายความตั้งใจแล้ว หากยังคงวนเวียนอยู่กับอิริยาบถของเราโดยรู้สึกว่าเราอยู่ในท่าทางที่ผิดปกติ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สมองส่วนบนมารบกวนได้เช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้เอง ปตัญชลีจึงแนะนำให้ผู้ฝึกถอนจิตออกจากอิริยาบถ ไปอยู่กับส่วนอื่น ananta samapatti บ้างอาจสงสัยว่าทำไมปตัญชลีจึงระบุเป็นการเฉพาะให้นำจิตไปรู้อยู่กับสภาวะอนันต์ แทนที่จะไปทำอะไรก็ได้ คงจะเป็นเพราะ (1) ถ้าให้จิตไปอยู่กับความคิดอื่นๆ ก็อาจนำไปสู่อารมณ์ ซึ่งก็ทำให้สมองส่วนบนมารบกวนอยู่ดี (2) การนำจิตไปกำหนดที่สภาวะอนันต์ โดยตัวมันเองเป็นการผ่อนคลายที่ดี กระบวนการนี้เรียกอีกชื่อว่า mahahradanusandhana หมายถึง การมีสมาธิอยู่กับมหาสมุทร mahahrada แปลว่าห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ nusandhana แปลว่าสมาธิ ด้วยการทำเช่นนี้ ผู้ฝึกจะมีความรู้สึกเหมือนกำลังลอยอยู่เหนือผิวน้ำของมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ด้วยความ ผ่อนคลาย เป็นเพียงหยดหนึ่ง เป็นเพียงการกระเพื่อมไหวของริ้วคลื่นเล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของห้วงมหาสมุทร ความรู้สึก "ดั่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทร" นี้ คงต้องฝึกด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะรับรู้ได้ว่าเป็นอย่างไร

ข้อมูลสื่อ

329-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 329
กันยายน 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์