กล้วย...ลดอันตรายจากความดันเลือด
ผลกล้วยสุกอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ ๓ ชนิด คือ ซูโครส ฟรักโทส และกลูโคส และมีเส้นใยอาหาร ให้พลังงานทันทีและอยู่ได้นาน เป็นอาหารของแบคทีเรียพวกโพรไบโอติกที่ช่วยการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ใหญ่ ผลกล้วยใช้เป็นอาหารได้ทั้งสุกและดิบ ช่อดอกที่เรียกว่าหัวปลีอุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เหง้า ลำต้น ใบ... คุณรู้จักกล้วยแต่เพียงแค่นี้หรือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa sapientum Linn., Musa paradisiaca var sapientum (Linn.)O. Kutze.
ชื่อวงศ์ Musaceae
ชื่ออังกฤษ Banana, Plantain
ชื่อท้องถิ่น Banana ประเทศไทยมีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้ กล้วยไข่ กล้วยใต้กล้วยนาก กล้วยน้ำว้า กล้วยมณีอ่อง กล้วยเล็บมือ กล้วยส้ม กล้วยหอม กล้วยหอมจันทน์ เจก มะลิอ่อง ยะไข่ สะกุย แหลก
Plantain ประเทศไทยได้แก่ กล้วยหักมุก กล้วยหิน
กล้วยเป็นพืชล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ส่วนลำต้นบนดินเกิดจากกาบใบมาหุ้มซ้อนกันเป็นลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่และยาว ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ท้องใบมีสีนวล ดอกออกเป็นช่อ เรียกว่า หัวปลี แต่ละช่อย่อยประกอบด้วยใบประดับขนาดใหญ่ที่มีสีม่วงแดงหุ้มอยู่ ผลรวมกันเป็นเครือ แต่ละเครือจะมีหลายหวีมารวมกัน กล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันปลูกมากกว่า ๑๓๐ ประเทศทั่วโลก กล้วยแบ่งตามการกินผลออกเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
กล้วยกินผลสุก มีทั้งกล้วยมีเมล็ดและไม่มีเมล็ด มีทั้งสุกปอกกินได้เลย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่
กล้วยปรุงผลสุก หรือ plantain ต้องนำผลสุกไปผ่านความร้อนก่อนจึงจะกินได้เช่น กล้วยหักมุก
กล้วยเป็นพืชสารพัดประโยชน์ แต่บทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ในด้านสุขภาพเท่านั้น
ผลกล้วยเป็นอาหารยอดนิยมอันดับ ๑ ของโลก กล้วยธรรมดาเป็นผลไม้ที่มียอดขายอันดับ ๑ ในโลก กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เพราะสามารถหาซื้อได้ตลอดปี พันธุ์ที่จำหน่ายคือพันธุ์คลาเวนดิช ปลูกในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนประเทศเขตร้อน เช่น ในทวีปอเมริกาใต้และประเทศอินเดียจะใช้ผลกล้วยกลุ่มแพลนเทน (กลุ่มกล้วยหักมุก) ที่มีแป้งมากเป็นอาหารหลักเหมือนที่ชาวยุโรปกินมันฝรั่งเป็นอาหาร และพบว่ามีรสชาติคล้ายคลึงกัน ผลกล้วยอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ธาตุโพแทสเซียม แมงกานีส วิตามินซี และบี ๖ แต่มีไขมันอิ่มตัว โคเลสเตอรอลและธาตุโซเดียมต่ำ การกินกล้วยสุก ๑ ผล (๑๖๐ กรัม) ให้พลังงาน ๑๔๐ แคลอรี เหมาะสำหรับคนทุกวัย
เซลล์ประสาทสมองและระบบประสาทอื่นๆ ใช้สารเคมีที่เรียกสารนำกระแสประสาท (neurotransmitter) สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน สารเคมีเหล่านี้ถูกปลดปล่อยจากปลายเซลล์ประสาทหนึ่งๆ เมื่อได้รับกระแสประสาทเดินทางผ่านช่องว่าง (gap) ไปสู่เซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่งเพื่อเปลี่ยนสภาพเยื่อหุ้มเซลล์ปลายทางให้ทำหน้าที่ต่อไป ซีโรโทนินเป็นสารเคมีข้างต้นชนิดหนึ่ง สร้างมาจากกรดอะมิโนทริปโทเฟนซึ่งร่างกายได้มาจากอาหาร พบซีโรโทนินได้ในสมอง กระแสเลือด และชั้นเยื่อบุกระเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหาร
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ งานวิจัยเกี่ยวกับซีโรโทนิน พบว่า สารนี้ควบคุมการนอนหลับ ความอยากอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด การหลั่งฮอร์โมนบางชนิด และการรับรู้ความเจ็บปวด ดังนั้น สารซีโรโทนินจึงเกี่ยวข้องกับร่างกายหลายสภาวะ อาทิ ปวดศีรษะไมเกรน ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ ปัจจุบันเป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าอาการซึมเศร้าของคนเรานั้นเกิดจากปริมาณสารนำกระแสประสาทไม่สมดุล พบว่าการมีสารซีโรโทนินในปริมาณต่ำเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในการเกิดอาการซึมเศร้านี้ ปัจจุบันมีการศึกษาหญิงที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดบุตร พบว่ากลุ่มที่แสดงอาการซึมเศร้า (post-partum blue) มีปริมาณกรดอะมิโนทริปโทเฟนในสมองต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่แสดงอาการทางคลินิก จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนความเชื่อที่ว่า การกินอาหารที่มีกรดอะมิโนทริปโทเฟนจะช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้ส่วนหนึ่ง กล้วยสุกมีกรดอะมิโนทริปโทเฟนในปริมาณสูงกว่าอาหารโปรตีนอื่นๆ จากการสำรวจแบบสอบถามในกลุ่มผู้มีอาการซึมเศร้า พบว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมากรู้สึกดีขึ้นหลังการกินกล้วยสุก เชื่อว่ากรดอะมิโนทริปโทเฟนในผลกล้วยถูกเปลี่ยนเป็นสารซีโรโทนินที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย ทำให้มีอารมณ์ผ่องใสและรู้สึกมีความสุขนั่นเอง
บทความที่ได้จากมหาวิทยาลัยอะลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า นักวิจัยได้พบว่าถ้าบุคคลใดๆ มีสารซีโรโทนินในปริมาณที่สูงขึ้นจะมีความอยากอาหาร น้อยลง ดังนั้น ถ้ากินกล้วยสุกนอกจากจะอารมณ์ดีแล้วอาจจะช่วยควบคุมอาหารได้อีกด้วย ถ้าคุณมีรูปร่างที่ดีสมส่วนคุณคงจะไม่ซึมเศร้าอีกอย่างแน่นอน เมื่อร่างกายมีสารซีโรโทนินมากขึ้น นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลายแล้วก็จะเกิดอาการง่วงนอน ดังนั้น การกินกล้วยน้ำว้าสุกเป็นของว่างหลังอาหารเย็นก็อาจช่วยให้บางคนเอาชนะอาการนอนไม่หลับได้
ผลกล้วยสุกกับความดันเลือดสูง
การศึกษาด้านระบาดวิทยาและการป้องกันโรคจำนวนมากพบว่า การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมมีผลลดค่าความดันเลือด องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศแล้วว่า "อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและมีโซเดียม (เกลือ) ต่ำ อาจลดความเสี่ยงจากโรคความดันเลือดสูงและหลอดเลือดแตกได้" กลุ่มผู้มีความดันเลือดสูงที่ได้รับโพแทสเซียมมีความดันเลือดที่ลดลงทั้งความดันช่วงบน (ไดแอสโตลี) และช่วงล่าง (ซิสโตลี)
แหล่งของโพแทสเซียมที่ดีที่สุด คือ ได้มาจากอาหาร โพแทสเซียมช่วยการทำงานของหัวใจและควบคุม สมดุลของน้ำในร่างกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักดื่มกาแฟ กินแป้งและอาหารหวาน และมักจะเป็นโรคความดันเลือดสูงในเวลาต่อมา บุคคลเหล่านี้ขาดโพแทสเซียมทำให้ร่างกายสะสมกรดส่วนเกินและสารพิษต่างๆ ไว้ กรดส่วนเกินเหล่านี้ขัดขวางการย่อยและการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ผู้ที่ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำมักมีปริมาณโซเดียมสูง ถ้ากินเกลือและอาหารเค็มมากเท่าไร ก็ควรจะต้องได้รับโพแทสเซียมมากขึ้นกว่าคนอื่น โพแทสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ ควบคุมการส่งออกซิเจนไปยังสมอง และรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย เวลาเกิดอารมณ์เครียด อัตราการเผาผลาญของร่างกายจะสูงขึ้นและทำให้ระดับโพแทสเซียมลดลง การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงจะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล บุคคลหนึ่งๆ มีความต้องการโพแทสเซียมประมาณวันละ ๒,๐๐๐ มิลลิกรัม กล้วยหอม ๑ ผล มีโพแทสเซียมประมาณ ๖๐๐ มิลลิกรัม
ปัจจุบันองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมผู้ปลูกกล้วยสามารถโฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันเลือดหรือโรคหลอดเลือดแตกได้
กล้วยกับเบาหวานและการควบคุมน้ำหนัก
ดรรชนีไกลซีมิก (glycemic index หรือ GI) คือ การจัดอาหารคาร์โบไฮเดรต โดยดูผลต่อการตอบสนองของปริมาณน้ำตาลในเลือดที่มีต่ออาหารนั้นๆ นับเป็นค่าชีวภาพของคาร์โบไฮเดรตในเชิงโภชนาการ เทียบกับค่าที่ได้จากน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวที่มีน้ำหนักเท่ากัน อาหารที่ให้ค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำมีอัตราการดูดซึมกลูโคสช้ากว่าอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกสูง การกินอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำจะทำให้การควบคุมกลูโคสในกระแสเลือดดีขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในซีรั่มของผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง จะเห็นว่าถ้ากินกล้วยหรือแอปเปิ้ลเป็นอาหารว่าง จะเกิดการดูดซึมน้ำตาลที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน เป็นอาหารว่างที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพิ่มปริมาณทริปโทเฟนในกระแสเลือดทำให้ลดความอยากอาหารและผ่อนคลาย และปริมาณเส้นใยอาหารจะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น และระยะยาวอาจมีผลต่อการควบคุมน้ำหนักถ้าปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
ประเทศอินเดียให้ผู้ป่วยเบาหวานกินผลกล้วยดิบ และหัวปลีปรุงสุก
กล้วยกับโรคระบบทางเดินอาหาร
ผงแป้งกล้วยน้ำว้าดิบใช้แก้อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ลมในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารและอาการกรดสะสมในร่างกาย ผลสุกรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและเป็นยาระบายอย่างอ่อน รักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ และโรคทางทวาร ผลกล้วยสุกงอมกินก่อนนอนครั้งละ ๒ ผล ติดต่อกันหลายๆ วัน ช่วยระบาย ประเทศอังกฤษ การศึกษาฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารจากกล้วยกลุ่มแพลนเทน (กล้วยหักมุก) ดิบ พบว่า สารออกฤทธิ์กลุ่มฟลาโวนอยด์ เรียกลิวโคไซยาไนดิน (leucocyanidin) สารลิวโคไซยาไนดินและอนุพันธ์สังเคราะห์ของมันเพิ่มความหนาของเนื้อเยื่อเมือกอย่างมีนัยสำคัญ ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการกัดทำลายของแอสไพรินในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ การศึกษาที่ประเทศอินเดียพบว่าสารสกัดเมทานอลจากผลแพลนเทนดิบป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารโดยการเพิ่มปริมาณไกลโคโปรตีนและการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์อีกด้วย
วิธีทำผงแป้งกล้วยดิบ : นำกล้วยดิบมาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ผงกล้วยนี้ปั้นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง กิน ๓ เม็ดก่อนอาหารและก่อนนอน รักษาอาการท้องเสีย ท้องเดิน แผลกระเพาะอาหาร หรือใช้กล้วยดิบทั้งเปลือก ฝานบางๆ ผึ่งลมให้แห้ง ใช้กินครั้งละครึ่งถึง ๑ ผล เมื่อกินยานี้แล้วอาจ มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งแก้ได้โดยดื่มน้ำขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ
กล้วยกับเลือดจาง
กล้วยมีธาตุเหล็กกระตุ้นการสร้างเฮโมโกลบินช่วยแก้ปัญหาเลือดจาง และให้พลังงานกรณีที่ผู้ป่วยอ่อนแรง ประเทศอินเดียให้ผู้ป่วยกินกล้วยสุก ๒ ผลในวันที่ ๑ วันถัดมาให้ ๓ ผล วันที่ ๓ ให้ ๔ ผล จนวันที่ ๑๕ ให้ ๑๖ ผล จากนั้นลดจำนวนกล้วยลงวันละ ๒ ผล จนเหลือกินวันละ ๒ ผล อาการจะหมดไป
กล้วยกับพลังทางเพศ
จากรายงานของต่างประเทศเชื่อว่า การกินกล้วยหอมจะช่วยเสริมพลังทางเพศ เนื่องจากโพแทสเซียมเสริมการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ และมีวิตามินบี ๖ ซึ่งเป็นสารจำเป็นสำหรับการสร้างสารนำกระแสประสาทสมองอีกด้วย
- อ่าน 54,370 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้