• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แวววิเชียร อย่าลืมฉัน แบบไทยไทย

แวววิเชียร อย่าลืมฉัน แบบไทยไทย


ช่วงชีวิตในวัยเด็กของผู้เขียน (๕๐ปีที่แล้ว) ในชนบทจังหวัดสุพรรณบุรี มีไม้ดอกที่ได้รู้จัก และยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้อยู่ไม่กี่ชนิด เมื่อทบทวนดูก็พบว่าเหตุที่ยังจำไม้ดอกเหล่านั้นได้อย่างไม่ลืมเลือนเพราะมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษบ้าง หรือเกิดจากคุณสมบัติบางประการที่ไม่เหมือนใครของไม้ดอกต้นนั้นบ้าง คอลัมน์ "ต้นไม้ใบหญ้า" นี้ ผู้เขียนจะนำไม้ดอกจากความทรงจำวัยเด็กชนิดหนึ่งมานำเสนอ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้เขียนยังไม่ลืมไม้ดอกต้นนี้จริง ๆ
 
คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของไม้ดอกนี้คือชื่อซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ในครั้งกระโน้นว่า "ฟอร์เก็ต มีน็อต" (Forget - me - not ) หรือ "อย่าลืมฉัน" นั่นเอง

แวววิเชียร : ฟอร์เก็ตมีน็อตของคนไทย
แวววิเชียร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelonia goyazensis Benth. (บางตำราเรียกว่า Digitalis solicariifolia)  อยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae เป็นไม้เนื้ออ่อนล้มลุก

ลำต้น  สูงประมาณ ๔๐-๖๐ ซม. ตามลำต้นและ ใบมีขนละเอียดปกคลุม และมียางเหนียวๆ ติดอยู่ เมื่อสัมผัสจะติดมือ

ใบ  เรียวยาว เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันตามข้อต้น ลักษณะใบเป็นรูปใบหอก ขอบขนาน ปลายใบแหลม สีเขียว กว้างราว ๑.๕ ซม. ยาวราว ๑๐ ซม.

ดอก เป็นดอกเดี่ยว แต่ออกติด ๆ กันตามข้อต้นหรือง่ามใบ มักออกดอกพร้อมๆ กันตลอดต้นไปจนถึงส่วนยอด และออกดอกตลอดทั้งปี ดอกเป็นรูปกรวยเล็ก โค้งเล็กน้อย ส่วนปลายดอกแยกออกเป็น ๕ กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงแก่ ม่วงอ่อน และสีขาว

ใบและดอกของแวววิเชียรมีกลิ่นเฉพาะตัวที่จะติดมือเมื่อสัมผัส กลิ่นนี้บางคนที่ชอบก็กล่าวว่าเป็นกลิ่น หอม บางคนที่ไม่ชอบก็จะบอกว่าเหม็น (เช่นเดียวกับกลิ่นทุเรียน) กลิ่นของแวววิเชียรก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็น (และดมกลิ่น) จะจำได้ไม่ลืม แม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนาน

แวววิเชียรเป็นพืชที่ปลูกง่ายขึ้นได้ดีในดินทั่วไปแทบ ทุกชนิด ชอบความชุ่มชื้นและทนร่มเงาได้ ทนทานโรคแมลง โตเร็ว ขยายพันธุ์ง่ายโดยการแยกกอหรือปักชำกิ่ง แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของแวววิเชียรยังค้นไม่พบ แต่มีหลักฐานว่า นำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยแหม่มคอลลินส์ นับถึงตอนนี้ก็มีอายุ ๙๖  ปีแล้ว ครั้งนั้นแวววิเชียรถูกนำเข้ามาจาก เมืองมัณฑะเลย์ สหภาพพม่า เดิมแวววิเชียรมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ต้นฟอร์เก็ตมีน็อต (Forget - me - not ) เข้าใจว่าเรียกตามแหม่มคอลลินส์  ผู้นำเข้ามาคนแรก เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นเด็กก็ เรียกชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า ฟอร์เก็ตมีน็อต เหมือนกัน (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความหมาย) ความจริงต้น Forget - me - not ที่รู้จักกันทั่วโลก เป็นพืชในสกุล Myosotis อยู่ในวงศ์ Boraginaceae เป็นพืชเขตอบอุ่น ไม่เกี่ยวข้องกับต้นฟอร์เก็ตมีน็อตของไทยเราเลย จะมีคล้ายกันบ้างก็ตรงที่สีกลีบดอกเป็นสีม่วงเท่านั้นเอง

เนื่องจากต้นฟอร์เก็ตมีน็อตของไทยไม่ใช่ Forget - me-not ของแท้ และยังไม่มีชื่อในภาษาไทย หลวงบุเรศบำรุงการ จึงตั้งชื่อให้ว่าต้นแวววิเชียร ซึ่งเป็นชื่อที่ไพเราะ และมีความหมายดีมาก ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่รู้จักและเรียกชื่อไม้ดอกชนิดนี้ว่าแวววิเชียร แต่ยังมีคนไทยบางกลุ่ม (ที่อายุมากและรู้จักไม้ดอกชนิดนี้มาในชื่อเดิม) ยังนิยมเรียกว่าฟอร์เก็ตมีน็อตอยู่ หากผู้อ่านได้ยินใครเรียกชื่อทั้ง ๒ นี้ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นพืชชนิดเดียวกันนั่นเอง แวววิเชียรเหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับตามริมทางน้ำ ขอบบ่อ สวนหย่อม ริมทางเดิน หรือเป็นไม้กระถาง เพราะมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่น่าสนใจคือเป็นไม้ดอกที่ปลูกง่ายโตเร็ว และตายยาก มีดอกตลอดปี ความหมายของชื่อก็ดี ทั้งชื่อใหม่ (แวววิเชียร) และชื่อเก่า (ฟอร์เก็ตมีน็อต)

อาจนับได้ว่าเป็นดอก "อย่าลืมฉัน" แบบไทยไทย น่าจะใช้เป็นดอกไม้ที่มอบให้แก่กันยามที่ต้องเดินทางหรือพลัดพรากจากกัน เป็นเครื่องหมายความอาลัยอาวรณ์ และฝากถ้อยคำก่อนจากว่า "อย่าลืมฉัน" เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศใช้ดอก Forget - me - not มอบให้แก่กัน

ข้อมูลสื่อ

328-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร