• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (3) อาสนะ

ปรับสภาพกลไก กาย-ใจ (3) อาสนะ


ความหมายของคำว่า "อาสนะ" หมายถึง อิริยาบถ ดังนั้น เราควรฝึกควรทำการเรียนรู้มันตามนั้น การศึกษาผลของอาสนะก็ไม่ควรศึกษาแบบ kinesiology หรือศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหว แต่ควรศึกษาแบบอิริยาบถที่นิ่ง ที่ขึ้นกับการคงสภาวะในอิริยาบถ tonic reaction ดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอาสนะ
โชคไม่ดีที่มนุษย์นั้นคุ้นเคยกับการเคลื่อนไหว และหลงใหลกับความคิดที่ว่า การออกกำลังกายจะต้องประกอบด้วยการใช้แรงมากๆ มีการเคลื่อนไหวเยอะๆ และพลอยนำความคิดนี้มามองอาสนะด้วย ทั้งไม่เพียงแต่คนทั่วไปเท่านั้น แม้ผู้ (ที่ได้รับการขนานนามว่า) เชี่ยวชาญในอาสนะ บางคนก็ฝึกโยคะเพียงแค่การออกกำลังกายของกล้ามเนื้อ ก็เน้นแต่เพียงส่วนที่เคลื่อนไหว การสาธิตอาสนะในที่สาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา ทำให้ต้องสาธิตท่าโยคะเร็วๆ อีกทั้งผู้สาธิตก็อดไม่ได้ที่จะโชว์อย่างเต็มที่ ภาพที่ปรากฏของอาสนะจึงเป็นอะไรที่เคลื่อนไหวเร็ว และใช้แรงมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่คนฝึกต้องหลีกเลี่ยงด้วยซ้ำ! (ถ้าคุณสนใจโยคะที่แท้จริง)

เราต้องเข้าใจอิริยาบถที่นิ่ง ว่าไม่ใช่ระบบประสาทหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง แต่ดังที่เชอริงตันได้ชี้แจงในหนังสือ Integrative Action of Nervous System การทำงานภายในและการประสานงานยังคงดำเนินไปอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาร่างกายให้นิ่งอยู่ในอิริยาบถเท่าๆ กับที่ให้เกิดการเคลื่อนไหว ถ้าพิจารณาผิวเผิน อาจรู้สึกว่าอิริยาบถที่นิ่งนั้น กล้ามเนื้อคงทำงานยืด-หดตัวในระดับที่น้อยกว่าตอนเคลื่อนไหว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของการ ยืด-หดตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ที่สำคัญก็คือ สมอง ในความเป็นจริงอาสนะทั้งหลายรวมทั้งเทคนิคโยคะทั้งหลาย เราให้ความสำคัญที่สัญญาณ การรับรู้ภายใน tonic interoceptive impulse การฝึกอาสนะจึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอิริยาบถที่ใช้พลังงานน้อย แต่ดังที่ได้ระบุมาแล้ว เป็นเรื่องของกลไก กาย-จิต ซึ่งเป็นพื้นฐานพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อให้ได้ผลตามที่กล่าวมา เราจึงต้องฝึกอาสนะด้วยวิธีที่เฉพาะเจาะจง (ไม่ใช่ฝึกแบบการออกกำลังกาย อย่างที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อน) เรายกคำอ้างอิงจากตำราโยคะสูตร ซึ่งรวบรวมโดย ปตัญชลี และตำราอรรถกถาของโยคะสูตร ที่เขียนโดย วยาสะ vayasa ซึ่งเป็น ๒ ผู้แต่ง ตำราโยคะที่ได้รับการเคารพสูงสุด ในประโยคสั้นๆ ๓ ประโยค หรือที่เรียกว่าโศลก ปตัญชลี  ซึ่งได้ให้นิยามของอาสนะ ทั้งวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ และกลไกการฏิบัติ

1. sthira - sukhamasanam

2. prayatna - saithilyananta - samapatti bhyam

3. tato dvandvanabhighatah

โศลกแรกให้วัตถุประสงค์กว้างๆ ของอาสนะ ว่าคือ สิ่งที่นำไปสู่ความนิ่ง และความรู้สึกเป็นปกติสุข ความนิ่งในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง เพียงอิริยาบถกาย แต่หมายถึงความนิ่งของกายและใจไปพร้อมๆ กัน เพราะต้องนิ่งทั้งกายและใจเท่านั้น เราจึงจะเป็นปกติสุข โศลกนี้ได้รับการแปลที่คลาดเคลื่อนว่า อาสนะ คือ สิ่งที่นิ่งและง่าย เมื่อแปลผิด ผู้ฝึกก็จะฝึกท่าที่ทำได้ง่ายๆ ทำแล้วนิ่งได้สบายๆ ในกรณีนี้การนอนก็จะเป็นท่าที่ดีที่สุด เพราะทำง่ายที่สุดและนิ่งได้ง่ายสุด บางคนเข้าใจว่าปตัญชลีอธิบายนิยามนี้ในขอบเขตของท่านั่งสมาธิเท่านั้น และตีความว่า ปตัญชลีให้เรานั่ง สมาธิให้นิ่งสบายโดยไม่ล้มพับลง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ปตัญชลีน่าจะให้คำจำกัดความที่เป็นลักษณะสำคัญของการนั่งสมาธิลงไปด้วย คือ sama kaya siro grivatva หมายถึง ตั้งหลังให้ตรง ตั้งศีรษะและคอตรง ประคองตัวให้สมดุลไว้ ซึ่งไม่มีโศลกนี้แต่อย่างใด แม้กระทั่งวยาสะ  ผู้เขียน อรรถกถาอธิบายโยคะสูตรเป็นคนแรก (ของโลก) ก็ได้อธิบายท่าอาสนะไว้ 12 ท่า ในอรรถกถาของเขา ซึ่งเป็นท่าอาสนะที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะท่าสมาธิเท่านั้น

วยาสะยังได้อธิบายโศลกที่ 2 ว่าวัตถุประสงค์ของอาสนะ คือ เพื่อขจัดอังกะเมจยตวา หรือความสั่นเทิ้มทางกายทั้งภายนอก-ภายใน ซึ่งเกิดจากการที่สภาวะปกติของร่างกายถูกรบกวน อังกะเมจยตวานี้ถือเป็นของที่เกิดคู่กับวิกเสปะ หรือความผิดปกติ คือเมื่อใดที่ผิดปกติ ก็จะปรากฏออกมาเป็นอาการสั่นเทิ้มของร่างกาย อังกะเมจยตวานี้ หากเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะกลายเป็นบุคลิกที่ผิดปกติ  ดังได้อธิบายไปแล้ว สวาทมารามา ในตำราหฐปทีปิกะ ก็ตีความโศลก นี้ไปในทิศทางเดียวกันอาสนะ คือ สิ่งที่นำมาซึ่งความนิ่ง สุขภาพ และความอ่อนโยน ตรงกับที่ปตัญชลีอธิบายเกี่ยวกับอาสนะ ว่าคือ ความนิ่งและปกติสุข ตรงกับคำอธิบายต่ออาสนะที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ asanena rajo hanti หรือเราเอาชนะความเหลาะแหละ ความไม่มั่นคง ได้ด้วยอาสนะ

ข้อมูลสื่อ

327-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์