• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดัน (ทุรัง) สูง ลดง่ายๆ ด้วย "โยคะ"

ความดัน (ทุรัง) สูง ลดง่ายๆ ด้วย "โยคะ"


เชื่อหรือไม่ว่า การฝึก "โยคะ" ที่ได้รับความนิยมไปทั่วเมืองไทยของเรามาระยะหนึ่ง (อาจ) เป็นมากกว่ากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนเมืองที่มีเวลาดูแลตัวเองน้อย หรือแฟชั่นการออกกำลังกายอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เพียงถูกโฆษณาชวนให้เชื่อแบบอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

ปัจจุบันมีหลักฐานการศึกษาทางวิชาการหลายชิ้น ยืนยันชัดเจนว่า การฝึกโยคะสามารถใช้ในการบำบัดรักษาโรคได้ โดยเฉพาะบรรดาโรคตัวร้ายฉกาจฉกรรจ์ที่ทำให้คุณหมอต่างต้องกุมขมับ ไม่ว่าจะเป็นความดันเลือดสูง เบาหวาน และหลอดเลือดหัวใจตีบ ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด (มีการยืนยันในระดับหนึ่งว่า) สามารถบำบัดรักษาได้ด้วยการฝึกโยคะ ไม่เพียงเท่านั้น บุคคลจำพวกความดันทุรังสูง อารมณ์แปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ ง่าย หากฝึกปฏิบัติโยคะไปนานๆ ก็อาจจะเห็นผลเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะโยคะจะไปช่วยให้การทำงานของร่างกายทุกระบบเกิดความสมดุล นี่เป็นพลังความมหัศจรรย์ส่วนหนึ่งของโยคะ... แพทย์แผนธรรมชาติ ที่ท้าทายองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอย่างน่าสนใจยิ่ง

โยคะกับการบำบัดโรค

เป้าหมายของการฝึกโยคะคืออะไร

เป้าหมายของการฝึกโยคะอยู่ที่การสร้างจิตให้สงบ เรียบง่าย ปราศจากความขัดแย้งและความทุกข์ยาก ความระส่ำระสาย ไม่สุขสบาย การฝึกโยคะจะเสริมสร้างร่างกายในระบบต่างๆ ร่วมกับการบำรุงรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง ทำให้จิตใจพ้นจากความรู้สึกในด้านลบที่เกิดขึ้นจากภาวะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รีบเร่ง การฝึกโยคะประกอบด้วย การฝึกท่าทางร่างกาย ที่เรียกว่า อาสนะ (asana) และการควบคุมลมหายใจที่เรียกว่า ปราณยามะ (pranayama) การฝึกโยคะจะทำให้เกิดความหวังและความคิดทางด้านบวกภายในตนเอง ช่วยสร้างเสริมความคิดในการดูแลตนเอง และมีความสามารถที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่มีผลต่อกระบวนการของการสร้างเสริมสุขภาพที่สมบูรณ์ ขณะที่การฝึกทางด้านโยคะจะมุ่งเน้นการรวมเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในส่วนของร่างกาย จิต สังคม อารมณ์ และปัญญา การฝึกโยคะจึงมีผลให้เกิดความสุขสงบและแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นภายในตนเอง มีผลทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการรักษาความเครียดโดยวิถีทางตามธรรมชาติ การฝึกท่าทางร่างกายร่วมกับการฝึกควบคุมลมหายใจจะทำให้เกิดพลังอย่างมากมายภายในร่างกาย มีผลต่อการกระตุ้นเซลล์และระบบต่างๆ ของร่างกาย ในขณะเดียวกันจะช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ผลของโยคะจึงแก้ไขภาวะเครียดได้อย่างสมบูรณ์ โดยแก้ที่สาเหตุของความเครียดไม่ได้แก้ไขแต่เพียงอาการของความเครียด  

ประโยชน์ของโยคะด้านการบำบัดรักษาที่รู้จักกันดี ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของความอดทนต่อความเจ็บปวดและความคงทนของสภาพร่างกาย (endurance) ผลของการฝึกโยคะจะทำให้สมองสงบ การทำงานของประสาทเป็นไปได้อย่างราบเรียบ จึงช่วยลดการรับรู้ความเจ็บปวดและเป็นการทำลายความเจ็บปวดด้วยตัวเอง ขณะที่การรักษาด้วยยาเป็นเพียงการช่วยเพิ่มกระบวนการหายของโรคหรือการบาดเจ็บ โดยไม่ได้เป็นส่วนของกระบวนการเยียวยาหรือการสร้างการหายในส่วนของร่างกาย การฝึกโยคะมีหลักการของการใช้ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการรักษาสูงสุดของร่างกาย โยคะจึงเป็นการสร้างระบบของร่างกายให้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด โดยใช้ธรรมชาติของร่างกายที่เป็นจังหวะของการปรับสร้างภายในตนเอง ทำให้เกิดความสมดุลทั้งสรีระร่างกายและอารมณ์

ความดันสูง รักษาด้วย "โยคะ" ดีกว่า "ใช้ยา"
บรรดาโรคภัยที่ได้รับผลจากความเครียดเป็นสาเหตุ หลักอันดับต้นๆ มากที่สุดคือ ความดันเลือดสูง เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ไปกระตุ้นประสาทซิมพาเทติกให้ทำงานมากขึ้น และประสาทส่วนซิมพาเทติกนี่แหละ ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเกิดภาวะความสมดุลของร่างกาย (homeostasis) เมื่อส่วนของร่างกายที่มีหน้าที่รักษาความสมดุลเกิดเสียสมดุล ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดก็ย่อมจะติดตามมา รวมทั้งความดันเลือดสูง ที่ผ่านมามีการคิดค้นการบำบัดรักษาความดันเลือดสูงด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไปถึงต้นเหตุของการเกิดโรคได้ ด้วยหลักการที่เชื่อว่า การฝึกปฏิบัติโยคะอย่างสม่ำเสมอจะควบคุมความสมดุลของร่างกายโดยอัตโนมัติ แม้จะอยู่ภายใต้ภาวะความเครียดทางด้านอารมณ์และสิ่งแวดล้อมก็ตาม คือที่มาของการนำโยคะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความดันเลือดสูง

จากการศึกษาของ Murugesan และคณะ ซึ่งได้ศึกษาผู้ป่วยความดันเลือดสูงจำนวน ๓๓ คน อายุระหว่าง ๓๕-๖๕ ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐบาลว่าเป็นความดันเลือดสูงโดยแบ่งผู้ป่วยเป็น ๓ กลุ่มเท่ากัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองที่ ๒ ได้รับการฝึกโยคะและการดำเนินชีวิตตามปกติ และกลุ่มทดลองที่ ๓ ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันเลือดจากแพทย์ในโรงพยาบาล สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ผลการศึกษาดังกล่าว พบว่า ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว (Systolic pressure) ในกลุ่มที่ฝึกโยคะลดลงเท่ากับร้อยละ ๔๔.๐๗๙ ขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาลดลงเท่ากับร้อยละ ๔๐.๘๒๔ เช่นเดียวกับค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic pressure) ในกลุ่มที่ฝึกโยคะลดลงเท่ากับ ๖๘.๒๕๓ ขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาลดลงเท่ากับร้อยละ ๖๔.๔๗๙ ส่วนกลุ่มควบคุมนั้นลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่า การควบคุมความดันเลือดใช้ได้ผลทั้งการควบคุมด้วยยาและการฝึกโยคะ โดยการฝึกโยคะนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการควบคุมด้วยยา
 
ฝึกโยคะ ฝึกกาย ฝึกจิต
การนำโยคะมาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ในส่วนของการผ่อนคลายความเครียดน่าจะเป็นประโยชน์และสามารถปฏิบัติได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยความดันเลือดสูง เบาหวาน และหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยมีรูปแบบการฝึกโยคะเป็นกลุ่ม หรือค่ายผู้ป่วยแต่ละประเภท มีการฝึกสอนโยคะทั้งด้านทฤษฎี และทักษะการปฏิบัติใน ๕ เรื่องที่สำคัญ คือ

๑. การผ่อนคลายโดยใช้เทคนิคการผ่อนคลายในท่าศพ (อาสนะ) ผ่อนคลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตลอดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า

๒. ฝึกท่าโยคะ โดยมีการเหยียดยืดส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ครบทุกส่วน กระตุ้นให้มีการเหยียดยืดส่วนของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ กระดูกสันหลัง เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ร่างกายมีความอ่อนตัวเพิ่มขึ้น ท่าที่ใช้ฝึกควรเป็นท่าที่มีการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย และควรจะมีครูที่มีความรู้เรื่องโยคะอย่างถูกต้องเป็นผู้ฝึกสอน

๓. ฝึกการหายใจ โดยใช้การฝึกการหายใจ และควบคุมการหายใจให้สามารถทำให้ร่างกายและจิตใจนิ่งสงบ และมีพลังแห่งชีวิต

๔. ฝึกการจัดอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับโรค เน้นอาหารที่เป็นธรรมชาติ ผักสด ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นอาหารที่มีผลให้ร่างกายเบาสบายและจิตใจสงบ หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน เนื้อสัตว์

๕. ฝึกการใช้ความคิดในด้านบวก การมีจิตใจที่สงบเป็นสมาธิ

กระบวนการกลุ่มโยคะ
การจัดทำค่ายหรือกลุ่มโยคะ มีองค์ประกอบดังนี้

๑. จะต้องใช้ระยะเวลาอยู่ร่วมกัน (อาจจะเป็นช่วงเวลากลางวัน) ๗-๑๐ วัน
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงของโรค การควบคุมรักษาโรคที่ผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการติดตามและควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง รวมถึงการป้องกัน ควบคุมโรคที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในเรื่องการออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด และการปรับเปลี่ยนชนิดของอาหารโดยใช้วิธีการของการฝึกโยคะ การจัดค่ายโยคะอาจจะให้ผู้ป่วยนำญาติหรือครอบครัวมาร่วมด้วย เพื่อสร้างเสริมกำลังใจ และช่วยเพิ่มเติมการปรับเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวได้สอดคล้องกับการทำกลุ่ม

๒. กระบวนการสร้างสัมพันธภาพในกลุ่ม
การมีกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมการแสดง (role play) เพื่อสร้างความคิดและ ความเข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสิ่งสำคัญต้องสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ป่วยที่มาร่วมทำกลุ่ม

๓. ติดตามการทำกลุ่มต่อเนื่องเดือนละครั้งติดต่อกันถึง ๖ เดือน หรือ  ๑ ปี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

๔. ติดตามผลและประเมินผลโดยตัวผู้ป่วยเองและทีมผู้ให้การศึกษา และต้องสร้างเสริมความเข้าใจในหลักของโยคะอย่างถูกต้องให้กับผู้ป่วย

๕. การออกกำลังกายอย่างอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามสภาพและความพึงพอใจของผู้ป่วย เช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ

การฝึกโยคะเป็นประจำไม่เพียงจะช่วยในการบำบัดรักษาผู้ป่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือ ผลของการฝึกโยคะยังเป็นการสร้างเสริมกำลังใจให้กับผู้ป่วยให้มีความเชื่อมั่น ภาคภูมิใจในความสามารถภายในตนเอง และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกด้วย 

เรียบเรียงจาก  รายงานการทบทวนเรื่องโยคะและสุขภาพระบบหัวใจและหลอดเลือด โดย รศ.สมคิด โพธิ์ชนะพันธุ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลสื่อ

327-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ